ไทฯครับ ส่วนผสมที่ลงตัวของตุ๊กตาเด็กจุกและโขน

Text: พิชชานันท์ สุโกมล
Photo: กฤษฎา ศิลปไชย





Main Idea
 
  • ‘ไทฯครับ’ หรือ Thai Craft ในภาษาอังกฤษ แบรนด์ของฝากของที่ระลึกจากตัวละครในวรรณคดีไทยอย่าง ทศกัณฑ์ หรือหนุมาน ที่นำมาปรับลุคให้ดูน่ารัก ด้วยการต่อยอดเป็นตุ๊กตาผ้าเด็กจุกสวมชุดโขน ลดความขลังและความน่ากลัวลง แถมเก๋ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานกระเป๋าผ้าที่ทุกคนจับต้องได้
 
  • เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและเด็กไทย ช่วยอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ในรูปแบบของเล่นที่เป็นตุ๊กตาให้เด็กไทยซึมซับวัฒนธรรมไทยแบบจับต้องได้จริง ๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเล่นตุ๊กตาที่ไม่ใช่แค่มาจากญี่ปุ่นหรืออเมริกา


     

     ถ้าพูดถึงตัวละครในวรรณคดีไทยอย่าง ทศกัณฑ์ หรือหนุมาน มักจะถูกนำมาสร้างเป็นของที่ระลึกในรูปแบบหุ่นปั้นหลากหลายขนาดซึ่งมีลักษณะเหมือนจริง ถึงจะมีความสวยงามและสื่อถึงความเป็นไทย แต่ด้วยสีสันและลวดลายที่แฝงความขลัง ทำให้อารมณ์ออกมาดูน่ากลัว ทำได้เพียงนำไปตั้งประดับเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ 4 นักออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์เกิดไอเดียนำสิ่งดังกล่าวมาต่อยอดเป็นตุ๊กตาผ้าเด็กจุกสวมชุดโขน เพื่อลดความขลังและอารมณ์น่ากลัว ให้ออกมาในรูปแบบของของเล่นพร้อมฟังก์ชันการใช้งานกระเป๋าผ้าที่คนทุกวัยจับต้องได้ จนเกิดเป็นแบรนด์ “ไทฯครับ” นั่นเอง
               

    “ไทฯครับ” ในภาษาไทย หรือ Thai Craft ในภาษาอังกฤษ คือแบรนด์เดียวกัน เพียงแต่การออกเสียงนั้นตั้งใจให้มีลูกเล่นของสำเนียงที่สอดรับกับคำในการสื่อความหมายของการเป็นงานฝีมือสัญชาติไทย ซึ่งเจ้าของไอเดียทั้ง 4 คนที่รังสรรค์ชิ้นงานเหล่านี้ ได้แก่ นันทชัย สันทัดการ, สุรพงษ์ แดงผ่องศรี, ปัณณธร ปานทอง และ กุลธวัช เจริญผล โดยทั้งหมดมีประสบการณ์ในการทำงานด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับแบรนด์ดังๆ ในไทยมากว่า 20 ปี
          


 

     นันทชัย สันทัดการ และ ปัณณธร ปานทอง สองในสี่ของหุ้นส่วนไทฯครับ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของตุ๊กตาเด็กจุกสวมชุดโขนในความเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกได้อย่างน่าสนใจว่า มีช่วงหนึ่งที่ต้องไปทำงานที่ตลาดน้ำอัมพวาบ่อยมาก เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของฝากที่เป็นของอัมพวาจริงๆ แทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่ที่ใช้ได้ก็มีพวกเสื้อยืดที่พับใส่เข่งปลาทู ตุ๊กตาหิ่งห้อย ส่วนที่เหลือคือซื้อมาจากที่อื่นแล้วเอามาขายที่นี่ คล้ายๆ ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการอะไรพวกนั้น เขาอยากได้อะไรที่เป็นของอัมพวาแท้ๆ


“จากจุดนี้เลยอยากจะทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของอัมพวาแล้วก็ขายที่อื่นได้ด้วย ซึ่งทางคุณปัณณธร เขาเคยเล่นดนตรีไทยมาก่อน ก็พอจะมีความรู้ด้านโขน พอดีกับที่อัมพวาเขาจะมีการจัดแสดงโขนประจำปีอยู่แล้ว เป็นโขนพระราชทานดังมากที่อัมพวา ถ้าใครเคยไปก็จะเห็นว่าป้ายทางเข้าอัมพวาก็จะมีรูปหัวโขน 3 อันติดอยู่เป็นตัวหนุมาน ทศกัณฑ์ และพระราม เราเองมีทีมงานที่ทำเกี่ยวกับคาแร็กเตอร์ แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำตุ๊กตา เลยเอาทุกอย่างที่มีทำมาเป็นผลิตภัณฑ์นี้”





     “เราเริ่มต้นทำตัวที่คนรู้จักก่อนคือ ทศกัณฑ์กับหนุมาน จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มตัวละครเข้ามาให้มีความหลากหลาย ทั้งพระราม พระลักษณ์ นางสีดา และให้แต่ละตัวมีสีที่ต่างกัน เช่น สีแดงจะเป็นสุครีพ สีดำเป็นนิลพัท เราไม่อยากให้สีใกล้กันมาก เนื่องจากตัวละครเยอะ ถ้าสีใกล้ๆ กันคนจะแยกยาก เพราะคอนเซปต์ของเราคือ การผสมผสานระหว่างตุ๊กตาและโขน เนื่องจากตุ๊กตาที่สวมหัวได้ยังไม่เคยมีมาก่อน เป็นการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งโดยใช้วัสดุที่ต่างไป และมีฟังก์ชันการใช้งานเป็นกระเป๋าได้ด้วย เป็นกิมมิกที่เราสร้างขึ้นมาคือ ข้างนอกเป็นหัวโขน ข้างในเป็นเด็กจุก เป็นการใส่ความเป็นไทยไว้หลายๆ ชั้น”


     กลุ่มเป้าหมายของไทฯครับ คือนักท่องเที่ยวและเด็กไทย โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น แต่สำหรับคนไทยหรือเด็กไทยแล้ว พวกเขาต้องการอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ในรูปแบบของเล่นที่เป็นตุ๊กตาให้เด็กไทยซึมซับวัฒนธรรมไทยแบบจับต้องได้จริงๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเล่นตุ๊กตาที่ไม่ใช่แค่มาจากญี่ปุ่นหรืออเมริกา แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ดังนั้น การให้ความสำคัญเรื่องภาษาที่จะต้องอธิบายตัวตนของตุ๊กตาข้างบรรจุภัณฑ์จึงถูกวางไว้เป็นสากล คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน





    “สำหรับตัวแพ็กเกจจิ้งเราทำออกมาเป็นกล่องกระดาษสีน้ำตาล เพราะเราอยากให้ดูเหมือนงานแฮนด์เมดที่มีความเรียบง่าย รักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวตุ๊กตาเองก็เป็นผ้าคล้ายผ้าดิบ เราอยากให้กระดาษเป็นโทนเดียวกัน เป็นอีโค่และใช้เพียงสีเดียว”


     ด้วยทุนเริ่มต้นเพียงคนละ 3,000 บาท ที่ต้องการให้งานนี้เป็นงานเสริมที่ได้ปลดปล่อยพลังความคิดอย่างอิสระไม่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันใดๆ และการส่งผลงานเข้าประกวดผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ก็คือหนึ่งในแผนของการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักไทฯครับ และพวกเขาก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมาได้ นอกจากคนทั่วไปจะรู้จัก สื่อรู้จัก งานนี้เรายังได้คู่ค้ากลับมาเป็นรางวัลทางธุรกิจอีกด้วย





     “ตลาดน้ำอัมพาคือ ช่องทางแรกในการขายของเรา แต่หลังจากที่ได้รางวัลในการประกวด เราได้ทำ Business Matching กับทางห้างเซ็นทรัลพัฒนา สยามพิวรรธน์ และคิง เพาเวอร์ ทั้งสามที่เลือกของเราไปจำหน่ายทั้งหมด ทำให้เรามีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ยอดขายก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ที่คิงเพาเวอร์ก็เริ่มติดต่อให้เราไปลงเพิ่มอีกสาขาแล้ว อาจจะเป็นที่ภูเก็ตหรือสุวรรณภูมิ ตอนนี้เป็นช่วงขยายตลาด แต่ละเดือนเราสามารถผลิตได้เกือบ 2,000 ชิ้น ทั้งไซส์เล็ก กลาง และใหญ่ เหตุผลที่เรามีหลายขนาดเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามกำลังทรัพย์ และต่อไปเราจะทำเป็นคอลเลกชั่นของตัวละคร ค่อยๆ ปล่อยออกมาทีละเซ็ต เช่น ตุ๊กตาสี่ภาค ผีตาโขน โดยทำเป็นการสวมหน้ากากเหมือนกัน แต่จุดเด่นยังคงเหมือนเดิมตรงที่ดูน่ารัก เพราะเราจะทำการอนุรักษ์ด้วยการพัฒนา ซึ่งการอนุรักษ์แบบออริจินัลเลยแท้ๆ มีคนทำอยู่แล้ว เราจึงพัฒนาให้เป็นสากลขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ และให้ประเทศไทยมีสินค้าที่คงคุณค่าความเป็นไทยในแบบฉบับสากล” 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น