TEXT : กองบรรณาธิการ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดทำเมตาดาตา (metadata) สำหรับข้อมูลเครื่องประดับไทย เพื่อใช้เป็นวิธีมาตรฐานในการรวบรวมเพื่อจัดทำฐานข้อมูล และเป็นแหล่งข้อมูลอัตลักษณ์เครื่องประดับไทยที่สมบูรณ์ สร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทรงคุณค่าของไทย
อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการผลิตเครื่องประดับด้วยมือจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดหลายภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เครื่องประดับของไทยมีอัตลักษณ์สวยงามไม่ซ้ำใคร อาทิ เครื่องประดับทองและเงินสุโขทัย เครื่องประดับทองเพชรบุรี เครื่องประดับเงินน่าน เครื่องประดับเงินเชียงใหม่ และเครื่องประดับเงินโบราณสุรินทร์ เป็นต้น
อัตลักษณ์เครื่องประดับไทย เป็นข้อมูลกำกับเครื่องประดับไทยซึ่งเป็นงานฝีมือที่ออกแบบ และสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือในประเทศไทย มีลวดลาย รูปลักษณ์ที่มีลักษณะโดดเด่นมีความประณีต อ่อนช้อย และงดงาม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรมของไทย รวมถึงจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย โดยส่วนใหญ่ เครื่องประดับไทยนิยมใช้ตกแต่งร่างกายหรือเสื้อผ้าอาภรณ์ เช่น สร้อยคอ แหวน ต่างหู สร้อยข้อมือ กำไล เป็นต้น
ซึ่งลวดลายเครื่องประดับไทย เป็นหนึ่งในข้อมูลและองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยนับเป็นทรัพย์สินอันทรงคุณค่าที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นชาติ และช่วยพัฒนาโครงสร้างทางภูมิปัญญาของประเทศให้รุ่งเรือง ข้อมูลดังกล่าวมีปรากฏให้เห็นทั้งในลักษณะที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ซึ่งพบว่าการสร้าง สะสม รวบรวม จัดเก็บ ถ่ายทอดและเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีระเบียบวิธีที่มีมาตรฐาน ไม่ครบถ้วน กระจัดกระจาย ถูกตัดทอน ดัดแปลง และสูญหายไปจำนวนมาก การบูรณาการและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสงวนรักษาและรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัล จึงเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บ การเข้าถึง การสืบค้นและการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ สะดวกรวดเร็ว ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้การบริหารจัดการและจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีรูปแบบและสมบัติที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ โดยทำให้ข้อมูลที่ปรากฏในรูปแบบที่หลากหลายเหล่านี้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลที่เป็นกลาง ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนและเชื่อมต่อกันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและระหว่างระบบปฏิบัติการที่แม้จะมีความแตกต่างกันแต่สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และไร้ขีดจำกัดแม้มีปริมาณของข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลได้
วิธีการที่นำมาใช้ปรับเปลี่ยนฐานข้อมูลต้นฉบับจำนวนมากซึ่งปะปนกันอยู่ทั้งแบบมีโครงสร้าง (structured information) และแบบไม่มีโครงสร้าง (unstructured information) ให้เป็นข้อมูลดิจิทัลที่เป็นกลางนี้เรียกว่า การกำกับข้อมูล (annotation) โดยวิธีการกำกับข้อมูลที่ช่วยจัดการกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของข้อมูล (data) และสารสนเทศ (information) ขนาดใหญ่อย่างได้ผลและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปนั้น เป็นการใช้เมตาดาตาในการบริหารจัดการ ดังนั้นการออกแบบและพัฒนาเมตาดาตาที่ดีและมีมาตรฐานจะช่วยให้ระบุและเข้าถึงความมีตัวตนอยู่จริงของทรัพยากรสารสนเทศนั้น ๆ ได้อย่างมีระบบ
ด้วยเหตุนี้ GIT จึงได้กำหนดจัดทำเมตาดาตาสำหรับข้อมูลเครื่องประดับไทย ภายใต้มาตรฐาน GIT Standard เพื่อใช้เป็นวิธีมาตรฐานในการรวบรวมฐานข้อมูลอัตลักษณ์เครื่องประดับไทย ซึ่งสามารถให้ผู้ประกอบการ หรือบุคคลทั่วไปให้ข้อมูลอัตลักษณ์เครื่องประดับไทยเพื่อใช้กำกับข้อมูลเครื่องประดับไทยให้เป็นในแนวทางเดียวกัน ด้วยช่องทางออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://gitstandardmetadata.git.or.th/ เพื่อรวบรวมเป็นแหล่งของข้อมูลอัตลักษณ์เครื่องประดับไทยที่สมบูรณ์ และใช้อ้างอิงต่อไป
ทั้งนี้ สถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้สมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.gitstandard.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 451 - 456
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี