Text : สุรางรัก
Photo : ซอสทัย
เมืองไทยเรามีผลไม้มากมาย แต่หนึ่งในปัญหาที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็คือ ราคาผลผลิตตกต่ำ ขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร การแปรรูปจึงเป็นหนึ่งในหนทางออก แต่จะแปรรูปยังไงให้แตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้มากกว่าจากสิ่งที่มีอยู่ได้ เป็นสิ่งให้ต้องชวนคิด?
ซอสทัย ซอสปรุงรสที่ผลิตจากเนื้อมะม่วงหนึ่งเดียวในไทย จากกลุ่มมะม่วงกวนท่าพลับโรงสีล่าง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา คือ หนึ่งในธุรกิจตัวอย่างที่น่าศึกษา
เพราะบุญนำพา
ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ในยุคที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก ขวัญจิต และ อุทัย จูเภา สองสามีภรรยาวัยเกษียณได้ออกเดินทางขับรถไกลกว่า 16 ชม. จากบ้านที่ฉะเชิงเทรา มุ่งหน้าสู่ตำบลแม่ลาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อขึ้นไปช่วยรับซื้อกระเทียมจากชาวบ้านที่ไม่สามารถนำผลผลิตลงมาขายได้ เนื่องจากติดประกาศเคอร์ฟิวรถขนส่งไม่สามารถวิ่งได้ตามปกติ ไม่น่าเชื่อว่าจากความตั้งใจที่คิดว่าแค่อยากช่วยเหลือ โดยที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจไม่เคยมีมาก่อนได้
“ตอนนั้นเราเพิ่งปลดเกษียณออกจากงานประจำกันมา ก็มีรวมกลุ่มเล็กๆ กับชาวบ้านแค่ 3-4 คน กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาทำมะม่วงกวนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พอโควิด-19 เข้ามา ก็ต้องหยุดชะงักไป ไม่รู้จะทำอะไร พอดีได้ข่าวจากกลุ่มคริสตชนทางภาคเหนือว่ามีชาวบ้านปกาเกอะญอ ที่แม่ฮ่องสอน เดือดร้อน เก็บเกี่ยวกระเทียมมา แต่ขายไม่ได้ เพราะติดเคอร์ฟิว รถขนส่งวิ่งขึ้นไปรับไม่ได้ รอวันเน่าเสียอย่างเดียว ซึ่งเราก็ว่างอยู่แล้ว เลยคุยกันกับสามีว่าถ้างั้นเราลองขับรถขึ้นไปดูกัน ถือโอกาสไปเที่ยวในตัวด้วย จากบ้านใช้เวลากว่า 16 ชม. แวะจอดนอนที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนก่อนคืนหนึ่ง แล้วค่อยขับต่อไป
“จำได้ว่าครั้งแรกพอไปถึงเราก็ช่วยเขารับซื้อมา 690 กก. บรรทุกใส่หลังรถกระบะมา สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจและเป็นภาพจำมาจนถึงทุกวันนี้ คือ เรายื่นเงินให้เขา 29,800 บาท เขาน้ำตาคลอ รู้สึกขอบคุณเรามาก ทั้งที่ก็พูดไทยไม่ได้มาก พอรับซื้อมาแล้วตอนแรกก็ไม่รู้จะเอามาทำอะไร เลยลองให้ชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันทำมะม่วงมาช่วยกันแกะและเอาไปชั่งกิโลขาย กระจายไปตามร้านก๋วยเตี๋ยวบ้าง ร้านขาหมูบ้าง ฯลฯ จนหมด ผ่านไปหนึ่งเดือน ก็กลับขึ้นไปอีก ทำแบบนี้อยู่ 2-3 รอบ จนรอบสุดท้ายรถเสีย หม้อน้ำแตก ต้องพักซ่อมอยู่ที่ อ.ลี้ รออะไหล่มาส่ง 3 วัน 3 คืน เหมือนจะเป็นลางบอกเหตุว่า ไม่ต้องขึ้นมาให้เหนื่อยแบบนี้แล้วนะ เดี๋ยวมันจะมีทางออกอื่นเอง” ขวัญจิตเล่าย้อนที่มาให้ฟัง
จากล้มเหลว สู่ไอเดียธุรกิจใหม่
จากภารกิจช่วยรับซื้อกระเทียมจากชาวบ้าน เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ขวัญจิตและสามี ก็เริ่มกลับมาดำเนินงานกลุ่มมะม่วงกวนตามปกติ จนบังเอิญไปเจอเข้ากับประกาศของหน่วยงาน สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ประกอบการ เพื่ออบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเขียนระบุไปว่า “อยากพัฒนาทำเยลลี่มะม่วง กับพุดดิ้งมะม่วง” จนได้รับคัดเลือก แต่ผลปรากฏเมื่อได้ทดลองทำจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียธุรกิจใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
“เราลองสมัครเข้าร่วมโครงการไป และได้รับคัดเลือก แต่ปรากฏว่าพออาจารย์จาก ม.มหิดลเข้ามาช่วยสอนให้ ทดลองทำกี่ครั้งๆ ก็ทำเป็นเยลลี่มะม่วงไม่ได้สักที จนเหลือเวลาแค่ 3 วันสุดท้าย ต้องทดลองทำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกไปวางตลาดให้ได้ จนสุดท้ายจนแต้มไม่รู้จะทำอะไรดี เลยลองหยิบมะม่วงที่แช่อยู่ในตู้เย็นกับกระเทียมของชาวบ้านที่เราเคยไปช่วยรับซื้อมา และไปซื้อพริกเพิ่มจากตลาด เอามาปั่นรวมกันทำซอสออกมา พอดีเคยเห็นญาติทำน้ำจิ้มสุกี้ขาย ก็น่าจะเอามาดัดแปลงได้ เสร็จแล้วก็เอาไปให้อาจารย์ทดลองชิม อาจารย์บอกว่า ไม่ไหว ก็ต้องไหวแล้ว เพราะไม่มีสินค้าอื่นแล้ว ก็เขียนรายงานเล่มใหม่กันตอนนั้นเลย ทดลองทำไปวางขายก่อน 60 ขวดที่เซ็นทรัลเวสต์เกต จำได้เลยวันที่ 13 กย. 2563 ขายขวดละ 25 บาท ปรากฏว่าพอลูกค้าได้ทดลองชิม เขาก็แปลกใจ แค่ครึ่งวันก็ขายหมด จนต้องโทรสั่งให้สามีช่วยกันกับชาวบ้านทำมาให้เพิ่มอีก 130 ขวด เพราะเรายังมีวัตถุดิบเหลืออยู่ ปรากฏว่าก็ขายหมดอีก ขายอยู่ 3 วัน ทำมาเพิ่มวันละ 130 ขวด ก็หมดทุกวัน จนเริ่มมองเห็นว่าหรือจะเป็นทิศทางใหม่ของเรา ตอนนั้นชื่อแบรนด์อะไร ก็ยังไม่ได้คิดเลย เลยตั้งง่ายๆ ว่า “ซอสทัย” ตามชื่อสามี”
อุปสรรคมีไว้ให้ฝ่าฟัน
จากจุดเริ่มต้นที่คิดอยากช่วยเหลือชาวบ้าน โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด จนนำพามาสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่จากสินค้าเดิม ที่มีแนวทางเหมือนจะไปได้ด้วยดี แต่แล้วทั้งขวัญจิตและสามี ก็ต้องพบกับอุปสรรคที่เป็นเหมือนเส้นบางๆ แต่เกือบทำให้ผลิตภัณฑ์ไปต่อไม่ได้เหมือนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป ที่มีเงินทุนไม่ได้มากนักในช่วงเริ่มต้น
“ทุกอย่างดำเนินมาเหมือนจะไปได้ดีแล้ว แต่ติดปัญหา คือ เราอยากขอ อย. เพื่อกระจายสินค้าไปได้ไกลขึ้น แต่เราไม่ได้มีเงินทุนเยอะที่จะเอามาทำโรงเรือนที่ทันสมัยได้ ทุกอย่างเราทำกันเองเท่าที่ทำได้ ไม่หรูหรา แต่ใช้งานได้ เดิมเรามีโรงเรือนผลิตมะม่วงกวนอยู่แล้ว เราอยากแตกไลน์สินค้าขทำซอสมะม่วงเพิ่มด้วย เพราะทุกอย่างใช้วัตถุดิบเดียวกัน เรามีการแบ่งแยกโซนชัดเจนแล้ว แต่ไปกี่ครั้งๆ ก็ไม่ผ่านสักที เขาบอกว่าให้เลือกได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง
“จนวันหนึ่งเราได้ไปออกงานสตรีสากลประจำจังหวัด จนได้เจอกับท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้มาทดลองชิมซอสของเรา ก็รู้สึกชอบมาก เลยถามว่าจะทำตลาดยังไง เราบอกว่ายังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังติดที่ขอ อย.ไม่ได้ ท่านก็รับเรื่องไว้ จนได้รู้ความตั้งใจจุดเริ่มต้นที่เราทำเพราะอยากช่วยเหลือชาวบ้าน หลังจากนั้นก็นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาที่โรงเรือนผลิตของเรา เพื่อปรึกษาหารือกัน จุดไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข จนในที่สุดก็สามารถทำได้ เราได้ อย. มา จากนั้นก็เลยเป็นใบเบิกทางให้เราได้ไปออกงานตามที่ต่างๆ มีหน่วยงานเข้ามาให้ความสนใจมากขึ้น จนทำให้เราได้รับโอกาสดีๆ ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ได้ไปออกงาน THAIFEX หลายปี จนตอนนี้เริ่มมีลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจติดต่อเข้ามา”
ปรุงรสจากธรรมชาติล้วนๆ
ขวัญจิตเล่าถึงจุดเด่นกรรมวิธีการผลิตซอสมะม่วง แบรนด์ซอสทัย ให้ฟังว่า เป็นการปรุงรสโดยใช้หลักการจากธรรมชาติล้วนๆ โดยต่อยอดมาจากประสบการณ์การทำมะม่วงกวนมาก่อน ที่มักใช้รสเปรี้ยวหวานจากการเลือกใช้มะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ ไปจนถึงระดับความสุกของมะม่วงมาปรุงเป็นรสชาติที่อร่อยลงตัวพอดี
“น้ำจิ้มสุกี้ทั่วไปอาจใช้ความหวานจากน้ำตาลหรือแบะแซ ความเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู ใช้สารเหนียวทำให้เนื้อเกิดความเข้มข้น แต่สำหรับซอสทัย เราใช้การปรุงด้วยวิธีธรรมชาติ มะม่วงที่เรานำมาใช้ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของอำเภอบางคล้า ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับการจดขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัด โดยเราทำมะม่วงออกมาเป็น 2 Step สเตปแรก คือ 1.เก็บจากต้นมา เอาเข้าบ่ม 3 วัน เพื่อให้มะม่วงนิ่มลง แต่ยังมีความเปรี้ยวอยู่ นี่คือ น้ำส้มสายชูของเรา สเตปต่อมา คือ เราเก็บมะม่วงมาบ่ม 5 วัน เพื่อให้สุกเหลือง รสชาติหวานเจี๊ยบ นี่คือ น้ำตาลทรายของเรา จากนั้นเอามาปรุงรสเพิ่มความเค็มนิดหน่อยด้วยเกลือ และก็ใช้กระเทียมจากชาวบ้านที่เราเคยไปช่วยรับซื้อ ที่จนทุกวันนี้ก็ยังรับซื้อมาจากเขา เพื่อเพิ่มความหอม และรสเผ็ดจากพริก ปรุงเป็นรสชาติซอสขึ้นมา มีเท่านี้เลยการผลิตซอสของเรา
“ผลิตภัณฑ์มะม่วงกวนเราก็ใช้วิธีแบบนี้ ถ้าอยากได้เปรี้ยวเยอะ เราก็หยิบส่วนมะม่วงเปรี้ยวมา 70% ถ้าลูกค้าอยากได้เปรี้ยวหวานพอดีกัน เราก็หยิบมาใช้อย่างละครึ่ง ส่วนเปลือกกับเมล็ดที่เหลือก็มีคนขอนำไปทำปุ๋ย EM ต่อ แทบจะไม่ได้ทิ้งอะไรเลย จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบประเภทบริการ หรือ EEC Select Best Service มาตั้งแต่ปี 2563 จนปีนี้เราก็ได้รับเช่นเคย”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ซอสมะม่วงของซอสทัย มีด้วยกันทั้งหมด 3 สูตร ได้แก่ ซอสมะม่วงรสดั้งเดิม, ซอสมะม่วงสามรส และซอสมะม่วงสุกี้ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 70-120 บาท อายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 1 ปีบนเชลฟ์ไลฟ์ กำลังการผลิตต่อปีใช้มะม่วงอยู่ที่ประมาณ 15 ตัน และยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นออกมาอีกเรื่อยๆ รวมถึงช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนอื่นๆ
“ทุกวันนี้เราค่อยๆ เดินแบบก้าวทีละก้าว ไปเรื่อยๆ แต่ไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญ คือ ขณะที่เดินเราจะคอยมองสังคมรอบข้างตลอดเวลา ทุกวันนี้เรายังไม่ได้มีพนักงานประจำ ชาวบ้านที่มาทำงานด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเฉยๆ แต่พอเขาได้มันทำงานกับเรา ทำให้มีรายได้เพิ่ม เขามีความสุขมาก ถึงไม่ได้มีงานทุกวันก็ไม่เป็นไร เขายินดีมาช่วย และรอวันที่จะได้เห็นเราเติบโตขึ้น นี่คือ กำลังใจที่เราได้รับ หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ปลูกกระเทียมที่แม่ฮ่องสอน ทุกวันนี้เราก็ยังช่วยรับซื้อผลผลิตจากเขามาทำซอส เรามองว่าความสุข บางทีอาจไม่ใช่การได้กำไรเยอะๆ แล้วเอาเงินไปทำบุญ เพราะทุกก้าวเดินของเรา เราได้เริ่มทำตั้งแต่ก้าวแรกแล้ว สิ่งต่อไปที่อยากทำ คือ การมองหาพาร์ทเนอร์ให้เข้ามาทำงานด้วยกัน สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่เงินทุน แต่เราต้องการหาบุคลากร และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาไปด้วยกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นต้นน้ำ และกลางน้ำ ทำผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่าย นำรายได้มาสู่ปลายน้ำ คือ ชุมชนและชาวบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้”
และนี่คือ คำทิ้งท้ายจากผู้ประกอบการที่แม้จะเริ่มต้นธุรกิจในวัยเกษียณ แต่ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นได้ ทั้งต่อตนเอง และชุมชนรอบข้าง รวมไปถึงชุมชนอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้ ขอเพียงไม่หยุดคิด และลงมือทำเท่านั้น
ข้อมูลติดต่อ
โทร. 081 927 4274
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี