นวัตกรรมทำหนึ่ง...ได้สิบ ทางลัดแจ้งเกิด SME






 
     ในบริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นอกจากการแข่งขันกับคู่แข่งเดิมในตลาดแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมต่อการเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ด้วย “นวัตกรรม” จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการสร้างความแตกต่างและจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจ หากผู้ประกอบการพร้อมจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และมีไหวพริบในการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็จะมีโอกาสขยายตลาดหรือ “แจ้งเกิด” ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนา "นวัตกรรมทำหนึ่ง...ได้สิบ" เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีสากล ให้ผู้ประกอบการ SME ไทย 





     ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลก มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี สภาพสังคมที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง พลเมืองโลกมีการศึกษาและมีอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบคนเมืองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นกลางและผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2030 จะมีประชากรโลกเป็นผู้สูงอายุสูงถึง 1.4 พันล้านคน และเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2050 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ลักษณะการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงและมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะตัว และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น





     ดังนั้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องรู้จักการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างจุดแข็ง จุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์ มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจที่ต้องผ่านกระบวนการคิดเพื่อ “ทำน้อย แต่ได้มาก”





     ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นวัตกรรมคือสิ่งใดก็ตามในชีวิตประจำวันที่แตกต่างและตอบโจทย์ แต่จะแตกต่างอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องตอบ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายด้วย ธุรกิจในโลกนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ตัวธุรกิจ สินค้า/บริการ และลูกค้า แบ่งออกเป็นรายละเอียดย่อยที่สามารถนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ ได้แก่ ส่วนของตัวธุรกิจ ประกอบด้วย Profit Model (รูปแบบโครงสร้างกำไร)การทำธุรกิจให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขายสินค้าได้แพงขึ้น Network (รูปแบบเครือข่าย) สร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับบริษัท อาทิ แบรนด์ร้านอาหารจับมือกับโครงการหลวงเพื่อนำวัตถุดิบมาประกอบอาหารเพื่อสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ Structure (โครงสร้าง) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในระดับกลยุทธ์องค์กร อาทิ การปรับรูปแบบการขนส่ง โดยเปลี่ยนการจ้างพนักงานมาเป็นการใช้บริการบริษัทขนส่งรายครั้งทำให้บริษัทไม่เสียค่าแรงพนักงานเป็นรายวัน แต่ได้กำไรทุกครั้งที่ใช้บริการบริษัทขนส่ง Process (กระบวนการผลิต) เพื่อส่งผลให้การทำงานในระดับ Functional มีประสิทธิภาพมากขึ้น 


     ส่วนที่สอง สินค้า/บริการ เพราะปัญหาของคนเปลี่ยนตลอดเวลาเนื่องจากสังคมเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็น Product Performance (ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์)ใช้นวัตกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ช่วยสร้างคุณค่าด้านประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในการใช้งานของผู้บริโภค อาทิ กระติกน้ำซิลิโคนที่พับเก็บได้เมื่อไม่ใช้ และ Product System (ระบบผลิตภัณฑ์) ปรับปรุงระบบผลิตภัณฑ์หรือการขายเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ งานหรือการซื้อของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 
 
 
     สุดท้ายกับส่วนของลูกค้า ที่ประกอบด้วย Service (การบริการ) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เหมาะสมกับความต้องการผู้ใช้แต่ละกลุ่ม อาทิ ร้านอาหารของฝากชื่อดังมีบริการบรรจุสินค้าเพื่อขึ้นเครื่องบิน  ร้านนวดแผนไทยมีบริการล้างเท้าเพิ่ม หรือ ร้านทำผมมีบริการทำความสะอาดหูเพิ่ม เป็นต้น Channel (ช่องทางการจำหน่าย) สร้างรูปแบบช่องทางการเข้าถึงสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภค Brand (ตราสินค้า) สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าในรูปแบบต่างๆ ตาม Brand DNA ของบริษัท และ Customer Engagement (ความผูกพันกับลูกค้า) ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้าในรูปแบบต่างๆ





     พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สินค้าอาหาร Okusno (คางกุ้งทอดกรอบ) เล่าว่า จากจุดเริ่มต้นของการเห็นส่วนใต้หัวของกุ้งที่ถูกคัดทิ้งระหว่างรับประทาน จนเกิดไอเดียอยากนำมาพัฒนาเป็นของขบเคี้ยว ออกเดินทางสู่สมุทรสาครเพื่อหาผู้ที่จะคัดเฉพาะส่วนคางกุ้งให้ ทดลองผลิตภัณฑ์จนสามารถบรรจุใส่ซองเพื่อจำหน่าย สร้างคาแรคเตอร์ให้สินค้า ชูความเป็นเจ้าแรก พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างศูนย์การค้าพารากอนเพราะตั้งเป้าจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ศึกษาตลาดจนพบว่าจะต้องให้ลูกค้าได้ทดลองชิมรสชาติสินค้าให้ได้ เพราะคางกุ้งเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ลูกค้ายังไม่รู้จัก จากการทดลองชิมและการไปแข่งขันในรายการ SME ตีแตกจนเป็นผู้ชนะนั้น ทำให้สินค้าไต่อันดับชั้นวางสินค้าขึ้นมาอยู่จุดระดับเดียวกับสายตาผู้ซื้อ


     นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 4 ปีครึ่ง ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ปรับเปลี่ยนปริมาณผลิตภัณฑ์เพื่อให้ไม่มากไม่น้อยเกินไปแต่เหมาะสมกับราคา เลือกทำการตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์เพราะเป็นสินค้าที่จับกลุ่มลูกค้าในวงกว้างจึงต้องสร้างการรับรู้ทุกช่องทางแต่เลือกให้สื่อสารให้เหมาะสม ในยุค 4.0 เช่นนี้ ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดคือความไม่ยอมเสี่ยง วันหนึ่งที่ตัดสินใจทำอะไร หลังจากพิจารณาโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและมั่นใจว่าสินค้าตอบ Pain Point ลูกค้าได้แล้วต้องตั้งใจทำ ต้องมีความมุมานะ ดูแลให้ดี ให้สินค้าเติบโต ใส่ใจมากที่สุดจนกว่าจะมั่นใจจริงๆ ว่าอยู่ในตลาดได้ เพราะธุรกิจสามารถโตภายใน 7 วันแต่ก็ล้มได้ใน 7 วันเช่นกัน





     ด้าน คมกฤช บริบูรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ Borriboon Craft เล่าถึงจุดเปลี่ยนของงานจักสานไทยว่า แบรนด์บริบูรณ์นำงานจักสานไทยก้าวข้ามโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของราคา กลายเป็นรูปแบบที่แข็งแกร่งที่ทำให้ช่างฝีมือไทยและอุตสาหกรรมจักสานไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากการเป็นสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมฝีมือการจักสานด้วยไม้ไผ่ พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อถึงจุดที่งานจักสานไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นอย่างจีนได้ จึงต้องมองหาตลาดใหม่ที่นำเอาภูมิปัญญาไทยเข้าไปแก้ Pain Point และตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งาน 


     ญี่ปุ่นเป็นตลาดเป้าหมายที่เข้าไปศึกษาพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต ชาวญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบงานสาน งานฝีมือ แต่ขณะเดียวกันช่างฝีมือญี่ปุ่นเองก็มีคุณภาพมาก ประเทศไทยจึงต้องผลิตชิ้นงานที่มีทั้งคุณภาพด้านฝีมือและมูลค่าเพิ่มด้านการใช้งาน อาทิ กล่องใส่อุปกรณ์ชงชา ที่จะต้องนำไปใช้ในช่วงเทศกาล หรืออาจจะผันไปเป็นกล่องใส่อุปกรณ์ตัดเย็บตามวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น บางครั้งก็มีการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์หรือโค-แบรนด์ดิ้ง (co-branding) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ราคาเทียบเท่าสินค้าแบรนด์เนม สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ตลาดเป้าหมาย และเป้าหมายต่อไปคือยุโรปที่ต้องศึกษารูปแบบการใช้ชีวิต และพิจารณาว่าสินค้าของบริบูรณ์จะเข้าไปตอบโจทย์ด้านใดให้ลูกค้าได้บ้าง บางครั้งนวัตกรรมไม่ต้องซับซ้อนแต่ต้องตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้
 




     สุดท้ายแล้วโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ SME คือ รายได้ไม่คงที่ ในขณะที่ต้นทุนคงที่มีมากเกินไป ซึ่งต้องพยายามผลักให้เป็นต้นทุนตามยอดการสั่งซื้อมากที่สุด วันหนึ่งเมื่อธุรกิจดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดที่รองรับความต้องการตลาดในประเทศได้แล้ว จะต้องเริ่มออกสู่ตลาดสากล ออกไปแข่งขันในระดับที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น นวัตกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เกิดใหม่ แต่ต้องสร้างความแตกต่าง ตอบโจทย์และแก้ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อทำให้สินค้าสามารถอยู่ได้ในตลาดได้อย่างยั่งยืน



 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น