มองโอกาสธุรกิจ ผ่านคนคั่วกาแฟ “มนัสชัย คงด่าน”

Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย




 
     เมื่อธุรกิจร้านกาแฟเป็นที่นิยมจนมีคนเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในตลาดที่นับวันการแข่งขันก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ หลายคนเปิดมาแล้วก็ต้องปิดไป ขณะที่อีกหลายคนหาเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนที่แตกต่าง เพื่อสร้างความอยู่รอดให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน มนัสชัย คงด่าน คือหนึ่งในผู้เลือกจะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเอง หากแต่เส้นทางเดินพาเขาถลำลึกสู่อีกหนึ่งมิติของการทำธุรกิจ ที่หลอมรวมงานกับชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 
     Coffeebark Homeroaster โรงคั่วเล็กๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดแรกที่ต้องการเปิดร้านกาแฟ โดยตั้งใจจะจับกลุ่มคนเลี้ยงหมาเป็นหลัก แต่เมื่อลงมือศึกษาความรู้ ทุกแง่มุมของการทำธุรกิจร้านกาแฟ ทำให้เขารู้ว่าโรงคั่วกาแฟ คือต้นทางความสำเร็จของร้านกาแฟ ซึ่งโรงคั่วดีๆ หนึ่งแห่งสามารถอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านกาแฟหลายต่อหลายแบรนด์ นี่เองที่ทำให้ความคิดของเขาเบี่ยงเส้นทางมาสู่ธุรกิจโรงคั่วแทน ที่สำคัญงานนี้ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่นอกเมืองได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ 




    แผนธุรกิจโรงคั่วของมนัสชัย ไม่ได้บอกตัวเลขกำไร บอกแต่เพียงว่าจะใช้กาแฟกี่โล ขณะที่แผนการตลาดคือไม่ทำการตลาด แต่สุดท้ายทุกอย่างคือมาร์เก็ตติ้งในแบบของเขา ที่เน้นสื่อสารให้คนที่รักและชอบแบบเดียวกับเขาได้มาพบปะพูดคุยกันฉันมิตร กลายเป็นลูกค้าและเพื่อนในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ งานดูแลลูกค้าสัมพันธ์คือการเข้าร่วมกิจกรรมสนุกๆ ในวันสบายๆ กับลูกค้าซึ่งชอบอะไรเหมือนๆ กัน เช่นเดียวกับรสนิยมในเรื่องการชงและดื่มกาแฟ

 
     ช่วงแรกของการทำตลาด มนัสชัยก็เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่อาศัยข้อดีของสื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการนำตัวตนของ Coffeebark Homeroaster ไปแนะนำให้คนรู้จัก โดยใช้เนื้อหาที่สื่อออกไปเป็นกระบวนการในการกลั่นกรองให้ได้ลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ แล้วใช้ลูกค้าเดิมขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ผลิตภัณฑ์ของเขามีเพียง 2 ขนาดคือ 250 กรัม และ 500 กรัม โดยไม่ได้วางขายที่ไหนเลย ทุกคนต้องโทรสั่งก่อนล่วงหน้า 1 วัน โดยเขามีกำหนดส่งของให้ลูกค้าในช่วงวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ซึ่งปัจจุบันโรงคั่วของเขามีกำลังการผลิตได้สูงสุด 300 กิโลกรัมต่อวัน




     แม้วันนี้ธุรกิจโรงคั่วจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะเครื่องคั่วมีราคาถูกลง อีกทั้งยังมีเครื่องคั่วขนาดเล็กสำหรับร้านกาแฟโดยเฉพาะ กระนั้น มนัสชัย ก็ยังเชื่อมั่นว่าเขาจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคงด้วยแนวคิดที่ต้องการโตแบบเล็กเม็ดพริกขี้หนู ที่สำคัญเขาเชื่อว่าการเติบโตของโรงคั่วจะน้อยกว่าการเติบโตของร้านกาแฟ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสการเติบโตของโรงคั่วยังมีสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ในส่วนของร้านกาแฟเอง มนัสชัยก็เชื่อว่ายังมีศักยภาพที่จะโตได้อีกมาก ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะเปิดร้านกาแฟอยู่ที่การเลือกตำแหน่งยืนที่เหมาะกับตัวเอง

 
     มนัสชัยมองว่าความเสี่ยงของธุรกิจกาแฟ ไม่ใช่การที่มีผู้เล่นโดดเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ หากแต่เป็นการประเมินค่าความยาก-ง่ายของธุรกิจนี้ต่ำเกินไป คนส่วนใหญ่ติดภาพหรู ในฐานะลูกค้าร้านกาแฟเก๋ๆ จนคิดว่าการเปิดร้านกาแฟเป็นเรื่องง่าย มีเงินก็ทำได้ แต่ความจริงแล้วทุกธุรกิจล้วนมีความเสี่ยง การลดความเสี่ยงคือการศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ทั้งโอกาส และอุปสรรค เหตุนี้เขาจึงเปิดคลาสสอนร่วมด้วย ซึ่งแม้จะเป็นคลาสสอนศิลปะการชงกาแฟ หากแต่เขาก็พยายามสอดแทรกเบื้องลึก-เบื้องหลังของธุรกิจร้านกาแฟไปด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมีทางหนีทีรอดสำหรับธุรกิจที่เป็นความหวังและความฝันของตัวเอง




     โดยมนัสชัยเชื่อว่าผู้ที่มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับธุรกิจย่อมมีทางรอดเสมอ เช่นเดียวกับเขาที่เริ่มต้นจากความคิดอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟ แต่ท้ายสุดกลับมายั่งยืนอยู่บนเส้นทางของคนคั่วกาแฟแทน ซึ่งเขาบอกว่าไม่คิดอยากให้โรงคั่วของตัวเองโตไปมากกว่านี้ เพราะรู้สึกว่าธุรกิจขนาดที่กำลังเป็นอยู่มีความลงตัว และสร้างความสุขให้กับเขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการแล้ว หากใครอยากรู้รายละเอียด เพื่อเดินตามรอยเส้นทางสู่ความสุขอย่างมั่นคงในงานที่รัก ลองหาหนังสือ “แก้วกาแฟในเย็นวันศุกร์ที่เปลี่ยนชีวิตเรา” มาอ่าน แล้วคุณจะรู้ว่า “ทุกอย่างที่คุณคิดเป็นจริงได้ แค่กล้าที่จะทำ”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน