​เก็บผัก กินชาบู สด! แบบขั้นกว่า เด็ดจากต้นสู่หม้อ @บ้านสวนอบอวลรัก





 

     ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารหากได้วัตถุดิบดี สด ใหม่ รสชาติอาหารที่ได้ก็อร่อยเกินครึ่งไปแล้ว จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันนี้เราจะเห็นร้านอาหารหลายแห่ง พยายามโชว์ให้เห็นถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ อย่างเช่นแปลงผักหลายแห่งที่ปลูกไว้ใกล้กับตัวร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นที่มาของวัตถุดิบ แถมเป็นกิจกรรมเดินเที่ยวชมสวนไปด้วย แต่เท่านั้นอาจดูธรรมดาเกินไปสำหรับในยุคนี้ ถ้าจะเอาให้แน่ใจจริงๆ สู้ลงไปเก็บจากต้นกันเลยดีกว่า! เหมือนเช่นที่ ‘บ้านสวนอบอวลรัก’ ร้านชาบูผักสดจากฟาร์มย่านซอยประชาอุทิศ 14 ที่ให้ลูกค้าสามารถเดินถือตะกร้าเลือกเก็บผักสดได้ด้วยตัวเอง
 
               
     "เริ่มมาจากว่าเราอยากให้ลูกค้าได้รับประทานผักและเห็ดที่สดใหม่และปลอดภัยก่อน ต้องบอกก่อนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนผลไม้เก่าของคุณพ่อคุณแม่ เดิมทีเราทำฟาร์มเห็ดมาก่อน เคยส่งป้อนวัตถุดิบให้กับร้านชาบูชื่อดังขึ้นห้างเจ้าหนึ่ง จนเมื่อเห็ดจากประเทศจีนเริ่มเข้ามาตีตลาดเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้ราคาเห็ดตกลง จึงหยุดส่ง ระหว่างนั้นก็ลดพื้นที่ทำฟาร์มเห็ดลงและหันมาปลูกผักเพิ่มเติมไปด้วย จนมาปิ๊งไอเดียว่าไหนๆ เราเองก็ผลิตวัตถุดิบได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ถ้าลองมาทำร้านชาบูของตัวเองก็น่าจะดี เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว อีกอย่างลูกค้าก็จะได้กินผักและเห็ดสดๆ ด้วย โดยเราเป็นคนปลูกและเก็บมาให้ แต่ด้วยบรรยากาศของพื้นที่ ซึ่งเป็นสวน บางทีลูกค้ามาเห็นเขาอยากลองไปเก็บด้วยตัวเอง เราก็ให้ตะกร้าไปลองเก็บ ชอบอันไหน อยากกินอันไหนก็เก็บเอา โดยไม่คิดตังค์เพิ่ม อยากให้เขารู้สึกเหมือนมากินข้าวบ้านเพื่อน พอคนอื่นเห็นก็อยากลองทำบ้าง บอกต่อกันปากต่อปาก ก็เลยกลายเป็นคอนเซปต์ร้านขึ้นมาว่า ถ้ามากินชาบูที่นี่จะต้องลองมาเก็บผักด้วยตัวเอง ซึ่งบางคนที่มาก็แทบจะไม่เคยได้เก็บผักกินเองเลย พอได้มาลองทำ ก็สนุกกลายเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่ได้ทำร่วมกัน" นพพร นิตย์ยั่งยืน ชายหนุ่มเจ้าของร้านชาบูและอาหาร ‘บ้านสวนอบอวลรัก’ เล่าที่มาของกิจกรรมไฮไลต์ให้ฟัง





สั่งออร์เดอร์ปุ๊บ ยื่นตะกร้าให้ปั๊บ
               

     โดยรูปแบบกิจกรรมที่ให้ลูกค้าเดินถือตะกร้าเข้าไปเก็บผักสดมาใส่หม้อชาบูด้วยตัวเองของร้านบ้านสวนอบอวลรัก เริ่มต้นขึ้นเมื่อลูกค้าเดินมานั่งที่โต๊ะ หลังจากมีการสั่งเมนูชาบูที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว พนักงานจะแนะนำให้ลองไปเก็บผักด้วยตัวเองและยื่นตะกร้าส่งมอบให้ เพื่อให้เลือกเก็บผักที่อยากรับประทานเพิ่มเติม เป็นกิจกรรมฆ่าเวลาระหว่างรออาหารไปด้วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ มีให้เลือกทั้งผักยอดนิยมอย่างผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้งอ่อน และผักพื้นบ้านหายากที่ใช้กินในชาบูได้เหมือนกัน เช่น ตำลึงหวาน ผักหวานบ้าน เมื่อเก็บมาได้ทางร้านจะนำมาทำความสะอาดให้ และเสิร์ฟมาพร้อมกับชุดชาบูที่สั่งไป


     “ปกติในชุดที่ลูกค้าสั่งจะมีผักและเห็ดให้อยู่แล้ว แต่ใครอยากไปเดินเล่น ไปลองเก็บผักด้วยตัวเอง เราก็จะมอบตะกร้าให้ไปลองเก็บมาเอง เพราะต้องบอกก่อนว่าชาบูของเราค่อนข้างใช้เวลาทำนานนิดนึง เพราะน้ำซุปของเราทำหม้อต่อหม้อ ไม่ได้ทำเก็บไว้เหมือนที่อื่น ฉะนั้นหากเขาไม่อยากรออยู่เฉยๆ ก็ไปเดินเล่นเก็บผักได้ โดยเราก็ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม เขาอยากกินอะไรปล่อยอิสระเต็มที่ ที่ทำได้ เพราะเราเองก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก ที่ดินก็เป็นที่ดินของเราเอง เม็ดผักกระปุกหนึ่งร้อยกว่าบาท ปลูกได้ตั้งหลายแปลง แค่เราลงทุนปลูกนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งหากเป็นร้านส่วนใหญ่ที่มีสวน เขาไม่ให้เก็บนะ ดูได้อย่างเดียว อาจด้วยปัจจัยหลายอย่าง ต้นทุน การดูแลรักษา แต่ของเราปลูกลงดินแบบบ้านๆ เลย สารเคมีอะไรก็ไม่ได้ใส่


     นอกจากความสดแล้ว อีกอย่างที่เป็นไฮไลต์ของเรา คือ เราเก็บแต่ผักต้นอ่อนมาใช้ ซึ่งมีรสชาติหวาน กรอบอร่อยกว่า อย่างผักบุ้งจีนต้นเท่าก้านธูปอายุประมาณสิบกว่าวัน เราก็เด็ดมาใช้แล้ว ในส่วนของเห็ดเราก็ปลูกเองหลายชนิด ได้แก่ เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฎาน เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหูหนู แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดให้ลูกค้าเข้าไปเก็บเอง ต้องวางระบบก่อน เพราะค่อนข้างบอบบางพอสมควร แต่ถ้าเป็นเห็ดคงให้เก็บฟรีไม่ได้ เพราะราคาแพงอยู่ (หัวเราะ)”
 




ครอบครัว คือ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย


    นพพรเล่าว่าหลังจากเปิดร้านมาได้เกือบ 2 ปี จากรูปแบบกิจรรมไฮไลต์ที่วางไว้ มีลูกค้ากว่า 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ทีเดียวที่ให้ความสนใจเข้ามากินชาบู และถือตะกร้าออกไปเก็บผักมาด้วย โดยกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบทำกิจกรรมดังกล่าว คือ กลุ่มครอบครัวที่มักมีเด็กๆ และผู้สูงอายุมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมากันในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หากเป็นวันธรรมดาช่วงกลางวันๆ จะเป็นลูกค้าออฟฟิศที่แวะมากินข้าว อาจไม่ค่อยมีเวลาเก็บ              


     นอกจากช่วยเพิ่มความน่าสนใจ สร้างจุดเด่น ความแตกต่างจากร้านชาบูทั่วไปแล้ว เจ้าของร้านชาบูบ้านสวนฯ เล่าให้ฟังอีกว่าการที่มีฟาร์มผักของตัวเองยังช่วยลดต้นทุนการซื้อวัตถุดิบต่างๆ อีกทั้งทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของผักและเห็ดที่ใช้ว่าสด สะอาด ปลอดภัยแน่นอน เป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งในแต่ละเดือนผักและเห็ดที่ปลูกอยู่ในฟาร์มสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ภายในร้านได้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้


     “ผักและเห็ดที่ปลูกเองช่วยให้เราลดต้นทุนการซื้อวัตถุดิบจากภายนอก ทำให้ช่วยประหยัดได้เยอะ และยังมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะปลูกเอง ใช้เอง จะมีก็แค่บางส่วนเท่านั้นที่ซื้อมาเพิ่มจากภายนอก เช่น แครอท กะหล่ำปลี ผักกาดขาว และเห็ดอีก 2 อย่าง คือ เห็ดออริจิ และเห็ดเข็มทอง เพราะต้องปลูกอยู่ในห้องแอร์ และพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ นอกนั้นที่เหลือก็ใช้วัตถุดิบที่ได้จากในสวนทั้งหมด โดยนอกจากชาบูแล้ว เรายังมีน้ำสมุนไพร ขนมหวาน และอาหารอื่นๆ โดยใช้วัตถุดิบที่ได้ตามฤดูกาลด้วย เช่น ข้าวห่อใบบัว ข้าวเหนียวมะม่วง น้ำมะพร้าว ฯลฯ ”



 

อร่อย + คุณภาพ หัวใจสำคัญของร้านอาหาร
               

     จากรูปแบบกิจกรรมที่วางไว้ อาจช่วยดึงดูดและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการมากินชาบูให้กับลูกค้าได้ แต่นพพรกล่าวว่าการจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนอยู่ได้ยาวนาน หัวใจสำคัญของการทำอาหาร ก็ยังคงเป็นความอร่อย และคุณภาพของอาหารที่ดีด้วย สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ บอกต่อ และกลับมาซ้ำ
               

     “ผมมีความรู้สึกจุดเด่นต่างๆ ที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นความแปลกที่ให้ลูกค้าได้ลองเก็บผักด้วยตัวเอง หรือบรรยากาศของสวนธรรมชาติที่หาไม่ค่อยได้ในเมืองอาจทำให้คนอยากมาครั้งแรก แต่ถ้าอาหารอร่อยด้วยจะทำให้คนอยากมาซ้ำอีก ซึ่งหากเรามีแค่ความแปลก ลูกค้าอาจมาแค่ครั้งเดียวและไม่มาอีก เราก็ต้องคอยหาลูกค้าใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งต้องบอกว่าสำหรับร้านที่อยู่ในทำเลแบบนี้ เป็นซอยตัน ไม่ค่อยมีรถผ่าน แถมไม่ได้ติดป้าย ทำโฆษณาหรือการตลาดอะไรมากมาย เป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร
               

     ต้องบอกก่อนว่าผักของเราไม่ได้สวยมากนะครับ สวนของเราไม่ได้งดงามอย่างที่ใครๆ คิดว่าอยากมาถือตะกร้าเก็บผักสวยๆ เขียวๆ ต้นใหญ่ๆ ของเราไม่มีนะ เพราะของเรา คือ สวนจริง ปลูกไว้เพื่อใช้งานจริงไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือฉีดยาฆ่าแมลง อีกอย่างเรามีแปลงผักทั้งหมด 30 กว่าแปลงก็จริง แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถปลูกทั้งหมดให้พร้อมกันทีเดียวได้ เพราะต้องบริหารจัดการสต๊อกด้วย ต้องหมุนเวียนกันไป ไม่งั้นใช้ไม่ทัน นี่คือ เหตุผลที่เราไม่อยากติดป้ายแนะนำให้เขาเลี้ยวรถเข้ามา และต้องผิดหวังกลับไป ผักไม่เห็นงาม สวนไม่เห็นสวยอย่างที่คิดไว้เลย นี่คือ สิ่งที่ผมพยายามบอกกับทุกคนไว้ในเพจเสมอ
 




มีอะไรให้กินบ้าง?
               

     มาถึงตรงนี้แล้วหากใครอยากมาลิ้มลองความอร่อย หรือเดินถือตะกร้าเก็บผักสดๆ มาใส่ชาบูด้วยตัวเอง เซ็ตเมนูชาบูของบ้านสวนอบอวลรักก็มีให้เลือกกันหลายระดับราคา เริ่มต้นตั้งแต่ 179 – 599 บาท จะเลือกเป็นเซ็ตรวมทั้งเนื้อสัตว์+ผักและเห็ด หรือแยกสั่งเฉพาะเนื้อสัตว์ ผัก และเห็ดที่ชอบก็ได้ มีให้เลือกทั้งชุดเนื้อหมู ชุดทะเล และผักรวม โดยน้ำซุปชาบูที่นี่มีให้เลือกถึง 8 ชนิด ทำสดแบบหม้อต่อหม้อ ที่ได้รับความนิยมมากเรียกว่ามาแล้วต้องสั่ง คือ น้ำซุปปลาย่างญี่ปุ่น และน้ำซุปต้มยำน้ำข้น นอกจากนี้ยังมีน้ำสมุนไพร และอาหารอื่นๆ ตามฤดูกาลที่ใช้วัตถุดิบจากในสวนมาเป็นปรุงเป็นเมนูต่างๆ ด้วย อาทิ ลาบเห็ดโคนญี่ปุ่น ข้าวห่อใบบัว ส้มตำไหลบัว ข้าวเหนียวมะม่วง
               

     “การกินชาบู ก็เหมือนการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างหนึ่งของครอบครัวที่ทุกคนต้องช่วยกันเด็ดผัก ใส่เห็ด ใส่เนื้อสัตว์ลงไป การที่เขาได้ออกไปช่วยกันเก็บผักมาเอง ก็ยิ่งช่วยสร้างให้เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าเราอาจสร้างจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้าขึ้นมาได้ แต่หัวใจสำคัญของร้านอาหาร ก็คือ ความอร่อย และคุณภาพของอาหารที่ดี ดังนั้นนอกจากวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง เวลาเลือกใช้วัตถุดิบจากภายนอกเพิ่มเข้ามา เราจะเลือกใช้ของที่ดีที่สุด อย่างตัวเกี๊ยวปูเกี๊ยวกุ้งที่เลือกใช้ ราคาส่งจากโรงงานมีให้เลือกตั้งแต่ 2-7 บาท เราก็เลือกตัวที่ดีที่สุดมาใช้ อาหารเราก็ทำเองนะครับ ไม่มีพ่อครัว เรากินเองยังไง ก็ทำให้ลูกค้าแบบนั้นเหมือนกัน ฉะนั้นมั่นใจในคุณภาพได้อย่างแน่นอน”





Facebook : บ้านสวน อบอวลรัก



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย