EXIM BANK เติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก

แม้ปี 2563 ต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency : ECA) ระดับภูมิภาคในปี 2565




      พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงในโอกาสจะครบวาระดำรงตำแหน่งสิ้นเดือนมกราคม 2564 ภายหลังได้รับการต่อวาระสมัยที่ 2 จนครบอายุ 60 ปี ต่อเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ว่า EXIM BANK ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้เป็นอย่างดี
 
 
     แม้ปี 2563 ทุกภาคส่วนทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency : ECA) ระดับภูมิภาคในปี 2565 และเป็น ECA ระดับโลกในปี 2570 สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่าการสนับสนุนธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนไทยของ EXIM BANK ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income : GNI) อยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่า ECA อื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับ 0.5-0.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2563 เติบโตในทุกด้านตามแผนยุทธศาสตร์ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
 
               
       ยุทธศาสตร์ที่ 1 เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers) ทั้งในและนอกอาเซียน
               
 
การเติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี (2558-2563) :
 
 

  • ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84 เปอร์เซ็นต์ จาก 73,540 ล้านบาท เป็น 135,228 ล้านบาท (เฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี) ในจำนวนนี้ เป็นยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้น 86 เปอร์เซ็นต์ จาก 16,883 ล้านบาท เป็น 31,461 ล้านบาท (เฉลี่ย 13 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี)
 
 
  • จำนวนลูกค้าโต 163 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,631 ราย เป็น 4,282 ราย (เฉลี่ย 21 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี) ในจำนวนนี้ ลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น 194 เปอร์เซ็นต์ จาก 1,192 ราย เป็น 3,507 ราย (เฉลี่ย 24 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วนสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งประเทศ
 
 
  • ยอดสินเชื่อคงค้างใน New Frontiers (รวมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV) ขยายตัว 53 เปอร์เซ็นต์ จาก 26,022 ล้านบาท เป็น 39,754 ล้านบาท (เฉลี่ย 9 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี)
 
 
ผลการดำเนินงานปี 2563 :  
 
 
  • มีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,360 ล้านบาท หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) รวม 168,035 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 60,689 ล้านบาท (สัดส่วน 36 เปอร์เซ็นต์)
 
 
  • มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 93,622 ล้านบาท เป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 56,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,930 ล้านบาท หรือ 19 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
 
  • มีสินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนใน New Frontiers จำนวน 39,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,487 ล้านบาท หรือ 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
 
  • เดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม จากธนาคารกลางเวียดนาม ทำให้ EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งใน CLMV เพื่อทำหน้าที่ให้บริการด้านคำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่สนใจขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
       ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ EXIM BANK สนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) และพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อในประเทศขยายตัว 61 เปอร์เซ็นต์ จาก 26,489 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 42,751 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 7,237 ล้านบาท หรือ 20 เปอร์เซ็นต์
 
 
     ยุทธศาสตร์ที่ 3 ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ EXIM BANK ขยายบริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมทั้งบริการวิเคราะห์ความเสี่ยงผู้ซื้อและธนาคารผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศอาจชำระเงินล่าช้าหรือประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ โดยปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเพิ่มขึ้น 105 เปอร์เซ็นต์ จาก 66,018 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 135,071 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 13,699 ล้านบาท หรือ 11 เปอร์เซ็นต์
 
 
     ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ EXIM BANK ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC) เมื่อปี 2561 เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ส่งออกได้หรือส่งออกได้มากขึ้น ผ่านการอบรม บ่มเพาะ ให้คำปรึกษา จับคู่ธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนการค้าออนไลน์ (E-trading) โดยการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ครงการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรมของไทยมีสินค้านวัตกรรมและเจรจาค้าขายกับประเทศคู่ค้าได้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 600 ล้านบาท
 
 
     นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะ SMEs โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี  2563 และได้ออกมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19 ตามความต้องการของกิจการ รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษา อบรมสัมมนาและจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวน 6,400 ราย วงเงินรวมประมาณ 55,000 ล้านบาท
 
 
     ยุทธศาสตร์ที่ 5 ก้าวเข้าสู่ธนาคารดิจิทัล EXIM BANK ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการลูกค้า อาทิ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าสินเชื่อและประกันการส่งออก การพัฒนาแพลตฟอร์ม Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management (TERAK) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ประเมินความพร้อมด้านการส่งออกของผู้ประกอบการและจัดกิจกรรมให้ความรู้และจับคู่ธุรกิจ เหล่านี้ ทำให้ EXIM BANK สามารถปรับตัวและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี
 
 
     ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาธนาคารเพื่อความยั่งยืน EXIM BANK ปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าและการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตลอดเส้นทางการทำงานที่ EXIM BANK และการมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สามารถบริหารจัดการการเงินและธุรกิจ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน จนทำให้องค์กรยังมีฐานะการเงินในระดับที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.81 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,153 ล้านบาท


      นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) 11,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 232.44 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ในปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่นๆ เท่ากับ 2,250 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาท
 
  

     ปี 2564 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 EXIM BANK ยังคงช่วยเหลือลูกค้าฟื้นฟูกิจการตามสภาพคล่องของธุรกิจ และออกมาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง รวมทั้งขยายระยะเวลาอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว
 
 
     การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้ EXIM BANK มีผลการดำเนินงานและการพัฒนาองค์กร ทั้งด้านธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร จนได้รับการชื่นชมและสนับสนุนจากลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ จากภาครัฐ และภาคเอกชน นำมาซึ่งรางวัลเกียรติยศต่างๆ ตลอดปี 2563 ประกอบด้วย (1) รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2563 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รางวัลความสามารถในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ดีเด่น และรางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทดีเด่น (2) รางวัล TQM - Best Practices 2020 ด้านการเอาใจใส่บุคลากร (3) รางวัลการเตรียมความพร้อมดีเด่นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 (4) โล่ประกาศเกียรติคุณ “อาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย” ระดับทอง จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ EXIM BANK ยังก้าวกระโดดเป็นรัฐวิสาหกิจคุณธรรมและโปร่งใสจากผลประเมิน Integrity and Transparency Assessment (ITA) ปี 2563 ด้วยคะแนนที่เพิ่มขึ้นระดับสูงสุด จากอันดับที่ 21 เป็นอันดับที่ 4 ของรัฐวิสาหกิจไทย 53 แห่งในปี 2563
 
 
     “วันนี้ EXIM BANK ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทย เสมือนการดูแลต้นไม้ใหญ่ของประเทศ ให้แตกกิ่งก้านสาขา พยุงภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโต ยั่งยืนไปด้วยกัน ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยแวดล้อมและลมพายุ เรายังทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมดูแลผลผลิตของต้นไม้นี้ให้เติบโต งอกงาม มีรากแก้วและรากฝอยที่แข็งแรงไปด้วยกัน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของสังคมต่อ ECA แห่งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกภาคส่วนจะยังคงดำเนินภารกิจหน้าที่ ตลอดจนกิจการต่างๆ ของตนเองต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยและภูมิภาคต่างๆ ไปด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS