​Arty & Fern แว่นสั่งตัดตามสไตล์ที่เป็นคุณ






 
     แม้จะมีผู้เล่นอยู่ในตลาดแว่นตามากมาย แต่การเป็น custom made หรือแว่นสั่งตัดที่สวมใส่สบาย เหมาะกับใบหน้าและสไตล์ของผู้สวมใส่ กลายเป็นความแตกต่างที่แบรนด์ Arty & Fern Eyewear ชูเป็นกลยุทธ์และหัวใจหลักในการสร้างจุดแข็งและดึงดูดใจลูกค้า
 

     สองผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง ชนกันต์ อุโฆษกุล และ อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง เปิดเผยว่า เริ่มทำแบรนด์มา 5 ปี แต่ในส่วนของแว่นตาแบบ custom made นั้นเริ่มมาได้ 2 ปีแล้ว ด้วยความรักและชอบสะสมแว่นตาเป็นทุนเดิมจึงเป็นที่มาของการทำเป็นธุรกิจ
 



     “เรา 2 คนเป็นคนรักในแว่นตาและเรียนจบทางด้านดีไซน์มา ตอนแรกมีการทดลองทำแว่นด้วยหลายๆ วิธี จนรู้สึกว่าเราอยากทำแว่นด้วยวิธีที่ถูกต้องจริงๆ เลยไปเข้าคอร์สเรียนที่ประเทศฝรั่งเศษ Eyewear Manufacturing จาก M.O.F. Eyeglasses Craftsmanship school เป็นการเรียนวิธีการทำแว่นแบบดั้งเดิมของประเทศเขา เลยได้ไอเดียกลับมาทำเป็นเซอร์วิสในลักษณะทำแว่นแบบ custom made แล้วแต่โจทย์แล้วแต่รูปหน้าของลูกค้า”
 

     เพราะคำนึงถึงการสวมใส่ได้อย่างสบายที่สุด ทางแบรนด์ บอกว่า แว่นทุกอันจะเป็นการทำแบบขึ้นมาใหม่สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาสำหรับการใส่แว่น โดยจะวัดและเก็บข้อมูลจากสรีระโครงหน้าและศรีษะของลูกค้าแล้วทำการดีไซน์
 




     “การทำสินค้าของเราพูดง่ายๆ ก็จะคล้ายกับการตัดสูท คือเริ่มใหม่หมด ดูโครงหน้า มีการวัด มีการเก็บข้อมูล ไซส์ ให้ใส่ได้พอดีหน้า ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ นอกจากนี้วัสดุที่เราใช้คือ Cellulose Acetate ผลิตจากธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้ เศษฝ้าย เป็นต้น เป็นวัสดุที่โรงงานผลิตแว่นหรืออุตสาหกรรมแว่นใช้กันซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตอยู่แล้ว โดยมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นและไม่หักง่าย”
 

     ด้วยความเป็นงานแฮนด์เมดที่ทำกันแค่ 2 คนในสตูดิโอ ลูกค้าจึงต้องมีการนัดคิวกันล่วงหน้าเพื่อเข้ามาทำการวัดและเก็บข้อมูล ซึ่งระยะเวลาทำแว่นโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ต่อหนึ่งชิ้น
 


     

     “ลูกค้าจะเข้ามาที่ร้านด้วยโจทย์ในใจว่าเขามองหาอะไร บางคนอยากจะแก้ปัญหากับแว่นที่มีอยู่อะไรบางอย่าง บางคนอยากได้แว่นแบบที่หาซื้อไม่ได้ หรือมีปัญหาใส่ไม่พอดี เขาจะมาด้วยโจทย์ๆ นั้น แล้วเขาก็จะมาเลือก material เลือกสีเลือกอะไรต่างๆ กับเรา แล้วเราก็ให้คำแนะนำว่าถ้าคุณมีปัญหาแบบนี้ หรือมองหาแบบนี้ เราจะดีไซน์เป็นแบบไหน เราก็จะเริ่มจากการวัดหน้าเก็บข้อมูลลูกค้า ถ่ายรูปเพื่อไปทำดีไซน์อีกที”
 

  เพราะคนเราไม่มีใครเกิดมาด้วยสายตาที่ดีสมบูรณ์ จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ที่สามารถเติบโตได้ตลอดเวลา อีกทั้งรสนิยมหรือสไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการแว่นที่เป็นเอกลักษณ์ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย


 

     “ลูกค้าของเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลูกค้าที่อยากได้แว่นแบบแปลกมากไม่มีขายในโลก เป็นลูกค้าที่มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง เช่น ต้องการแว่นดอกไม้ หรือแว่นที่ทำขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ และอีกประเภท คือ ลูกค้าที่มีปัญหาในการใส่แว่น เช่น ผู้ชายที่หน้าใหญ่มากๆ เพราะในตลาดไซส์แว่นมันมาตรฐานหรือเป็นแบรนด์ยุโรปที่ทำมาเพื่อคนยุโรปที่มีดั้งจมูก คนไทยส่วนมากด้วยซ้ำที่หาแว่นใส่แล้วใส่ไม่ค่อยสบาย หรือคนที่ใส่สบายก็จะเป็นแว่นที่เชยไปเลย ดังนั้น ตัวเลือกเลยมีน้อยสำหรับคนที่หาแว่นยาก ถ้าเป็นผู้ชายก็อย่างที่บอกว่าหน้าเขากว้างมันจะบีบขมับ ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะมีบางทรงที่ชอบที่อยากได้ แต่ตามท้องตลาดพอหยิบมาใส่แล้วมันอาจจะไม่เข้ากับเขาและไซส์มันไม่พอดี”
 

     แม้จะมีผู้เล่นค่อนข้างมากในตลาดแว่น แต่ทางแบรนด์เลือกที่จะมองไปข้างหน้าและคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจหลัก
 


     

     “เราไม่มองถึงการแข่งขันในตลาด แต่เรามองว่า การ custom มันเป็นส่วนที่เติมเต็มช่องวางของตลาดแว่นเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าแว่นตอนนี้มีหลายแบรนด์มาก ทั้งแว่นแบรนด์แฟชั่นที่เขาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าแต่เขาก็ทำแว่นตาด้วย แต่ของเราเป็นแว่นที่ตอบโจทย์คนใช้งานจริงๆ คนที่ใช้แว่นจริงใส่แว่นเป็นประจำเขาจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราตอบโจทย์ตรงจุดนั้นได้ จุดประสงค์ของการใช้งานของลูกค้าก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่เราเอาไว้ใช้ในการออกแบบ เราดูด้วยว่าลูกค้ามีโจทย์อะไร เช่น ใช้สำหรับเป็นแว่นกันแดด ใช้อ่านหนังสือ อย่างผู้ใหญ่ก็จะใช้เลนส์สายตาหลายระยะ คือมันก็จะมีโจทย์ต่างๆกัน ที่ร้านจะมีบริการวัดสายตาประกอบแว่นอยู่แล้ว ส่วนชั้น 2 เป็นสตูดิโอสำหรับเซอร์วิสเรื่องกรอบแว่นและดีไซน์”
 

     ถึงตรงนี้เจ้าของแบรนด์ Arty & Fern Eyewear บอกว่า เราเชื่อว่าการดีไซน์หรือการออกแบบ นอกจากสวยแล้วยังต้องช่วยแก้ปัญหาหรือว่าทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเขาดีขึ้นด้วย ซึ่งการ custom made สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ โดยไม่ใช่แค่เป็นแว่นที่สวยแต่มันต้องช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้สวมใส่ได้




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง