Bizchair.com เศรษฐีเก้าอี้ออนไลน์ จากร้อยสู่ล้าน









Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    “ผู้ที่มองเห็นโอกาสก่อนย่อมได้เปรียบกว่าเสมอ” 

    คำพูดนี้สะท้อนความสำเร็จของคนทำธุรกิจวิสัยทัศน์ไกลที่มองเห็นโอกาสแล้วลงมือทำก่อนใครอื่น คนเหล่านี้มักมีแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่ง ฌอน เบลนิค ชายหนุ่มวัย 29 ปีจากเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียก็เป็นหนึ่งในนั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ตอนที่ฌอนยังเป็นนักเรียนเกรด 9 (ม.3) ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันมัวสนใจเกมกีฬาเบสบอส หรือวิดีโอเกม ฌอนกลับมุ่งมั่นกับการหารายได้ ไม่ว่าจะรับจ้างตัดหญ้า แจกโบรชัวร์ และรับไพ่โปเกมอนมาในราคาถูกแล้วนำไปโพสต์ขายบนอีเบย์ทำกำไร

 
    จุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่งคั่งมาจากช่วงปิดภาคฤดูร้อน ฌอนได้มีโอกาสติดตามแกรี่ เกลเซอร์ พ่อเลี้ยงซึ่งเป็นเซลส์ให้กับโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งไปดูการทำงาน เมื่อเห็นขั้นตอนการซื้อ-ขายสินค้า ฌอนก็กลับมาครุ่นคิด โดยทั่วไปลูกค้าต้องเดินทางไปที่ร้านเพื่อเลือกสินค้าที่ต้องการ จากนั้นทางร้านจะนำออร์เดอร์ลูกค้ามาแจ้งที่โรงงานเพื่อให้โรงงานจัดส่งให้ ฌอนมองว่ามันสามารถลัดขั้นตอนได้ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านจอคอมพ์โดยไม่ต้องเสียเวลาแวะมาที่ร้าน


    ในยุค 10 กว่าปีก่อน เป็นช่วงที่ธุรกิจดอทคอมกำลังฟักตัว การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เป็นอะไรที่ยังใหม่ ฌอนซึ่งได้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 10 ขวบ ศึกษาเรื่องการสร้างเว็บไซต์มาระยะหนึ่งแล้ว เขาจึงปรึกษาพ่อเลี้ยงว่าอยากทำเว็บไซต์จำหน่ายเก้าอี้ ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ธุรกิจภายใต้ชื่อ Bizchair.com ก็ถือกำเนิดในห้องนอนของเด็กชายวัย 14 ปีด้วยเงินลงทุน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ


    ฌอนใช้เครดิตของพ่อเลี้ยงส่งออร์เดอร์ลูกค้าให้โรงงานโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้สินค้ามีราคาถูก คอนเซ็ปต์ของเขาคือ การขายเก้าอี้สำนักงานอย่างเดียวเท่านั้น รูปแบบการทำธุรกิจคือไม่มีการสต๊อกสินค้า ไม่ต้องดีลกับลูกค้าแบบตัวต่อตัว แค่เอาแค็ตตาล็อกจากโรงงานมาโพสต์ลงเว็บไซต์ เมื่อรับออร์เดอร์จากลูกค้า ก็มีหน้าที่ส่งต่อออร์เดอร์นั้นให้โรงงาน ทางโรงงานจะจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าเอง เป็นการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ


    ฌอนใช้เวลาช่วงหลังเลิกเรียนและช่วงปิดเทอมรับออร์เดอร์จากลูกค้า จากเก้าอี้สำนักงานไม่กี่ตัว ยอดขายเพิ่มขึ้นแบบทะลุทะลวง สามปีหลังดำเนินธุรกิจ Bizchair.com เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำยอดขายเก้าอี้กว่า 40,000 ตัวและมีลูกค้าเกินครึ่งล้านราย จากที่ทำงานกัน 3 คน คือตัวฌอน แม่ของเขา และพ่อเลี้ยง บริษัทต้องจ้างพนักงาน 165 คนและสร้างโกดังเก็บสินค้าพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร รายได้บริษัทในช่วงแรกอยู่ที่ 10 กว่าล้านดอลลาร์ฯ ก่อนเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี พร้อมกับพื้นที่โกดังเก็บสินค้าก็ถูกขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


    วัยรุ่นหลายคนเมื่อสามารถทำเงินจนพลิกสถานะเป็นเศรษฐีได้ มักละทิ้งการเรียนแล้วหันมาเอาดีด้านธุรกิจ แต่ฌอนไม่คิดเช่นนั้น เขาเป็นคนประเภทกระหายความรู้ตลอดเวลา มองว่าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่เป็นอะไรที่เพิ่งเริ่มต้นต่างหาก ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เขายังไม่รู้ เช่น การทำบัญชี การอ่านงบดุลบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ฌอนจึงรามือจากธุรกิจแล้วให้พ่อเลี้ยงดูแลบริษัทแทน เพื่อที่เขาจะได้เข้าเรียนคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอีมอรีย์


    หลังจบการศึกษาในปี พ.ศ.2552 ฌอนกลับมานั่งเก้าอี้ CEO บริหาร Bizchair.com อย่างเต็มกำลัง ตลอด 4-5 ปีที่เขาวางใจให้แกรี่ พ่อเลี้ยงของเขากุมบังเหียนบริษัท ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออยู่แล้ว และในช่วงที่ฌอนกลับมาแตะมือกับพ่อเลี้ยงนั้น เขาสามารถดันยอดขายเพิ่มขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 58 ล้านดอลลาร์ฯ โดยใช้กลยุทธ์ขยายไลน์สินค้าจากเก้าอี้สำนักงานทุกแบบ ไปยังโต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม เฟอร์นิเจอร์สำหรับร้านอาหาร โรงเรียน และโบสถ์ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ 


    การขยายไลน์สินค้านี่เองที่ทำให้ต้องสร้างโกดังเพิ่มเพื่อสต๊อกสินค้า ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่สต๊อกเป็นสินค้าขายดี และสินค้าลดราคาจากโรงงาน ซึ่งเกินครึ่งของออร์เดอร์เป็นรายการสั่งซื้อสินค้าที่สต๊อกไว้นี่เอง อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ฌอนนำมาใช้เพื่อสยบคู่แข่งหน้าใหม่คือบริการส่งสินค้าฟรี และรับประกันสินค้า 60 วัน หากไม่พอใจ ยินดีคืนเงิน นอกจากนั้น ฌอนยังมองหาคู่ค้าที่เป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในเอเชียมาเสริมทัพร่วมกับโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายขึ้น
 

    “ธุรกิจเติบโตขึ้นเท่าไร ผมก็ยิ่งได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกวัน ผมเชื่อในเรื่องการเติบโตที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องปรับตลอดเวลาเพื่อรับการแข่งขันที่สูงขึ้น” CEO หนุ่มกล่าว Bizchair.com ถือเป็นรายแรกๆ ที่บุกเบิกตลาดเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์สหรัฐฯ และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีส่วนแบ่งชิ้นใหญ่ในตลาดแห่งนี้ ลูกค้าของ Bizchair.com มีตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงองค์กรใหญ่ เช่น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทกูเกิล เป็นต้น 


    ปัจจุบัน สำนักงานใหญ่  Bizchair.com ตั้งอยู่ที่เมืองแคนตัน รัฐจอร์เจีย พร้อมโกดังพื้นที่เกือบ 1 ล้านตารางฟุต ยังไม่นับรวมโกดังอีกแห่งในเมืองรีโน รัฐเนวาดา จากเงินลงทุนเพียง 500 ดอลลาร์ฯ ของเด็กอายุ 14 ปี ณ ขณะนี้มูลค่าบริษัทเพิ่มมาอยู่ที่ 72 ล้านดอลลาร์ฯ Bizchair.com ยังได้รับการจัดอันดับมากมาย เช่น 1 ใน 500 บริษัทที่เติบโตเร็วสุด ผู้ค้าปลีกทางออนไลน์ที่โตเร็วสุด และท็อป 100 บริษัทค้าปลีก 


    ในการทำธุรกิจ อาจมีบ้างที่โชคเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ นั่นหมายถึงการต้องทำงานหนัก “โชคมีส่วนนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้ว ความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัยรวมถึงการมีสัญชาตญาณในการเป็นผู้นำ การดำเนินกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ สินค้า และบริการต้องเป็นที่พึงใจลูกค้า


   สำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจ อย่ากลัวเรื่องความเสี่ยง มันเป็นธุรกิจของคุณ และคุณก็มีเวลาทั้งชีวิตที่จะทำมันให้สำเร็จ ขอเพียงวางแผนให้ดีและอย่าเสี่ยงแบบประมาท ที่สำคัญควรมีแผนสำรองไว้เสมอในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้น”
เป็นคำแนะนำทิ้งท้ายของฌอน เบลนิค CEO หนุ่มผู้ร่ำรวยจากการขายเก้าอี้ออนไลน์

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

KICKIN' Thailand ธุรกิจก้านไม้หอมสุดลักชูฯ เริ่มต้นโดยเด็กมัธยมที่ปันกำไร 50% ช่วยเหลือสังคม

เพราะอายุไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งบอกว่าควรเริ่มต้นธุรกิจตอนไหน กิ๊ก-อมรรัตน์ พรหมพิชิต เริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกในวัย 13 ปี กับการพรีออร์เดอร์สินค้าจากเกาหลี จากนั้นใช้เงินต่อยอดสู่การเล่นหุ้นจนถึงการปั้นแบรนด์เครื่องหอมสุดลักชูรี่ “KICKIN' Thailand” ตอนที่เธออายุ 17 ปี

"Samarn craft" คราฟต์เบียร์ชาไทยรายแรกที่เตรียมตีตลาดจีน

Samarn Craft แบรนด์คราฟต์เบียร์ชาไทยกำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการคราฟต์เบียร์ไทย ที่ไม่เพียงเป็นเบียร์ถูกกฎหมาย แต่ เจ็น-ชาญชัย รัศมี เจ้าของแบรนด์ Samarn craft ยังมีเป้าหมายที่จะพาคราฟต์เบียร์ชาไทยตัวนี้ไปตีตลาดจีน

D'Art Cafe & Coffee Lab คาเฟ่ในหอศิลป์ จ.นราธิวาส จุดเชื่อมโยงที่อยากให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ

ในวันนี้ร้านน้ำชา จ.นราธิวาส บางร้านเริ่มถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนผ่านสถานที่รวมตัว D'Art Cafe & Coffee Lab จึงเกิดขึ้นในหอศิลป์ De' Lapae Art Space Narathiwat เพราะอยากจะให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ โดยมีคาเฟ่เป็นจุดเชื่อมโยง