​Creative Marketing in New York การตลาดนอกกฎที่ไม่มีใน Google

Text: ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
 




     ถามว่าไอเดียดีๆ จะหาได้จากที่ไหน? แนวทางหนึ่งที่ช่วยได้คือ การเดินทางออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วนำสิ่งที่พบเห็นมาต่อยอด โดยมีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดค้นพบว่า การเดินทางทำให้ผู้คนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนที่นั่งทำงานเฉยๆ นอกจากนี้ การเดินทางท่องโลกเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ยังทำให้เกิด Divergent Thinking หรือการคิดอย่างอิสระ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
 

New York จุดหมายแรงบันดาลใจธุรกิจสร้างสรรค์
               

     ในมุมมองของกูรูนักสร้างสรรค์วงการโฆษณาและการตลาดแบบโมเดิร์น นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ Head of Invention บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด บอกไว้ว่า “นิวยอร์ก” คือ จุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของการออกตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ต้นน้ำของไอเดียธุรกิจระดับโลกถูกรวบรวมไว้ที่นี่ บทเรียน Creative Marketing นอกกฎเหล่านี้ ไม่มีในตำรา และหาไม่ได้จาก Google แต่ได้จากการเดินทางไล่ล่าไอเดียในเมืองที่เต็มไปด้วยความเท่ เก๋ และคูลในทุกตารางนิ้ว  นุวีร์บอกว่า นิวยอร์กเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยไอเดียธุรกิจเจ๋งๆ แหวกแนวทุกหนทุกแห่ง เพราะผู้ประกอบการที่นี่ให้คุณค่ากับไอเดียที่ต้องมาก่อน สอดคล้องกับวิถีของการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ “คุณค่า” ต้องมาก่อน “มูลค่า” เช่น แนวคิดของธุรกิจโบรกเกอร์ขายอสังหาริมทรัพย์ที่นั่น ซึ่งให้นิยามธุรกิจใหม่ไม่เรียกตัวเองว่า“นายหน้า” แต่สร้างจุดขายเป็นอาชีพหาเนื้อคู่ให้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอาชีพที่จะพาคุณไปสัมผัสประสบการณ์ความสุขในที่อยู่อาศัยที่หาไม่ได้จากที่อื่น นอกจากจะต้องมีทักษะความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดีแล้ว คนที่เป็นนายหน้ายังต้องมีบุคลิกภาพการแต่งตัวที่ดี มีสไตล์ตั้งแต่หัวจรดเท้า มีเทคนิคในการพรีเซ้นต์กับลูกค้า 





     เช่นเดียวกับ Brooklyn Barber ร้านตัดผมผู้ชายในนิวยอร์กที่มีจุดขายเป็นมากกว่าช่างตัดผม แต่เรียกว่าตัวเองว่าเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปะบนเส้นผม สื่อสารเรื่องราวผ่านภาพถ่ายในไอจีที่ดูดีมีรสนิยม ลงทุนกับการสร้างบรรยากาศในร้าน และเสื้อผ้าการแต่งตัวสุดเนี้ยบของช่างทุกคนในร้าน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ธุรกิจส่วนใหญ่ในนิวยอร์กล้วนมีสไตล์ของตัวเอง แม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้วีธีขายอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่แค่เปิดร้าน เอาหม้อมาตั้ง เอาโต๊ะมาวาง แต่มีการสร้าง Story Telling ในความเชี่ยวชาญเรื่องเส้น ใช้วัตถุดิบจากออร์แกนิก มีความเป็นอาร์ตในการตกแต่งร้าน โดยสร้างสรรค์ภาพงานศิลปะและแฟชั่นที่ใช้ไอเดียบะหมี่มาทำเป็นเส้นผม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินแพง แต่ใช้ไอเดียและรสนิยม
 

ถึงเวลาฉีกกฎการตลาดแบบเดิมๆ


     วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังยึดติดกับการทำการตลาดแบบเดิมๆ หรือทำตามสูตร นั่นอาจหมายถึงหายนะ ธุรกิจรายเล็กเสี่ยงที่จะถูกกลืนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่สามารถสร้างจุดขายใหม่ แทรกตัวเองให้มีที่ยืนในตลาดได้ โดยยกกรณีศึกษาการตลาดนอกกฎของผู้ประกอบการรายเล็กในนิวยอร์กที่น่าสนใจอย่าง Vanmoof จักรยานแบรนด์ดังที่ไม่ง้อหลักการตลาด 4P ไม่เน้นขายหน้าร้าน ไม่มีโปรโมชัน แถมราคาขายยังไม่ถูก แต่ขายดีมาก โดยใช้ช่องทางขายออนไลน์ สร้างจุดขายผ่านการเลือกเซเลบฯ คนดัง และดีไซเนอร์ที่มีผู้ติดตามในไอจีเยอะๆ ช่วยโพสต์เรื่องราวของจักรยาน Vanmoof ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จากนั้นต่อยอดไอเดียด้วยการทำ Ambient Media นำจักรยานไปเป็นดิสเพลย์จอดตามจุดต่างๆ ทั่วนิวยอร์ก จัดกิจกรรมให้คนเข้ามาร่วมแชร์ถึงความเจ๋งของจักรยาน Vanmoof รวมถึงจับมือกับศิลปินนักออกแบบดีไซน์ลวดลายกราฟิกบนจักรยานแชร์ผลงานต่อในโลกออนไลน์เพื่อสร้างกระแส





     เบื้องหลังธุรกิจไอเดียเจ๋งๆ ในนิวยอร์ก ล้วนแล้วแต่มีการสร้าง Story Telling ที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ร้านขายรองเท้าผ้าใบที่มีเทคนิคสร้างจุดขายไม่เหมือนใคร โดยเป็นแหล่งรวบรวมรองเท้าผ้าใบดังๆ ทุกรุ่นที่เป็นที่ต้องการในตลาด โดยราคาของรองเท้าในร้านจะปรับเพิ่มขึ้นตามความนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อในวันนี้จะถูกกว่า เพราะยิ่งสินค้าหายากเหลือน้อยเท่าไหร่ ราคาเมื่อมาในวันต่อๆ ไปจะยิ่งแพงขึ้น หรือตัวอย่างของไอเดียสร้างสรรค์งานออกแบบของดีไซเนอร์นิวยอร์กที่นำเอาเสื้อลายพรางของทหารผ่านศึกมาสร้าง Story ก็น่าสนใจไม่น้อย ด้วยการนำเรื่องราวความดุดันของทหารที่เสื้อแต่ละตัวเคยผ่านสงคราม จับมาผสานความอ่อนโยนของศิลปะงานปักดอกไม้จนกลายเป็นความแตกต่างในชิ้นงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า





     ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟดริปชื่อดังอย่าง Blue Bottle Coffee ที่ขึ้นชื่อในความพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเมล็ดกาแฟคุณภาพขั้นเทพ ความละเมียดละไมในการดริปกาแฟสดแต่ละแก้วที่ใช้เวลาและขั้นตอน โฟกัสเฉพาะคนที่อยากดื่มกาแฟที่ได้รสชาติแท้ๆ อยากมาเป็นลูกค้าร้านนี้ต้องพร้อมที่จะรอคอยได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของร้านกาแฟ Walter's Coffee ที่มาพร้อมคอนเซปต์ห้องแล็บทดลองเคมี โดยอิงแรงบันดาลใจตัวละครวอลเตอร์ นักเคมีอาชญากรจากซีรีส์เรื่องดังอย่าง Breaking Bad
               

     “การจะสร้างธุรกิจนอกกรอบได้ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Creative Content มากๆ เพราะไอเดียสำคัญที่สุด ถ้าไอเดียดี Content จะไปได้ทุกที่ ทุกสื่อ และการคิดไอเดียต้องคิดให้ถึงราก ถ้าไอเดียไม่มีราก ไม่มีที่มาที่ไปก็เหมือนกับการปลูกถั่วงอกในกระดาษทิชชู ไอเดียที่ไม่มีรากลึก ไม่มีจุดพูดที่แน่นพอ ก็จะล้มง่ายและตายเร็ว”


     ท้ายที่สุด สิ่งที่กูรูนักการตลาดนอกกรอบ อยากฝากบทเรียนจากธุรกิจในนิวยอร์กถึงผู้ประกอบการไทยคือ ถึงเวลาที่เจ้าของธุรกิจต้องปรับมุมมองใหม่ว่า การทำธุรกิจยุคนี้ความคิดสร้างสรรค์ต้องมาก่อนเรื่องเงิน และต้องพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กับไอเดียใหม่ๆ กล้าลองผิดลองถูก
               

     “ธุรกิจของบ้านเราเวลาทำอะไรส่วนใหญ่มักจะคิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก แล้วอยากจะได้กำไรเยอะๆ เช่น จะเปิดธุรกิจเราจะให้คุณค่ากับการลงทุนด้านความคิดสร้างสรรค์น้อยมาก ตรงกันข้ามกับมุมคิดของผู้ประกอบการนิวยอร์กที่จะนึกถึงคุณค่าของไอเดียก่อน โดยวิเคราะห์เจาะลึกว่า ลูกค้าเป็นใคร มีรสนิยมแบบไหน เมื่อเอาความคิดสร้างสรรค์นำ จึงทำให้ธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่จำกัด” นุวีร์ย้ำถึงการทำธุรกิจในยุคนี้ที่ต้องปรับหัวคิด ในวันที่ขนาดของทุน ไม่สำคัญเท่ากับขนาดของไอเดีย 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน