Quilts Sabai สร้างโอกาสจากงานผ้า

 

 
 
 
เรื่อง : ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร 
 
นับตั้งแต่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเช่น “เฟซบุ๊ก”เป็นช่องทางในการทำตลาด สินค้าจำพวกงาน แฮนด์เมด หรืองานฝีมือต่างๆ ก็มีโอกาสแจ้งเกิดมากมาย และกลายเป็นงานอันสามารถสร้างมูลค่าได้ดีให้กับผู้ทำงานฝีมือ พร้อมกับมีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้บริโภคในแง่คุณสมบัติความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือผลงานจากผืนผ้า อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าหลากหลายรูปแบบ รวมถึงของใช้อื่นๆ จิปาถะ 
 
“ผ้า” จึงเป็นเสมือนหัวใจสำคัญท่ามกลางภาวะสินค้าแฮนด์เมดที่กำลังเติบโตได้ดี มีผู้ผลิตรายใหม่ๆ ปรากฏตัวมากขึ้น ทั้งผู้เล่นตัวจริง และมือสมัครเล่น ทำให้ “ศุภวรรณ สมรรถชัยศรี” เจ้าของร้านค้าออนไลน์ “Quilts Sabai Shop” ตัดสินใจใช้เวลาว่างระหว่างวัน จำหน่ายผ้านำเข้าจากอเมริกา เพราะมองเห็นโอกาสเรื่องความต้องการของตลาดรองรับ และพบว่าแนวโน้มของงานฝีมือนั้นเติบโตขึ้นทุกปี โดยสังเกตจากงานแสดงจักรเย็บผ้า จะได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมากเสมอ 
 
 
“เริ่มขายจริงจังประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมา เราเป็นคนชอบงานฝีมืออยู่แล้ว โชคดีว่ารู้จักพี่ที่รักงานผ้าเหมือนกัน เขาก็เลยแนะนำให้ลองนำเข้าผ้ามาขายดู ครั้งแรกสั่งมา 10 ชิ้น 10 ลาย เพื่อจะได้รู้ว่าหากเปิดเป็นพรีออร์เดอร์แล้ว ลูกค้าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการรอสินค้า ช่วงหลังๆ มามีลายให้เลือก 80-90 ลาย และจากช่วงแรกที่สั่งจากเดือนละ 2 ครั้ง ณ ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ครั้งแล้ว” 
 
 
ทั้งนี้ ศุภวรรณเลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหน้าใหม่รายอื่นๆ เพราะนอกเหนือจากไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางนี้ถือเป็นวิธีการโฆษณาที่เร็ว สามารถเจาะกลุ่มคนรักงานผ้าได้โดยตรง และก็มีกลุ่มเหล่านี้อยู่ในเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า เมื่อเป็นเพื่อนกับใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มนั้นแล้วก็จะเกิดการแนะนำต่อกันต่อไปยังเพื่อนคนอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน
 
 
“ตอนแรกเราก็มองหาลูกค้าจากสมาชิกกลุ่มคนรักจักรเย็บผ้าเหมือนกันกับเรา และเมื่อมีคนมากดไลก์หน้าเพจ เราก็จะไปดูว่าเขาชอบเพจไหนอีกบ้าง เพจนั้นทำอะไร ถ้าเกี่ยวกับงานฝีมือเราก็กดไลก์ หรือขอคำร้องเพื่อน ทุกอย่างจะลิงก์กันไปหมด ช่วงแรกๆ ก็ต้องมีเทคนิคในการค้นหาหน่อย พอเริ่มมีลูกค้าเป็นของตัวเองก็จะเริ่มมีคนเข้ามาหาเราเอง เพราะส่วนมากคนที่รักงานฝีมือเขาจะมีกลุ่มของเขาอยู่แล้ว”  
 
 
โดยเหตุผลที่เลือกนำเข้าผ้าจากอเมริกา เธออธิบายภาพรวมว่า ผ้าส่วนใหญ่ที่จะใช้ทำงานแฮนด์เมดปัจจุบัน มักจะมาจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ส่วนผ้าอเมริกานั้นมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก เธอจึงมีแนวคิดว่า หากต้องการจะอยู่ในธุรกิจนี้ จำเป็นต้องแข่งขันกันด้วยลายผ้าแตกต่างกัน ไม่ซ้ำใคร อีกทั้งจากจำนวนผู้ชื่นชอบงานฝีมือเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ หาง่ายขึ้น แต่ผ้าจากอเมริกามีคนจำหน่ายน้อย จึงน่าจะสร้างโอกาสให้กับเธอได้มากกว่า 
 
 
“ผ้าอเมริกาจะมีลายไม่เหมือนผ้าจากที่อื่น คนละแบบ คนละสไตล์กัน การจำหน่ายของเราจึงถือเป็นการเพิ่มทางเลือก ซึ่งความจริงแล้ว มีคนสนใจผ้าอเมริกาเยอะเหมือนกัน จากที่เราทำมา ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี และเราก็มาทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม มาดูตลาดว่าต้องการอะไร คนไทยชอบสีแบบไหนโทนสีใด ก็คือจะต้องมีการอัพเดตตัวเอง โดยเราดูจากผลงานที่ลูกค้าทำเสร็จแล้วมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็จะรู้ว่าเขาชอบแบบไหน และมีพี่ที่ปรึกษา ซึ่งอยู่ในแวดวงงานฝีมือจากผ้า เขาจะคอยบอกว่าช่วงนี้อะไรมาแรง หรือลายอะไรจะนิยมตลอดกาล บางทีลูกค้าเองจะมาถามเลยว่า มีสีหรือลายที่เขาต้องการหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็คือการสะท้อนกลับจากลูกค้าเรานั่นเอง” 
 
 
เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ศุภวรรณเปิดเผยว่า ในอนาคตมีเป้าหมายจะรับ Made to Order ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าที่สนใจ ซึ่งถ้าหากว่าในปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ก้าวต่อไปของเธอคือการเปิดหน้าร้าน และอาจมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทุกอย่างมาจำหน่าย คล้ายๆ กับร้านค้าครบวงจร ส่วน ณ วันนี้ มีลูกค้าบางรายต้องการจะเป็นตัวแทนขายส่งไปต่างจังหวัด เธอจึงกำลังดูรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่จะสั่งมาครั้งละมากๆ แต่ราคาถูก
 
“เราต้องมีการอัพเดตตัวเอง เพราะหากให้ทำไปเรื่อยๆ เดิมๆ ไม่มีอะไรเลย ก็จะคงที่ แต่ถ้าอยากจะโตกว่านี้ ก็จำเป็นต้องเริ่มทำโปรโมชั่น มีผ้าลายใหม่ๆ เข้ามา แต่เราก็ยังคงเน้นว่า เราขายผ้าเพราะรักผ้า และอยากให้ลูกค้าได้ผ้าสวยๆ ไปทำงานฝีมือ” 
 
ท้ายสุด เธอแนะนำว่า ใครที่อยากทำธุรกิจ และหวังผลเรื่องกำไร และรายได้ที่มั่นคงจำเป็นต้องทำวิเคราะห์ตลาดให้มากๆ และก็ต้องทำด้วยใจรัก สำคัญคือ หากมีช่องทางการจำหน่ายบนเฟซบุ๊กเป็นหลัก จะต้องหมั่นอัพเดตตลอดเวลา เพราะเฟซบุ๊กนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ!!! 
 
 
 
Quilts Sabai 
https://www.facebook.com/quiltsabaishop       
โทร. 0-2453-2389
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน