กระดาษรังผึ้งลีลา ลดโลกร้อน ประหยัด รีไซเคิล

 

 
 
“ความคิดสร้างสรรค์” นับเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญในการทำธุรกิจ ยิ่งคิดได้แตกต่างก็ยิ่งมีโอกาส 
 
อรุณ เหล่ากิจการกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โอแอนด์เอช ฮันนี่คอมบ์ เปเปอร์ จำกัด คือตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้ประกอบการที่คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ ด้วยไอเดียที่เกิดจากการมองเห็นช่องว่างและปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาด นำมาสู่การตกผลึกออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “กระดาษรังผึ้งลีลา” ที่ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าสนใจ
 
“แนวคิดของเรา คือ ลดโลกร้อน ประหยัด และรีไซเคิล ปัจจุบันไม้ในเมืองไทยเริ่มหมดลง ต้องนำเข้าจากมาเลเซีย พม่า และกัมพูชา เรามองไปในอนาคตว่า ถ้าป่าไม้เริ่มหมดไป จะหาอะไรมาทดแทนได้ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เดิมเราทำเฉพาะพาเลตกระดาษที่เป็นบรรจุภัณฑ์ ก็มาคิดว่าน่าจะเป็นอะไรได้มากกว่านั้น จึงเริ่มเอาไอเดียใส่เข้าไปใช้ต่อยอดในงานเฟอร์นิเจอร์ และการทำบู๊ธสินค้า โดยใช้กระดาษมาทดแทน ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์”
 
การไม่หยุดที่จะคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้กระดาษรังผึ้งลีลาได้รับรางวัลโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ในครั้งนี้  อรุณกล่าวว่า กระดาษรังผึ้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจุดเด่นของกระดาษรังผึ้งลีลา คือ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครบวงจรและเป็นดีไซน์ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดในโลก เช่น โลงศพกระดาษในรูปแบบน็อกดาวน์ที่ทำจากกระดาษรังผึ้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใช้เวลาในการเผาไหม้เพียง 10 นาที และสามารถย่อยสลายภายใน 7 วัน จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนในการส่งออกด้วย
 
  “ที่ผ่านมาธุรกิจส่งออกของไทยเจอวิกฤตมาตลอด ไม่ว่าจะวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาและปัญหาภายในประเทศทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน ยิ่งตอนนี้ผู้ส่งออกกำลังเจอปัญหาอีกอย่าง คือการโดนเรียกเก็บค่าทำลายบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่บรรจุภัณฑ์ของเราไม่โดนเรียกเก็บ เพราะเอาไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ก็ช่วยลดต้นทุนได้”
 
สำหรับแนวทางการทำตลาดของกระดาษรังผึ้งลีลานั้น อรุณบอกว่าในช่วงแรกเขาจะเน้นไปที่การทำตลาดเชิง CSR ในเรื่องของการบริจาคและการให้ความรู้ควบคู่กัน รวมไปถึงวิธีการตลาดแบบไดเร็กเซลส์ หรือขายตรงให้กับโรงงานผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำไรค่อนข้างสูงและต้องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกที่มีราคาแพง อรุณจึงเข้าไปทำตลาดด้วยกลยุทธ์ที่เน้นราคาถูกกว่ากระดาษรังผึ้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และตั้งเป้าขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศในอนาคต
 
“แนวโน้มตลาดในอนาคตน่าจะโตขึ้น เพราะตลาดส่วนใหญ่จะมุ่งแต่อุตสาหกรรม ยังไม่ได้ใส่ในเรื่องของดีไซน์หรือไอเดียเข้าไป ผมเลยมามองว่าถ้าหากเราใส่ไอเดียเข้าไป สามารถต่อยอดธุรกิจได้อีก ยิ่งเป็น SME แล้ว เราหยุดคิดไม่ได้ เราจึงพยายามพัฒนาในส่วนของโปรดักต์ใหม่ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าในเอเชียตอนใต้ยังไม่มีใครทำในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระดาษรังผึ้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยลดต้นทุนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
 
อรุณฝากคำแนะนำทิ้งท้ายว่า ความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SME หากรู้จักต่อยอดจากโปรดักต์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยใส่ไอเดียเข้าไป จากสินค้าธรรมดาก็สร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเปิดตลาดออกไปอีก การคิดใหม่แบบ Big Idea จึงนับเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้กระดาษรังผึ้งลีลาประสบความสำเร็จในวันนี้
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน