กางเกงยีนส์ดิจิทัล มิติใหม่การผลิตกางเกงยีนส์ เปลี่ยนจากฟอกย้อม มาพิมพ์ลงบนเนื้อผ้า เซฟโลกเซฟแรงงาน ดีต่อธุรกิจ

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

      สังเกตไหมเดี๋ยวนี้จะผลิตสินค้าอะไรออกมาก็ตาม การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมักเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่หลายธุรกิจต่างนำมาใช้พัฒนาสินค้าของตนเอง เพราะนอกจากจะช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์และจูงใจผู้บริโภคให้หันมาอุดหนุนสินค้ากันมากขึ้นได้ด้วย

     เหมือนเช่น กางเกงยีนส์ แฟชั่นสุดฮิตทุกยุคทุกสมัยที่ไม่ว่าใครอย่างน้อยๆ ต้องมีติดตู้เสื้อผ้าไว้สักตัวหนึ่ง แต่เคยรู้ไหมว่ากว่าจะผลิตออกมาเป็นกางเกงยีนส์แต่ละตัวได้ เราต้องสูญเสียทรัพยากร หรือแรงงานในการผลิตไปมากน้อยเท่าไหร่

     โดยจุดเริ่มต้นที่มาของกางเกงยีนส์ยุคแรกนั้นถูกผลิตขึ้นมาในประเทศอิตาลีเพื่อให้คนทำงานในเหมืองแร่ หรือในฟาร์มต่างๆ ใช้กัน เนื่องจากเป็นผ้าฝ้ายที่มีความแข็งแรงทนทานที่มีชื่อเรียกว่า เดนิม (Denim) โดยเกิดขึ้นจากรูปแบบการทอที่เรียกว่า “Twill” หรือการทอด้วยเส้นใยขนานอย่างน้อย 2 เส้น จากนั้นจึงนำมาย้อมด้วยสีคราม (Indigo) เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นกางเกงยีนส์ในที่สุด ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป และเอกลักษณ์โดดเด่นของผ้ายีนส์ที่แตกต่างจากผ้าชนิดอื่นๆ จึงทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นแฟชั่นสุดคลาสสิกของโลกมาจนถึงทุกวันนี้

     แต่ในการจะผลิตกางเกงยีนส์หรือผ้าเดนิมขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้น้ำในการผลิตค่อนข้างมากตั้งแต่ขั้นตอนการย้อมสี ไปจนถึงการฟอกสี เพื่อตกแต่งออกมาเป็นกางเกงยีนส์สไตล์ต่างๆ ซึ่งต้องใช้การซักซ้ำหลายๆ ครั้ง ส่งผลกระทบทั้งต่อการสูญเสียน้ำสะอาดปริมาณมาก และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีรายงานว่าเราอาจต้องใช้น้ำสะอาดมากถึง 3,000 – 10,000 ลิตร เพื่อจะผลิตผ้าฝ้าย 1 กิโลกรัม

      จากปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้ Lisa Chapman รองศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและการจัดการที่ North Carolina State University และอดีตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา Ming Wang ผู้เขียนนำการศึกษาใน Journal of Imaging, Science and Technology ผู้คิดค้นการผลิตกางเกงยีนส์รูปแบบใหม่ได้อธิบายประโยชน์การผลิตกางเกงยีนส์ด้วยวิธีการพิมพ์แบบดิจิทัลว่า เป็นการพิมพ์ในรูปแบบอิงค์เจ็ตเหมือนกับเครื่องพิมพ์ตามบ้านทั่วไป โดยแทนที่จะนำไปย้อมและฟอกเพื่อให้เกิดสีและลวดลาย ซึ่งต้องใช้น้ำปริมาณมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นวิธีการหยดหมึกพิมพ์ลงบนเนื้อผ้าแทน โดยสามารถทำได้ไม่จำกัดสี และทำซ้ำๆ ได้ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิตลงได้มาก

      โดยวิธีการผลิตกางเกงยีนส์หรือผ้าเดนิมดิจิทัล ขั้นตอนแรก ก็คือ จะใช้เครื่องสแกนความละเอียดสูงเพื่อสแกนภาพตัวอย่างกางเกงยีนส์ที่ต้องการลงไป จากนั้นจึงโอนไฟล์ไปยังคอมพิวเตอร์ นำกางเกงยีนส์ที่ต้องการทำสีใส่ลงไปที่เครื่องพิมพ์ โดยมีการทดลองทำออกมา 6 รูปแบบที่มีสีและลวดลายแตกต่าง โดยพบว่าการพิมพ์ดิจิทัลสามารถสร้างลวดได้เหมือนกับกางเกงยีนส์ต้นแบบ

     คำกล่าวนี้ไม่ได้พูดขึ้นมาเองแบบลอยๆ แต่มีการนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 12 คนจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งพบว่าผ้าเดนิมแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัลนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก โดยมีการให้คะแนนระหว่าง 1 - 5 โดย 1 คือ แตกต่างมาก ส่วน 5 คือ แทบไม่มีความแตกต่าง ซึ่งกางเกงยีนส์ดิจิทัลได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กว่าๆ แถมในการพิมพ์ดิจิทัลยังช่วยให้ได้คุณภาพผ้าที่นุ่มสวมใส่สบาย เนื่องจากหากเป็นการย้อมผ้าแบบเดิมสีหมึกจะซึมเข้าไปในเนื้อผ้าค่อนข้างมาก แต่สำหรับการพิมพ์ดิจิทัลสีหมึกจะไม่ซึมเข้าเนื้อผ้ามากนัก เนื่องจากเป็นการพิมพ์ลงบนพื้นผิวของผ้า จึงมีความนุ่มสบาย เนื้อสัมผัสดีกว่า

     จากความสำเร็จดังกล่าวพวกเขาคาดการณ์ว่าการพิมพ์แบบดิจิทัล จะเป็นวิธีการที่เป็นไปได้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้ายีนส์ใหม่ๆ ในอนาคตได้ และทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยกว่า แม้ปัจจุบันอาจมีราคาสูงเมื่อเทียบกับการผลิตกางเกงยีนส์แบบดั้งเดิมก็ตามที เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ยังน้อยอยู่ แต่ถึงแม้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดกางเกงยีนส์ดั้งเดิมได้ในทันที แต่การผลิตผ้าเดนิมดิจิทัลกลับเป็นทางเลือกที่ดีให้กับลูกค้าที่ต้องการผ้าเท่ๆ คลาสสิกแบบเดนิม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการคุณภาพผ้าที่สูงกว่า นิ่มกว่า เช่น การเสื้อเชิ้ตหรือชุดเดรสผ้ายีนส์ของผู้หญิง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถทำได้ทันทีเลย

ที่มา :

https://www.weforum.org/agenda/2021/11/digital-denim-is-good-as-real-energy-traditional-jeans

https://www.futurity.org/digital-denim-fabric-inkjet-printing-textiles-2648262/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

โกเล ไอเดียสแน็กเพื่อสุขภาพจากก้างปลา เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา

“โกเล” (Gole Crispy) ปลาทูแท่งอบกรอบแคลเซียมสูง นวัตกรรมจากก้างปลาทะเล เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา เพื่อช่วยวิกฤตธุรกิจครอบครัว