​สสว.เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ นำร่องจ.ราชบุรีกู้ชีวิตธุรกิจท่องเที่ยว

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การสร้างผู้ประกอบการใหม่ถือได้ว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญส่วนหนึ่งของ สสว. โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถขยายไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ได้ในอนาคต อันจะเป็นฐานรากที..




     วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การสร้างผู้ประกอบการใหม่ถือได้ว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญส่วนหนึ่งของ สสว. โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถขยายไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ได้ในอนาคต อันจะเป็นฐานรากที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข็มแข็งต่อไป

     โดย ที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยในปี 2563 การดำเนินงานเน้นพัฒนาธุรกิจ เพื่อต่อยอดด้านการตลาด ซี่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับ ขั้นตอนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ และรูปแบบการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก สสว. ผ่าน 3 กิจกรรม ดังนี้

     1.กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Course) ประกอบไปด้วย หลักสูตรสำหรับกลุ่มผู้เริ่มต้น จะให้การอบรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ  Business Model Lean canvas/  Innovation และหลักสูตรสำหรับกลุ่มผู้มีประสบการณ์ จะมุ่งเน้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาเชิงลึกได้ โดยให้การอบรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจ  Business  model canvas  และทักษะความรู้เพื่อการพัฒนาอย่างมีระบบ

     2.กิจกรรมการสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในเชิงลึก เป็นการคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากกิจกรรมที่ 1 จำนวน 550 ราย เข้ารับการพัฒนา ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเชิงลึก ตามปัญหาหรือความต้องการอย่างน้อย 1 ด้าน เช่น การเขียนแผนธุรกิจ การทำ Content Marketing แนะนำการใช้สื่อสำหรับประชาสัมพันธ์ การเชื่อมโยง Offiline to Online สอนการเชื่อมโยงร้านค้าโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน

     3.กิจกรรมเสริมด้านการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยคัดเลือกผู้ผ่านการพัฒนาศักยภาพในเชิงลึก จำนวน 120 ราย ออกตลาดในงาน Early Stage Market Fair 2020 ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และเข้าตลาดออนไลน์ “ชอปแชท” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นโดยสสว. โดยจะสรุปผลสำเร็จของโครงการนี้ทั้งหมดได้ภายในเดือน ก.ย. 2563

     อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สสว. ได้มุ่งเน้นในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์เพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 โดยนำร่องที่จังหวัดราชบุรี ในธีม “สสว. ร่วมตะลอนทัวร์…ราชบุรี ชวนชิมอาหารถิ่น ยลกลิ่นอายเมืองเก่า” ซึ่งมีธุรกิจที่โดดเด่น ดังนี้

     1. ร้านสุกี้หาดใหญ่ ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของจ.ราชบุรี ก่อตั้งมากว่า 40 ปี อาหารที่มีชื่อเสียงคือ สุกกี้แห้ง ที่ผัดกับน้ำจิ้มสุกี้สูตรเด็ดของทางร้าน ซึ่ง สสว. ได้เข้าไปพัฒนาศักยภาพด้านการถ่ายภาพ การจัดนำเนื้อหา และการจัดระบบการรับออเดอร์ทางออนไลน์

     2. ร้านบ้านภูมิจิต ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยในบรรยากาศสบายๆ เรียบง่าย ซึ่งมีความโดดเด่นในอาหารที่อร่อยทั้งคาวและหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมหวานไทยที่มีรสชาติอร่อยหลากหลายชนิดทำสดใหม่ทุกวัน โดย สสว. ได้เข้าไปพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างแบรนด์ผ่านสื่อออนไลน์ การถ่ายภาพ การจัดทำเนื้อหาให้เหมาะสมกับสื่อและกลุ่มเป้าหมาย

     3. โรงแรม ณ เวลา ราชบุรี ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองราชบุรี โอบล้อมทุ่งนาและภูเขาที่ทำให้ผู้มาพักผ่อนได้สัมผัสถึงกลิ่นอายธรรมชาติ และวิถีชุมชนตามสไตล์ไทยเท่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังให้บริการจัดงานและสัมมนา โดยมีห้องประชุมขนาดใหญ่ โดยล่าสุดได้รับมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งทาง สสว. ได้เข้าไปพัฒนารูปแบบสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก ให้มีความน่าสนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เช่น เทคนิคการถ่ายภาพนิ่ง และตัดต่อวีดีโอเชิงลึก
 
     4. มะลิ คาเฟ่ & คูซีน คาเฟ่ไทยเท่ ภายใต้คอนเซปต์ “ห้องรับแขกแห่งราชบุรี” ที่มีบรรยากาศความเป็นไทยผสมผสานกับความร่วมสมัยของความเป็นคาเฟ่ที่เรียบง่าย แต่มีรายละเอียดผ่านการตกแต่งให้บรรยากาศอบอุ่น พร้อมบริการอาหารผสมผสานมีเมนูให้เลือกหลากหลายทั้งไทยและต่างชาติ แบบอาหารคาวและหวาน นอกจากนี้ทางร้านยังมีไวไฟบริการสำหรับลูกค้า เพื่อให้สามารถนั่งทำงาน ประชุมงานกลุ่มย่อยได้ โดย สสว. ได้เข้าไปพัฒนาในเรื่องการสร้างแบรนด์ผ่านสื่อออนไลน์ การถ่ายภาพและวีดีโอ พร้อมการจัดทำเนื้อหา

     5. ตลาดทุ่งปอ ซึ่งเป็นตลาดสดที่เน้นการขายอาหารสำเร็จรูป ของสดและของใช้ต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณถึงแยกพลับพลาชัย มีที่จอดรถบริเวณหลังตลาด จอดได้ถึง 300 คัน โดยตลาดดังกล่าว มีแนวคิดที่จะจัดทำระบบการขายออนไลน์แบบเต็มรูปแบบภายใต้แบรนด์ของตลาด ดังนั้น สสว. จึงเข้าไปอบรมด้านการตลาดออนไลน์ ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน รวมทั้งวางแผนการจัดระเบียบการรับคำสั่งซื้อ การจัดส่งสินค้า และการคิดค่าใช้จ่ายและต้นทุน มีเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดดิลิเวอรี่ด้วยตนเอง

     6. สวนอาหารคลายเครียด เป็นร้านอาหารที่ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม พร้อมกิจกรรมการตกกุ้ง ชิงหลิวโดยทางร้านมีสนามแข่งขันชิงหลิวที่มีมาตรฐาน สสว. จึงเข้าไปพัฒนาการจัดระบบการรับออเดอร์ทางออนไลน์

     7. สเต็กลอยฟ้าโพธาราม ซึ่งเป็นร้านอาหารผสมผสานระหว่างตะวันตกและอาหารไทย ที่โอบล้อมไปด้วยนาข้าว บริเวณรอบบ้านเป็นแปลงผักและฟาร์มไก่ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดสารพิษ และราคาอาหารสมเหตุผล โดยเริ่มต้นที่ 49 บาท ซึ่ง สสว. ได้เข้าไปพัฒนาด้านวางแผนธุรกิจ และการขยายตลาดรวมถึงการจัดทำเพจของร้านค้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ และรับออเดอร์ทางออนไลน์

     “ธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรีเหล่านี้ จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจบริการของไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเติบโตได้ในอนาคต”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup
 

NEWS & TRENDS