'Too fast to sleep' คาเฟ่ของคนไม่หลับไม่นอน

 

     แจ้งเกิดจากการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ผู้ไม่หลับไม่นอน “Too fast to sleep” ร้านกาแฟคอนเซ็ปต์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงย่านสามย่าน จึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี นับตั้งแต่เปิดบริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 


จากไอเดียสนุกๆ ของดาราหนุ่ม “ต่าย” นัฐฐพนท์ ลียะวณิช และคุณอา “เอนก จงเสถียร” นักธุรกิจเจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหาร M Wrap โดยแรงบันดาลใจของฝ่ายคุณอาซึ่งเคยมีประสบการณ์สมัยเรียนปริญญาโท หาที่ดีๆ อ่านหนังสือไม่ได้ต้องไปอ่านตามออฟฟิศหรือบ้านเพื่อนซึ่งแต่ละที่ล้วนไม่สะดวกในการใช้เวลาอ่านหนังสือนานๆ 


“Too fast to sleep” จึงเกิดขึ้นเพื่อทดแทนสิ่งที่เคยต้องการในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา โดยเชื่อว่าสถานที่อ่านหนังสือจำเป็นมากไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา สมัยไหนก็ตาม

 

ต่าย นัฐฐพนท์เล่าว่า เดิมคุณอา (อเนก จงเสถียร) ทำธุรกิจเปิดศูนย์อาหารสามย่านสเตชันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีแผนจะขยายเปิดร้านกาแฟรูปแบบใหม่ จึงอาสาขอเข้ามาช่วยดูแลออกแบบดีไซน์คอนเซ็ปต์ทั้งหมด โดยคุณอารับบทบาทดูแลการบริหารด้านธุรกิจ   


“ตอนแรกที่คิดไว้คือเปิดเป็นร้านกาแฟ แล้วกลางคืนเปิดเป็นกึ่งๆ บาร์กึ่งๆ คาเฟ่ แต่ไปๆ มาๆ กลุ่มเป้าหมายใหญ่กลายมาเป็นนักศึกษา จึงเหมาะที่จะทำเป็นร้านกาแฟมากกว่า” 


“แรงบันดาลใจของผมคือชอบอะไรที่เป็นห้องสมุดมีหนังสือเยอะๆ ชอบวัสดุที่เป็นไม้ ชอบสีน้ำเงิน เดินเข้ามาแล้วรู้สึกนั่งสบายๆ คอนเซ็ปต์ คือ คล้ายอยู่ในโรงเรียนหน่อยๆ เหมือนไฮสคูล มีโลโก้เป็นนกฮูกใส่แว่นเหมือนตื่นตลอดเวลา”


ตัวอาคารของ “Too fast to sleep” ออกแบบในลักษณะคล้ายกล่องขนาดยักษ์  พื้นที่ภายในแบ่งเป็นสองชั้นโดยใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นสีหลัก และวัสดุอย่างไม้สร้างความอบอุ่น ชั้นล่างแบ่งเป็นโซน Living Room ห้องนั่งเล่นชั้น 1 เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-24.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา12.00-24.00 น. และโซน Secret Chamber ที่ออกแบบด้วยคอนเซ็ปต์ห้องใต้หลังคา เป็นคาเฟ่สำหรับนั่งรับประทานอาหาร ดื่มไวน์ ดื่มค็อกเทล เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-24.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-24.00 น.

 

ส่วนพื้นที่ด้านบนแบ่งเป็นโซน Library ห้องอ่านหนังสือชั้น 2 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และโซน Balcony ห้องระเบียงชั้น 2 เปิดให้บริการเวลา 15.00-24.00 น.

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ  เรื่องการตกแต่งภายในซึ่งเจ้าของร้านตั้งใจให้ดูเหมือนห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือ มีที่นั่งสบายๆ ที่สามารถเอนตัวได้เมื่อต้องการและมีเอกลักษณ์ของร้านเป็นหนังสือสีน้ำเงิน ซึ่งถูกใช้เป็นสิ่งตบแต่งแทบจะทุกส่วนของร้าน แถมยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไอทีและอินเทอร์เน็ตแบบครบครัน รวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารจานด่วนไว้บริการ 


ด้วยทำเลที่ได้เปรียบของ “Too fast to sleep” ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่รถไฟใต้ดินสามย่าน และอยู่ตรงข้ามจามจุรีสแควร์ อยู่ใกล้สถาบันการศึกษาและโรงเรียนกวดวิชา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำให้มีฐานลูกค้าเป็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก เด็กกลุ่มนี้ปรับตัวเร็ว ชอบลองของใหม่ และมีกำลังจับจ่าย

   “เวลาสามทุ่มที่นี่จะเป็นเวลาที่พีก มีลูกค้าแน่นร้านที่สุด ช่วงเปิดร้านแรกๆ มีปัญหาโต๊ะไม่พอนั่ง ทำให้ต้องกำหนดให้นั่งได้คนละหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาใช้บริการ เข้ามาแล้วไม่จำเป็นต้องสั่งอาหารก็ได้แล้วแต่ลูกค้า แต่นิสัยคนไทยจะขี้เกรงใจ ส่วนใหญ่เข้ามานั่งอ่านหนังสือก็จะต้องสั่งเครื่องดื่ม เมนูที่ขายดีกลับเป็นพวกน้ำผลไม้แทนที่จะเป็นกาแฟเพราะวันหนึ่งรับประทานได้หลายแก้ว” 

ที่มาของคอนเซ็ปต์ “Too fast to sleep” พระเอกหนุ่มต้นคิดไอเดีย บอกว่า “เพราะคอนเซ็ปต์ร้านเราคือเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง คือมันเร็วเกินไปหรือเปล่าที่คุณจะนอน สำหรับหลายๆ คนที่กลางคืนแล้วไม่รู้จะไปไหนก็จะมีร้านเราที่นี่อยู่เป็นเพื่อนคุณตลอด...”

 


“ถ้าให้นิยามถึงคำจำกัดความของ “Too fast to sleep” สำหรับผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ฉีกรูปแบบร้านกาแฟในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งการลงทุนออกแบบตบแต่งร้านแบบห้องสมุด ขนาดของร้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 300 ตารางเมตร สามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่า 100 คน รวมถึงรูปแบบการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงซึ่งยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟลักษณะนี้ในเมืองไทย” 

    "ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้รู้จักตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองชอบอะไรและชัดเจนว่าตัวเองเป็นผู้บริโภคในกลุ่มไหน ดังนั้น แค่คุณทำอะไรมาแล้วโดนใจคนสักกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะมีลูกค้าเป้าหมายของคุณที่เป็นกลุ่มเฉพาะและเหมาะกับร้านของคุณ”


เป้าหมายต่อไป เจ้าของร้านหนุ่มมีไอเดียอยากตบแต่งร้านเพิ่มเติมให้ตรงกับความตั้งใจที่อยากทำเป็นแกลเลอรี่จัดแสดงและขายผลงานศิลปะ รวมทั้งจัดเทศกาลงานศิลป์รวมทั้งฉายหนังแอนิเมชั่น หนังอาร์ตฝีมือคนไทยรุ่นใหม่ นอกจากนี้ หากมีเวลาอยากขยายสาขาร้าน “Too fast to sleep” แห่งที่สองในทำเลอื่นๆ ตามมาในอนาคตอีกด้วย  

หลายคนอาจสงสัยและมีคำถามว่า ลงทุนขนาดนี้แล้วจะมีผลกำไรได้อย่างไร จะคุ้มกับการลงทุนหรือ? คำตอบสำหรับคำถามนี้ ตอบได้เพียงว่า “กำไรที่แท้จริง คือ ความสุขก็คุ้มแล้ว” 


  “ถามว่าอยู่ได้ไหม รายได้คืออยู่ได้ แต่มันคงไม่ได้ทำเงินอะไรมากมายประเภททำสองปีได้ขับรถพอร์ช เป็นธุรกิจที่เราทำด้วยความชอบและความสุขที่อยากจะทำมากกว่า ผมเชื่อว่าคนทำร้านกาแฟส่วนใหญ่กำไรไม่ค่อยมากหรอก แต่มันเป็นความสุขมากกว่า เวลาที่คนเข้ามาร้านแล้วมีความสุขเข้ามาคอมเมนต์ร้าน คือ ทุกคนรักมัน แค่นั้นผมโอเคแล้ว” 


  “ที่นี่เราบริหารเรื่องคนโดยแบ่งการทำงานเป็นสองกะ และดูแลต้นทุนแต่ละเมนูเป็นเท่าไหร่ และควรตั้งราคาสำหรับร้านเราเท่าไหร่เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของเราสามารถซื้อได้ มีความถี่ที่จะบริโภคและมาที่ร้านได้บ่อยๆ ระดับราคามีตั้งแต่ถูกจนถึงแพง เริ่มต้นตั้งแต่ 80 บาทไปจนถึงหลายร้อยบาท”  

 

  “ผมมองว่าการทำธุรกิจคือการบริหารให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายและรายได้มันอยู่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก อันนั้นใช่แต่คุณต้องเรียนรู้และพยายามวางมันเป็นพื้นฐานของการทำงาน แต่อย่าไปคิดย้ำๆ จนซีเรียส ผมเคยเป็นอย่างนั้นมาพักหนึ่งตอนทำธุรกิจอื่น กลุ้มใจกับยอดตัวเลขจนพลอยดึงเนื้องานให้ไม่ดีไปด้วย” 


  “ผมคิดว่าทุกอย่างถ้าเริ่มต้นจากความสุข มันจะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดไม่ถึง” ต่าย นัฐฐพนท์ ให้แง่คิด 

 

ที่มา : วารสาร K SME Inspired

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน