ชาวสวนต้องว้าว! เมื่อ ‘หุ่นยนต์’ จะเข้ามาช่วยงาน เพิ่มแต้มต่อธุรกิจเกษตร

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • การทำเกษตรยุคใหม่ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
 
  • หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวผลไม้
 
  • ช่วยประหยัดต้นทุนด้านแรงงาน
 
  • ช่วยเกษตรกรลดการสัมผัสกับสารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชโดยตรง
 
  • วางแผนการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ
 
  • สามารถบันทึกการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อัตโนมัติ เพื่อนำไปวางแผนการเพาะปลูกรอบใหม่ 




      เป็นความจริงที่วันนี้ภาคการเกษตรต้องเจอกับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่สวนไร่-
นามีจำกัด ตลอดจนปัญหาด้านแรงงานในภาคการเกษตรที่ลดน้อยลงทุกวัน ซึ่งล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ยากจะควบคุมได้ ในขณะที่ความต้องการอาหารโลกกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับข้อจำกัดเหล่านี้ เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องการตัวช่วยที่จะทำให้สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอและมีคุณภาพอย่างที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการได้
               

       แล้วในยุคนี้ตัวช่วยอะไรจะดีไปกว่าเทคโนโลยีล่ะ จริงไหม?
               





       เทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Technology : AgriTech) กำลังมีบทบาทในภาคการเกษตรไทย ทำให้ภาพของการทำเกษตรในอนาคตใกล้เคียงกับการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมในแง่ที่สามารถตรวจวัดตัวแปรต่างๆ และควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเพาะปลูกได้แบบเรียลไทม์ ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไร เพราะเราได้เห็นแล้วในสมาร์ทฟาร์มหลายแห่ง แต่เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามายกระดับการเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรไทย ก็คือ หุ่นยนต์การเกษตร (Farming Robot) ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรได้ตั้งแต่ขั้นเตรียมการเพาะปลูก ปลูกลงดิน เก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นหลังการเก็บเกี่ยวเลยทีเดียว





 
หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว ตัวช่วยสำคัญในสวนผลไม้             
  

       ในกระบวนการทำการเกษตรทั้งหมด การเก็บเกี่ยวนับเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนแรงงานถึง 42.7 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด “หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว” จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เกษตรกรควรนำมาใช้มากที่สุด เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตไปพร้อมๆ กับลดการใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ลง
ขณะที่โดยส่วนใหญ่การปลูกผลไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กลางแจ้ง (Outdoor Farming) ทำให้เดิมทีแรงงานคนที่ใช้อาจคาดการณ์การสุกของผลไม้ที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อความสูญเสียของผลผลิตผลไม้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้แทนคนจะเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้
               

       นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อื่นๆ รองลงมา อย่างเป็นตัวช่วยด้านสุขอนามัยของเกษตรกร เพราะสามารถลดการสัมผัสสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชได้อีกด้วย
 



 
ผลไม้ไทย High Value เป้าหมายแรกของหุ่นยนต์ผู้ช่วย     
 
         

       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ชนิดของผลไม้ที่ควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ โดยมองว่า
               

       ผลไม้ในกลุ่มที่ 1 คือ ผลไม้ที่มีมูลค่าสูง (High Value) อย่างทุเรียน มังคุด มะม่วง กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกหลักของไทย น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ก่อนเพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิต เนื่องจากผลไม้กลุ่มนี้เน้นการคัดคุณภาพแบบลูกต่อลูก จึงเป็นกลุ่มที่เน้นด้านคุณภาพเป็นหลัก จากความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการรูปลักษณ์ของผลไม้ที่สวยงาม ขนาดได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ผลิตต้องมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก
               

        ผลไม้ในกลุ่มที่ 2 เป็นผลไม้ในลักษณะเหมาเข่งอย่าง ลำไย ลิ้นจี่ หรือสัปปะรด เนื่องจากกลุ่มผลไม้กลุ่มนี้ไม่ได้เน้นด้านคุณภาพมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผลไม้ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น เงาะกระป๋อง สัปปะรดกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง ลำไยอบแห้ง เป็นต้น จึงไม่ต้องเน้นความพิถีพิถันมากนัก แต่จะเน้นไปที่ปริมาณการผลิตมากกว่า
 




 
ช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ส่งออก             
  

        หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะเป็นตัวช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ของไทยให้ดีขึ้นได้ ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่เน้นด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออกที่มากขึ้น อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมของภาครัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) โดยเฉพาะจังหวัดในแถบภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564
               

       ซึ่งที่ผ่านมา ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรมาโดยตลอด ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 28.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และมีมูลค่าส่งออกพุ่งสูงแตะระดับ 113,118 ล้านบาท ในปี 2562 สะท้อนถึงศักยภาพของผลไม้ไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะผลไม้สดที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 79.8 เปอร์เซ็นต์ จึงนับว่าผลไม้สดมีบทบาทสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับผลไม้แห้งและแช่แข็ง ไทยจึงควรเร่งส่งเสริมและต่อยอดการผลิตผลไม้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดรับกับความต้องการในตลาดโลก
               


       อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกของการลงทุนในหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ เกษตรกรอาจต้องเผชิญปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตจากราคาหุ่นยนต์ รวมถึงต้นทุนจากการบริหารจัดการแปลงผลไม้ใหม่ ด้วยการจัดระเบียบให้กับต้นผลไม้อย่างเป็นแถว/แนว เพื่อสะดวกต่อการทำงานของหุ่นยนต์ และอาจต้องเผชิญผลผลิตต่อไร่ที่อาจลดลงได้จากการลดความหนาแน่นของต้นผลไม้ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรอาจต้องพิจารณาลงทุนเพิ่มในช่วงปีแรกนี้ เนื่องจากในระยะยาว ผลตอบแทนจากการใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพของผลไม้จะให้ผลคุ้มค่ากว่าการที่ใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว ในภาวะที่แนวโน้มค่าจ้างแรงงานคนสูงขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนแรงงานภาคเกษตรที่อาจลดลง   





       แต่ในระยะถัดไป คาดว่าราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้น่าจะมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตมีการแข่งขันกันมากขึ้น องค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของผู้เกษตรกรที่มีมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี 5G  ที่น่าจะมีการใช้ที่แพร่หลายมากขึ้นจะช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ได้ง่ายขึ้นในอนาคต



      นี่คือตัวช่วยใหม่ ที่จะมีบทบาทกับธุรกิจเกษตรของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรก็ต้องลองศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ได้
 


      ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: TECH

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

โกเล ไอเดียสแน็กเพื่อสุขภาพจากก้างปลา เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา

“โกเล” (Gole Crispy) ปลาทูแท่งอบกรอบแคลเซียมสูง นวัตกรรมจากก้างปลาทะเล เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา เพื่อช่วยวิกฤตธุรกิจครอบครัว