​เปิดวิธีคิดทำธุรกิจแบบ “ศรีจันทร์” ในยุคที่พยากรณ์อนาคตยาก!







     จากประสบการณ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของ รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของแบรนด์ดัง “ศรีจันทร์” ได้ทำให้เขาพบว่า “การคาดการณ์ล่วงหน้าในระยะยาว” แทบทำไม่ได้เลย เมื่อเทรนด์หรือนวัตกรรมความแปลกใหม่เข้าสู่ตลาด


     เมื่อการพยากรณ์อนาคตไม่เวิร์ก รวิศจึงเลือกที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยการหันมาทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น โดยระดมใช้เครื่องมือต่างๆ ที่โลกดิจิทัลจะอำนวย เน้นการสร้างต้นแบบ (Prototyping) ทดสอบ และเก็บข้อมูลลูกค้ากลุ่มเล็กลง เร็วขึ้น แล้วนำผลที่ได้กลับมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา เพื่อล้วงลึกถึงปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า อันนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าต่อไป นี่คือแนวทางการทำงานของศรีจันทร์ และบริษัทในเครือที่เขาวางไว้อย่างชัดเจน
               

     “อย่าเอาไม้บรรทัดของเรา...ไปวัดคนอื่น” คืออีกคติในการทำงานที่ทายาทศรีจันทร์รุ่นที่ 3 ปลูกฝังลงในตัวพนักงานทุกคน เพราะประสบการณ์ในอดีตสอนว่า การนั่งประชุมอยู่แต่ในห้อง แล้วคิดเองเออเองแทนลูกค้า ผลลัพธ์ที่ได้หนีไม่พ้น...ความล้มเหลว  


     “การเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มันหมายถึงการเอาตัวคุณออกจากศูนย์กลางด้วย นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะคนเรามีอีโก้สูง การคุยกับลูกค้าแบบหัวโล่งๆ ไม่มีการตั้งสมมุติฐานไว้ก่อน เป็นสิ่งที่ต้องฝึกและเรากำลังทำอยู่ในเวลานี้”


     อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยรวิศ บอกว่า “เวลาความเปลี่ยนแปลงมันมาถึง มันไม่ได้มาเคาะประตู แต่มันถาโถมมาเหมือนคลื่นในทุกทิศทาง ทั้งประตู หน้าต่าง พื้น หลังคา ถ้ารอให้ถึงตอนนั้นคุณอาจจะรับมือไม่ไหว ฉะนั้นทำก่อน...ได้เปรียบ”
   

            

     หนทางรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลง นอกจากรักษาธุรกิจดั้งเดิม ยังต้องพัฒนา Business Model ใหม่ๆ คู่ขนานกันไป สำหรับผลิตภัณฑ์แบรนด์ศรีจันทร์ ได้รับการปรับพัฒนาให้ดูสากลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากคอลเลกชันใหม่ Srichand X Asava ผลงานการ Collaboration ของ 4 สุดยอดพันธมิตร คือ หมู อาซาว่า ที่ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น นิค บาโรส เมคอัพอาร์ทิสต์ไทยที่โด่งดังในฮอลลีวู้ด วิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพปลากัดฝีมือระดับโลก และศรีจันทร์ เกิดเป็นพาเลตแต่งตา แก้ม ปาก โดยมีเรื่องราวของปลากัดไทยเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างสรรค์แฟชั่นโปรดักต์ที่ศรีจันทร์ไม่เคยทำมาก่อน
               

     ส่วน Business Model ใหม่นั้น รวิศเปิดเผยคร่าวๆ ว่าเป็นโซลูชันที่ตกผลึกจากการนำ Digital World มาควบรวมกับเทคโนโลยีการผลิตเครื่องสำอาง เพื่อแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ (Inefficiency) ในธุรกิจความงาม หลังจากเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เขาก็พร้อมจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ภายใต้บริษัทใหม่ ในช่วงต้นปี 2561 นี้
               

     “ผมทำธุรกิจเครื่องสำอางมา 10 ปี เห็นความไม่มีประสิทธิภาพบางอย่างซ่อนอยู่ใน Value Chain ที่เราทำงานอยู่ ซึ่งลูกค้าต้องเป็นคนจ่ายให้กับมันเสมอ เราจึงนำเทคโนโลยีส่วนที่อยู่ในมือลูกค้า เช่น มือถือ และเทคโนโลยีการผลิตของเรา มาผสมรวมกันด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ซึ่งเราเชื่อว่าโซลูชันใหม่นี้จะช่วยลดความไม่มีประสิทธิภาพของโมเดลการขายเครื่องสำอางแบบเก่าๆ ขณะที่ลูกค้าเองก็เข้าถึงสินค้าที่มีแวลูมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง”
               

     ทั้งนี้ รวิศให้มุมมองเกี่ยวกับ Digital Transformation ว่า มิใช่การยัดเยียดเทคโนโลยีลงไปในทุกสิ่งที่ขวางหน้า หากแต่เป็นการยกเครื่อง Mindset ของคนที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งทุกองค์กรไม่ว่าใหญ่หรือเล็กล้วนต้องเผชิญหน้าด้วยกันทั้งนั้น    





     “Digital Transformation เป็นเรื่องที่ซีเรียสจริงๆ มิเช่นนั้นธุรกิจคุณจะอยู่ไม่ได้ หากทำตอนนี้ มันยังคงเป็น Transformation เราจะมีเวลาหายใจ ลองผิดลองถูก โอกาสสำเร็จสูงมาก หากทำหลังจากนี้ มันจะกลายเป็น Crisis Management ทุกอย่างจะลนและยากไปหมด โอกาสสำเร็จต่ำมาก การทำให้เร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำตั้งแต่วันที่ยังไม่ต้องทำ...ดีที่สุด วันไหนเริ่มรู้สึกว่าต้องทำเลย นั่นแปลว่าไม่ทันแล้ว”
               

     ในโลกธุรกิจที่นับวันจะอยู่ยากมากขึ้น แต่ถ้าคิดจะอยู่รอดและอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวิศแนะนำวิธีคิดที่ SME สามารถนำไปลองทำตามได้ว่า... 


     “คุณต้องมีความวิตกนิดๆ เวลาตื่นขึ้นมาในตอนเช้าว่า เราจะขายของไปได้สักกี่ปี ต้องคิดทำอะไรใหม่ๆ แล้ว แม้ว่าคุณจะเป็น Google ก็ตาม ภาพหนึ่งที่เตือนใจผมคือ ภาพถนน Fifth Avenue ที่นิวยอร์กในปี พ.ศ.2443 ทั้งถนนเต็มไปด้วยรถม้า มีรถยนต์แค่คันเดียว ผ่านไป 13 ปี บนถนนเส้นเดิม ทั้งถนนเปลี่ยนเป็นรถยนต์หมด มีรถม้าอยู่แค่คันเดียว ถ้าวันนั้นคนขายรถม้าคิดว่าธุรกิจฉันดีแล้ว มีแต่คนใช้รถม้า ธุรกิจก็ปิดตัวไปเรียบร้อย


     ยิ่งตอนนี้คาดการณ์อนาคตได้ยากมาก เราต้องเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่คือความเป็นจริงของชีวิตที่ผู้ประกอบการยุคนี้ต้องทำความเข้าใจ และผมก็มองเห็นแล้วว่าอีก 5 ปีข้างหน้ามันจะมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะแน่นอน”  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย