​Food Truck สีสันใหม่ Street Food เมืองไทย

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : ฝ่ายภาพ SME Thailand

    Food Truck หรือรถขายอาหารเคลื่อนที่ ที่เริ่มได้รับความนิยมในเมืองไทยมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ผู้คนใฝ่หาความแปลกใหม่อยู่เสมอๆ เรียกได้ว่าเป็น Street Food แนวใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะยังมีโอกาสอีกมากสำหรับโมเดลธุรกิจร้านอาหารแบบนี้

    Mother Trucker ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ของ Food Truck ในเมืองไทย เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ 3 หนุ่ม อาร์มี่ หิญชีระนันทน์, ธนาวุฒิ อภิธนาคุณ และคณิต ประภา ที่เห็นโอกาสจากรถขายผลไม้ที่เกิดขึ้นตามท้องถนน แล้วนำแนวคิดนั้นมาดัดแปลงให้เข้ากับความเป็นคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการได้เห็นวัฒนธรรม Food Truck ที่ขายอาหารอเมริกันจากในโทรทัศน์ จึงเป็นที่มาของ Mother Trucker รถคันใหญ่ สีดำ ตกแต่งแบบเท่ๆ ขายเบอร์เกอร์สัญชาติอเมริกัน แต่เน้นรสชาติให้ถูกปากคนไทย ซึ่งตระเวนเสิร์ฟความอร่อยไปยังที่ต่างๆ ตามสไตล์รถขายอาหารเคลื่อนที่

    “เราไม่ได้คิดว่าจะขายแค่เบอร์เกอร์อย่างเดียว แต่ยังขายสไตล์ ขายประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า หลักๆ จะขายอยู่แถวข้าวสาร แต่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ ส่วนใหญ่ก็ไปออกตามงานอีเว้นท์ต่างๆ บ้าง”



     แน่นอนว่าข้อดีของธุรกิจรูปแบบนี้ คือ นอกจากจะสะดวกในการเคลื่อนที่เปลี่ยนทำเลขายได้แล้ว ยังสามารถเปิด-ปิดร้านได้เร็วกว่าร้านทั่วๆ ไป และที่สำคัญคือต้นทุนถูกกว่า แต่จำกัดก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะกับการต้องเจอกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เกิดรถเสียโดยกะทันหัน หรือสภาพอากาศก็เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ต้องยอมรับในจุดนี้ด้วย 

    นอกเหนือจาก Mother Trucker แล้วยังมี Food Truck หน้าใหม่ๆ แจ้งเกิดอีกมากมายนับไม่ถ้วน อย่าง กำกิ๋น ของเบญจมาศ เมืองมูล ก็ถือได้ว่า เป็น Food Truck รุ่นใหม่ที่สร้างความต่างไม่น้อย ด้วยการเป็น Food Truck อาหารเหนือที่รวบรวมความอร่อยแบบต้นตำรับ ไม่ว่าจะเป็นข้าวซอย ลาบเหนือ น้ำพริกอ่อง แกงโฮ๊ะ ฯลฯ ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเมนูอาหารให้มีรสชาติถูกปากคนเมืองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเบญจมาศเล่าให้ฟังว่า จากที่เคยออกบูธตามงานต่างๆ และขายผ่านออนไลน์ ก็เริ่มมองเห็นว่า Food Truck น่าจะเป็นอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้

    “แต่ก่อนออกบูธตามงานเฉลี่ยเดือนหนึ่งเต็มที่ก็ 10 วัน แต่พอมาเปลี่ยนเป็น Food Truck สามารถออกงานได้บ่อยมากขึ้น เฉลี่ยศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ต้องออก บางงานก็ลากยาวเป็นอาทิตย์ ทำให้ขายได้มากกว่า สะดวกมากกว่า ไม่ต้องยุ่งยากเก็บของ ค่าใช้จ่ายบางงานน้อยกว่าออกบูธ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาก็หลากหลายมากขึ้น เหมือนเป็นการสร้างความแปลกใหม่ เป็นอีกช่องทางดีๆ สำหรับผู้ที่อยากเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ยิ่งเดี๋ยวนี้เขามีโรงงานรับผลิตให้ด้วย ไม่ยากแล้ว เพียงบอกความต้องการและมีทุนก็พอ”



    มีคำถามตามมาว่า Food Truck จะเป็นเพียงกระแสที่มาเพียงชั่วครู่ชั่วยามหรือไม่ และการเติบโตจะมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อคลายความข้องใจในเรื่องนี้ ญาณเดช ศิรินุกูลชร ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม Food Truck Club (Thailand) ได้ให้ข้อมูลมาว่า ธุรกิจ Food Truck ในเมืองไทยขณะนี้เติบโตอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาจากช่วงแรกที่เป็นรถขายอาหารต่างชาติแบบต้นตำรับ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า เริ่มมีการปรับตัวให้เข้าความต้องการของผู้บริโภคคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยมีการนำมาปรับเป็นรถขายอาหารที่มีความหลากหลายขึ้น ทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่ชอบลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่

    “กระแส Food Truck เริ่มเข้ามาในบ้านเราที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง คือ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มคนที่ไปเห็นการขายแบบต้นตำรับจากอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงนำมาทดลองขายดูบ้าง จากจำนวนไม่กี่สิบคันในช่วงแรก ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะสมาชิกสมาคมของเราก็มีอยู่ประมาณ 260 คัน ซึ่งยังมีอยู่ข้างนอกอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ในเมือง ตามตลาดนัด flea market ตลาดนัดกลางคืน งานอีเว้นท์ต่างๆ รูปแบบอาหารก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบตัวรถ Food Truck เอง จากเดิมนิยมใช้เป็นรถกระบะทำเป็นตู้ปิดทึบ ปัจจุบันเริ่มมีการทำเป็นตู้เทรเลอร์พ่วงเข้ากับรถเก๋ง ทำให้มีรูปแบบหลากหลายให้เลือกมากขึ้น จึงเรียกว่าอยู่ในช่วง learning curve คือ ทุกคนกำลังเรียนรู้ที่จะเติบโตไปกับอุตสาหกรรมตัวนี้ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นกระแสสำหรับผู้บริโภค จะเริ่มกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสำหรับคนเมือง ผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นเคยมากขึ้น จากที่ลองมาใช้บริการ เพราะเห็นว่าน่าสนใจดี ก็เริ่มมีการติดตามความเคลื่อนไหว เพื่อไปใช้บริการมากขึ้น”

    ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันมาทำโมเดลธุรกิจ Food Truck กันมากขึ้น ?
    ญาณเดชมองว่า  Food Truck มีการตอบโจทย์ในหลายๆ ด้านที่ร้านอาหารทั่วไปทำไม่ได้ เพราะการจะทำร้านอาหารขึ้นมาสักร้านหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งทำเล การตกแต่ง การจ้างพนักงาน  ในขณะที่การเริ่มต้นธุรกิจ Food Truck แค่เพียงมีรถหนึ่งคัน ลงทุนตกแต่งอีกนิดหน่อย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า เพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้มากขึ้นด้วย 
“Food Truck เป็นโมเดลการเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายสำหรับคนที่สนใจอยากทำธุรกิจร้านอาหาร ลงทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนสร้างร้านอาหารขึ้นมาสักร้านหนึ่ง หากทำเลไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนที่ขายได้ หรือจะวางแผนเช้าขายที่หนึ่ง เที่ยง เย็น กลางคืนอีกที่หนึ่ง ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มากขึ้น หรือสุดท้ายถ้าไม่ดีจริงๆ เราก็ยังเหลือ แต่ถ้าเป็นร้านอยู่กับที่ ถ้าไม่ดี ทุกอย่าง คือ จบ เพราะเราลงทุนไปแล้ว”



    นอกจากปัจจัยที่เอื้อต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจ ในด้านความโดดเด่นของธุรกิจเอง ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูแปลกตา การตกแต่งดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ Food Truck จึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจลูกค้าได้มากกว่าร้านอาหารธรรมดาทั่วไป เป็นการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับลูกค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง Food Truck ก็คือ Street Food ดีๆ นี่เอง เพียงแต่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ทันสมัยมากขึ้น สร้างสิ่งแวดล้อมในการกินที่ดีได้มากกว่า ทั้งรสชาติอาหาร เมนูอาหารที่แปลกใหม่ การตกแต่งร้านให้ดูดึงดูดน่าสนใจ เป็นราคาที่จับต้องได้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงทำให้ Food Truck ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสความนิยม แต่อาจกลายเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมอีกหนึ่งอย่างขึ้นมาของเมืองไทย ซึ่งญาณเดชมองว่าอาจเติบโตมากกว่าประเทศต้นตำรับเองก็ว่าได้ เนื่องจากมีความหลากหลายที่มากกว่า

    สุดท้ายนี้ ญาณเดช แนะนำว่า ผู้ประกอบการ Food Truck ควรจับกลุ่มออกงานร่วมกัน การไปเป็นกลุ่มก้อนจะสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าฉายเดี่ยว รวมไปถึงการเจรจาต่อรองค่าเช่าก็สามารถทำได้มากกว่า นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นประจำด้วย ซึ่ง Food Truck หลายแบรนด์ ก็มีแฟนคลับอยู่มากมาย ในส่วนของผู้สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจ Food Truck เองควรเริ่มจากการประเมินตนเองก่อน ว่ามีทรัพยากรอะไรบ้างอยู่ในมือ มีเงินทุนเท่าไหร่ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ กับสิ่งที่เป็นอยู่ ควรประกอบธุรกิจรูปแบบใด จึงจะประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด ความเสี่ยงต่ำสุด จากนั้นจึงค่อยเริ่มสำรวจตลาด ถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งรูปแบบอาหาร การตกแต่งรถ พื้นที่การขายแต่ละแห่งว่ามีกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจสำเร็จด้วยดี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย