ITAP สวทช. เดินหน้าโครงการชนชราแห่งอนาคต

โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ดำเนิน “โครงการชนชราแห่งอนาคต” สนับสนุนผู้ประกอบการ SME นำโอกาสความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือบริการบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


 

     ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสโปรแกรม ITAP สวทช. และหัวหน้าโครงการชนชราแห่งอนาคต กล่าวว่า โครงการชนชราแห่งอนาคต (New Aged Citizens) เป็นโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ โอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังมาถึง โดยการนำมาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือบริการทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่ชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกาย งานออกแบบที่ตอบสนองชีวิตในวัยชราและการเชื่อมต่อโลกผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล ที่ทำให้ผู้สูงอายุยังเป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยทักษะความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ


     โดยโครงการมุ่งเน้นที่จะเป็นกลไกเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย เป็นองค์ความรู้พัฒนาธุรกิจใหม่พร้อมไปกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ITAP ได้จับมือร่วมดำเนินกับอีก 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ TCDC, FABLAB Thailand, สกสว., INNOTECH มหิดล และ มจธ. โดย ABLE lab และ Future Living Lab


     “จากโอกาสในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในส่วนอาคารที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และยกระดับความเป็นอยู่ดีของสังคมไทย นำมาสู่โมเดลธุรกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของบริษัท สุขสบาย (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ต้องการพัฒนา ‘ระบบช่วยในการตัดสินใจด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เกษียณอายุ’ โดยบริษัทคาดหวังที่จะเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ของประเทศไทย


     “ฉะนั้น โปรแกรม ITAP สวทช. จึงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านโครงการชนชราแห่งอนาคต ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบของบริษัท และศึกษาโครงการอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เกษียณอายุ พร้อมรวบรวมข้อมูลทางกายภาพของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหัวเมืองใหญ่ ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อบนฐานของความรู้ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสมพร้อมได้ฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เกษียณอายุ รวมถึงบริษัทได้เรียนรู้การวางระบบโครงสร้างและการเชื่อมต่อบนเว็บแอปพลิเคชันด้วย” หัวหน้าโครงการชนชราแห่งอนาคต สวทช. กล่าว


     ขณะที่ สุชาดา เกษมทรัพย์ Founder / Architect บริษัท สุขสบาย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. เนื่องจากงานของบริษัทซึ่งสถาปนิกที่ทำงานอยู่ มีโครงการออกแบบบ้านเกษียณอายุสำหรับชาวต่างชาติที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว ทำให้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่คนเกษียณชาวต่างชาติต้องพบเจอ และเกณฑ์ที่จะช่วยในการตัดสินใจซื้อบ้านและการเลือกทำเลที่ผู้เกษียณอายุอยากใช้ชีวิตอยู่ รวมถึงประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม


     ด้วยเหตุนี้จึงมีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัท โดยต้องการพัฒนาระบบ AI ที่เป็นเหมือนกับที่ปรึกษาสถาปนิกเพื่อให้สามารถประเมิน (Evaluate) ข้อมูลได้มากขึ้นและเร็วขึ้น พร้อมยังให้คำแนะนำ (Recommendation) ที่เหมาะสม กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้ใช้บริการ ทั้งที่เป็นทั้งเจ้าของโครงการ และผู้เกษียณอายุที่มีความต้องการที่พักอาศัยได้อย่างว่องไวเหมาะสมและได้มาตรฐานสากล และด้วยการเข้าร่วมโครงการชราแห่งอนาคต พร้อมได้รับสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และด้านเงินทุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. ทำให้โครงการที่เกิดมาจากไอเดียสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS