Fai For Fan ป้ายไฟนี้ เพื่อแฟน (คลับ)

 

เรื่อง  เรไร จันทร์เอี่ยม
ภาพ  ชาคริต ยศสุวรรณ์

     จากกระแสนิยมดังกล่าวได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเวลานี้มีลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับศิลปินมากมายรู้จักเขาดีในชื่อ ‘ปิงป้ายไฟ’ หรือ พลรัตน์ กุลพรศิริกุล สืบเนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อน เขาเกิดไปสะดุดใจกับข้อความหนึ่งที่ถูกโพสต์อยู่บนเว็บบอร์ด ‘ทำป้ายไฟที่ไหน’ จึงอดไม่ได้ที่จะสงสัยไปต่างๆ นานาว่า เจ้าสิ่งนี้หาที่สั่งทำยากหรืออย่างไร หรือว่ามีร้านทำแต่ยังน้อยอยู่ หรือว่าเขาประชาสัมพันธ์ไม่ดี คนถึงไม่รู้ว่ามีอยู่ ในความคิดขณะนั้นเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมากมาย หรือสิ่งเหล่านี้จะเป็นการส่งสัญญาณว่ายังมีช่องว่างในตลาดรอเขาอยู่

       จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พลรัตน์ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากไม่อยากจะละทิ้งโอกาสดีๆ นี้ไป อีกทั้งด้วยพื้นฐานความรู้ ซึ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงทำให้เขามั่นใจว่าสามารถทำได้

      

       สำหรับการทำตลาดในช่วงแรก เขาใช้วิธีเข้าไปโพสต์ ‘รับทำป้ายไฟ’ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ รวมถึงเว็บบอร์ดของตัวศิลปินนักร้อง และหลังจากนั้นก็ได้สร้างเว็บไซต์ www.faiforfan.com ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า โดยชื่อ Fai For Fan นั้น พลรัตน์บอกว่า มาจากคำว่า ป้ายไฟสำหรับแฟนคลับ นั่นเอง

       “ส่วนหนึ่งที่ผมเลือกทำตลาดบนเว็บไซต์ก่อน เป็นเพราะตัวเองพอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้มา เคยทำงานที่บริษัทเว็บไซต์ เลยทำให้พอจะเข้าใจว่าเราจะทำตลาดบนเว็บไซต์ได้อย่างไร งานชิ้นแรกที่ทำไม่ได้มาจากกลุ่มแฟนคลับ จำได้ว่ามีลูกค้ามาจ้างให้เราเขียนคำว่า Home ให้ ดูเหมือนว่าเขาจะเอาไป Present ในชั้นเรียนให้อาจารย์ฟัง

       หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าแฟนคลับเข้ามา เป็นลักษณะบอกต่อๆ กันมากกว่า ยกตัวอย่าง คลับของบี้ เดอะสตาร์ เริ่มจากแฟนคลับคนหนึ่งโทรศัพท์มาสั่งทำป้าย พอเพื่อนเห็นว่าสวย ก็โทรฯ มาสั่งบ้าง จากคนหนึ่งเป็น 5 คน 10 คน พอวันหนึ่งทางตัวคลับ ซึ่งเขามีการรวมกันเป็นกลุ่มนั้น รู้ว่าผมทำก็จะสั่งเข้ามาในนามของคลับ ซึ่งก็ได้ออร์เดอร์เยอะหน่อย”

 

 

       อย่างไรก็ดี ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น ‘เบา บาง แข็งแรง และสวยงาม’ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อของ Fai For Fan หรือปิงป้ายไฟ ถูกแนะนำและพูดถึงอย่างรวดเร็วในโลกไซเบอร์และกลุ่มแฟนคลับ พลรัตน์บอกว่า จุดเด่นสำคัญของป้ายไฟดังกล่าวนี้ เกิดจากความพยายามที่จะออกแบบพัฒนาให้แตกต่างไปจากท้องตลาดทั่วไป

       “คือผมจะมองว่าของคนอื่นเป็นอย่างไร มีจุดบอดตรงไหน แล้วค่อยพัฒนาให้เป็นในแบบของตัวเรา เท่าที่เห็นคือป้ายไฟที่พบในท้องตลาดส่วนมากจะหนา แต่ไม่แข็งแรง ฟังดูอาจจะงง หลายคนคิดว่าหนาก็น่าจะแข็งแรง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ซึ่งตรงนี้อยู่ที่วิธีการผลิต เมื่อเห็นว่าเขาเป็นแบบนี้ ผมก็พยายามทำชิ้นงานของเราให้ออกมาบาง เบา และแข็งแรงด้วย ซึ่งก็กลายเป็นคุณสมบัติของผมที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น”

      

       ขณะเดียวกันในเรื่องของดีไซน์ พลรัตน์เล่าว่า จะเน้นที่ความสวยงามและหลากหลาย ทั้งตัวอักษรและการวางตำแหน่งของหลอดไฟ โดยที่เขาจะเป็นคนออกแบบเอง หรือบางครั้งลูกค้าก็จะออกแบบมาให้ ฉะนั้นเมื่อลูกค้ารู้ว่า Fai For Fan สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ กระบวนการความคิดของลูกค้าก็เริ่มจะเปิดกว้าง เมื่อเทียบกับการไปสั่งทำกับผู้ผลิตรายอื่นๆ เพราะเวลาลูกค้าไปถามว่า ‘ทำแบบนี้ได้ไหม’ หากคำตอบคือ ‘ทำไม่ได้’ ลูกค้าก็จะถามกลับทันทีว่า ‘แล้วทำอะไรได้บ้าง’ ดังนั้น กลายเป็นว่าลูกค้าต้องเป็นฝ่ายตามผู้ผลิต แต่สำหรับ Fai For Fan แล้วไม่ใช่ เพราะไม่ว่าลูกค้าจะต้องการดีไซน์แบบไหน สามารถที่ตอบสนองความต้องการนั้นๆ ได้ทั้งหมด นี่จึงเป็นความแตกต่างอีกข้อที่ทำให้ลูกค้าติดใจที่จะใช้บริการจากผู้ผลิตรายนี้

 

 

“คุณอยากได้อะไร ฝันเพ้อละเมอให้เต็มที่ หน้าที่ของผมคือ ทำฝันให้เป็นจริง อย่าถามว่าผมทำอะไรได้ เพราะถ้าคุณถามแบบนั้น คุณก็จะได้ในสิ่งที่ผมเคยทำ สมมุติคุณไปเชียร์พี่เบิร์ด คุณคงไม่อยากได้ป้ายไฟที่เหมือนๆ กัน 10 คน 20 คน เชื่อว่าแต่ละคนก็ต้องการแบบที่ไม่เหมือนใคร ฉะนั้นผมจึงต้องพยายามทำให้หลากหลาย ต่อให้เป็นป้ายพี่เบิร์ดเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน แต่ก็ต้องทำให้แตกต่างกัน”

       อย่างไรก็ดี ในความเห็นของพลรัตน์นั้น มองว่า ความแตกต่างดังกล่าว คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และปัจจุบันก็หมดยุคสมัยที่ทุกคนจะผลิตสินค้าเหมือนๆ กันแล้วจะขายได้ ถึงแม้ขณะนี้ตลาดป้ายไฟจะยังไม่หวือหวา แต่ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวตามเทรนด์ของการจัดให้มีการแข่งขันประเภทเรียลลิตี้มากขึ้น

        ประกอบกับเวลานี้ นอกเหนือจากป้ายไฟจะถูกนำไปใช้เชียร์ศิลปินในดวงใจแล้ว พลรัตน์บอกด้วยว่า ตลาดยังเปิดกว้างไปยังกลุ่มองค์กรธุรกิจและอื่นๆ อีกด้วย เช่น ใช้ในกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ หรือใช้เป็นป้ายชื่อร้านค้า ตลอดจนถูกนำไปมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ  เช่น วันเกิด วันรับปริญญา เป็นต้น ฉะนั้น Fai For Fan จึงยังมีช่องทางและโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

        ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตาม เมื่อ ‘ไอเดีย’ บวกเข้ากับ ‘ความแตกต่าง’ ย่อมนำมาสู่ ‘โอกาสที่ดี’ เสมอ และ Fai For Fan ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

 

Key to Success

• มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
• พัฒนาธุรกิจด้วยการสร้างความแตกต่าง
• ให้ความสำคัญกับลูกค้า เพื่อตอบสนองทุกความต้องการ


www.faiforfan.com
www.facebook.com/faiforfan
โทร. 08-1654-0112 (ตั้งแต่เวลา 06.30-24.00)

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น