จับดีไซน์ใส่ Street Food เพิ่มมูลค่าให้อาหารริมทาง





เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : เจษฎา ยอดสุรางค์



     หากจะมองไปรอบๆ อาหารริมทางหรือ Street Food ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย อาจเพราะในเรื่องของราคาที่ถูกและจับต้องได้ มีให้เลือกหลากหลายและรสชาติถูกปากคนไทย และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ Street Food ได้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในจุดเด่นของประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่ง Street Food ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะมาจากมุมไหนของโลกก็ต้องมาลิ้มลอง ไม่อย่างนั้นอาจจะเรียกว่ามาไม่ถึงเมืองไทยเลยทีเดียว 


    จะว่าไปแล้ว Street Food หากมองดีๆ จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Street Food แบบรถเข็น Street Food แบบมีหน้าร้านและโต๊ะ เก้าอี้ที่สามารถนั่งรับประทานได้ จนไปถึง Street Food ที่สุดแสนจะเก๋อย่าง Food Truck ก็นับว่าเป็น Street Food ในรูปแบบหนึ่ง 


    อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Street Food จะยังคงได้รับความนิยมในบ้านเรา แต่ด้วยภาพลักษณ์เดิมๆ ของ Street Food ที่ดูไม่ค่อยสะอาดเนื่องจากการตั้งอยู่ริมทาง รวมถึงยังมีการจัดการที่ไม่เป็นระบบเท่าไหร่นัก ทำให้บางคนอาจจะไม่มั่นใจใน Street Food รูปแบบเดิม แต่มีอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยยกระดับ Street Food แบบเดิมที่ธรรมดาให้กลายเป็น Street Food ในยุคสร้างสรรค์ นั่นคือการใช้ดีไซน์เข้ามาช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้ Street Food 


ใส่ดีไซน์ลงใน Street Food 
    
    รู้หรือไม่! กรุงเทพฯ เคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมือง Street Food ที่ดีที่สุดในโลกโดย VirtualTourist แต่ก็คงปฏิเสธได้ยากเช่นเดียวกันว่า Street Food เมืองไทยอาจมีภาพลักษณ์ที่ไม่ได้น่ามองสักเท่าไหร่ หากเราต้องการให้ประเทศได้รับการยอมรับว่าเป็น Street Food Destination ที่มีทั้งเอกลักษณ์ ความสวยงาม รวมถึงอาหารสะอาด เราคงต้องเริ่มตระหนักในการพัฒนา Street Food ธรรมดาสู่ Street Food ยุคสร้างสรรค์ด้วยการใช้ดีไซน์เข้ามาช่วย 


    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้มีองค์ความรู้ในเรื่องของงานดีไซน์มาก่อน อาจจะดูยากในช่วงเริ่มต้นแต่ก็มีหลายหน่วยงานรวมถึงมีโครงการที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อยู่เสมอ ในเรื่องนี้ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเรื่องการออกแบบดีไซน์ให้ Street Food ของตนเองว่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเดินเข้าไปหามหาวิทยาลัย 

 


    “สำหรับผู้ประกอบการที่อยากปรับ Street Food ให้มีดีไซน์แต่ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบ ง่ายที่สุดคือการเดินเข้าไปได้เลยทุกมหาวิทยาลัยที่มีคณะเกี่ยวกับออกแบบ ไม่ต้องอาย ทุกคณะมีเด็ก มีอาจารย์รออยู่ ทุกคนอยากทำงาน อยากลงมือจริงแต่เราไม่รู้ว่าใครหรือผู้ประกอบการคนไหนต้องการ เราหาเขาไม่เจอ คนที่ชอบใช้เทคนิคนี้ คือบริษัทใหญ่ๆ แต่คนที่ควรใช้เทคนิคนี้คือบริษัทเล็กๆ ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจคิดว่าเข้าไม่ได้ เข้าไม่ถึง ไม่เป็นความจริง เข้าไปได้เลย”


    นอกจากนี้ ดร.สิงห์ยังกล่าวว่า การใช้ดีไซน์เข้ามาจับกับการพัฒนา Street Food แบบเดิมจะช่วยในเรื่องของการเพิ่มยอดขายและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการอีกด้วย 


    “การใช้ดีไซน์เข้ามาช่วยจะสร้างโอกาสได้มาก เชื่อไหม การดีไซน์ยังช่วยในเรื่องของการเพิ่มยอดขายได้มหาศาล ผมเคยเจอที่เชียงใหม่ เขาทำข้าวเหนียวหมูปิ้ง เอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนขนาดไม่ใหญ่ เอาหมูปิ้งเสียบไม้ ใส่อยู่แพ็กเกจจิ้งสีน้ำตาล คล้ายๆ เป็นใบตองง่ายๆ เลย คือการใช้ดีไซน์ทำให้ฝรั่งก็กล้าซื้อ นักท่องเที่ยวกล้าซื้อ ใครๆ ก็กล้าซื้อ หรือบางทียังต่อยอดได้อีก สามารถซื้อและนำไปเสิร์ฟในห้องประชุม ถ้าใส่ถุงพลาสติกใครจะกล้าเอาไปวางไว้บนโต๊ะประชุมใช่ไหม มันมีโอกาสเพิ่มขึ้นมาก เมื่อใช้ดีไซน์เข้ามาช่วย แถมราคา ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น แค่ปรับเปลี่ยนบางอย่าง ปกติคุณอาจจะซื้อถุงพลาสติกอยู่แล้ว ลองปรับมาใช้แพ็กเกจจิ้งที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ หาวัสดุเหลือใช้ใกล้ๆ ตัว”


 

เริ่มต้นง่ายๆ กับพัฒนา Street Food

    ในเรื่องของการเริ่มต้นพัฒนา Street Food นั้น ดร.สิงห์ยังบอกว่า มีการทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวรถเข็น แพ็กเกจจิ้งหรือการนำเสนอ การใช้ดีไซน์มีความหลากหลายและยืดหยุ่นเป็นอย่างมาก

 
    การดีไซน์มันเป็นเรื่องเฉพาะส่วน มีหลายส่วนมาก บางคนอาจจะเริ่มจากการดีไซน์อาหาร บางคนดีไซน์คนเสิร์ฟ อย่างร้านโรตีแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขายดีมาก คนต่อแถวยาว เพราะคนขายหน้าตาดี แต่งตัวดี บางคนดีไซน์รถเข็นให้ดูเก๋ มีสไตล์ บางคนอาจจะลงทุนการดีไซน์หรือซื้อรถใหม่ไม่ไหว ก็เริ่มต้นจากอย่างอื่นก่อน 


    ผู้ประกอบการควรที่จะเริ่มในเรื่องของการสร้าง Identity ของร้านตัวเองก่อนว่าเราจะขายหรือเลือกอะไรที่เด่นชัดที่สุด เน้นการเริ่มดีไซน์ตรงนั้นก่อน ไม่ต้องทำทุกอย่างหรือเปลี่ยนทุกอย่างพร้อมกัน สมมุติ ร้าน Street Food ของคุณจะขายข้าวเหนียวสังขยา ซึ่งมันคือข้าวเหนียวสังขยา ทุกแห่งเหมือนกัน ดังนั้น ต้องเริ่มมองการดีไซน์อย่างอื่น เช่น แพ็กเกจจิ้งที่เสิร์ฟ ดีไซน์การนำเสนอ ขึ้นอยู่กับอาหารของคุณด้วย ผัดไทย จะเสิร์ฟอย่างไรให้ดูน่าสนใจ โดดเด่นกว่าร้านอื่นที่ขายผัดไทยเหมือนกันสามารถเลือกได้หลากหลายว่าจะดีไซน์ตรงไหน อย่างไร บางทีเราไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่เราต้องเรียนรู้เทรนด์ คนรักสุขภาพ สนใจออร์แกนิก เปลี่ยนพลาสติกเป็นใบตอง จากถุงพลาสติกเป็นกระดาษ เปลี่ยนโฟมเป็นกระทง

 

    แม้ว่าการปรับเปลี่ยน Street Food ด้วยดีไซน์จะดูเริ่มต้นได้ไม่ยากและใช้เงินลงทุนไม่เยอะ เพียงแค่มองหาไอเดียใหม่ๆ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องคิดให้ลึกเช่นเดียวกัน 


    “ก่อนอื่น Street Food จะอยู่ Outdoor อยู่นอกอาคาร การเลือกนำเศษวัสดุมาใช้จะต้องคำนึงถึงความทนทาน และเศษวัสดุที่ทนทาน ใช้งานนอกอาคารได้มีไม่เยอะ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก นอกจากนี้ การทำ Street Food ด้วยดีไซน์หรือการที่จะพัฒนา ยกระดับ Street Food มีอย่างหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ เรื่องความสะอาด"


    ดร.สิงห์ยังพูดถึงข้อจำกัดสำหรับ Street Food ที่นอกเหนือจากวัสดุแล้วก็คือ น้ำและการทำความสะอาด น้ำ เราไม่รู้จะพ่วงต่อท่อมาจากไหน ก็มีปัญหาในเรื่องของภาชนะที่ใส่อาหาร เวลาล้าง มีถังอะไรที่ดูแล้วไม่สะอาด ก็เป็นหนึ่งในข้อจำกัดและทำให้หลายคนอาจจะไม่กล้ากินอาหารริมทางเพราะเหตุผลนี้ ยิ่งพอมีเศษอาหารก็ทำให้เกิดหนู แมลงสาบ ดังนั้น ควรจะให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดมากขึ้น

     ถ้าหากเมืองไทยมีการจัดระเบียบ พัฒนา Street Food ให้ดี เมืองเราจะสวยขึ้นมาก เพราะอาหารบ้านเราอร่อยอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตกับอาหารริมทางตลอด พอ Street Food ทำให้ดี คนก็จะกล้ากินมากขึ้นเพิ่มโอกาสมากมายให้ผู้ประกอบการ
 


    ท้ายที่สุด ดร.สิงห์ได้ฝากไว้ว่า เทรนด์ในอนาคตของ Street Food เมืองไทย สิ่งที่สำคัญที่จะต้องมีคือ ความสะอาด คนรุ่นใหม่จะนำการดีไซน์มาใช้และสร้างสรรค์ Street Food ในเมืองไทยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเทรนด์แฟรนไชส์Street Food ก็น่าจะมาแรงเช่นเดียวกัน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Street Food ที่มีการใช้ดีไซน์จะช่วยยกระดับและทำให้เมืองไทยกลายเป็น Street Food Destination ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน