​ธุรกิจอีเวนต์ เดินหน้าอย่างไร? ถึงจะสตรองในยุคดิจิทัล







     ธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือที่เราคุ้นกันดีในชื่ออีเวนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่อยู่ในกลุ่มไมซ์ (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions หรือ Events) โดยมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท นับเป็นหนึ่งแรงหนุนสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอยู่ในวันนี้ การได้พูดคุยกับ เสริมคุณ คุณาวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) ทำให้ได้เห็นความน่าสนใจอีกมากของธุรกิจอีเวนต์ยุค 4.0  


     “อุตสาหกรรมอีเวนต์ มีมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้คาดว่าน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 5-6 เปอร์เซ็นต์ เราทำหน้าที่ส่งเสริมเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น และมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไป เราไม่ใช่อุตสาหกรรมขั้นต้นแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไปผลักดันอุตสาหกรรมอื่นให้เติบโต และยังเป็นคนจัดงานที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยอีกด้วย”


     เขาบอกความสำคัญของธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงานที่ยังคงเติบโตไปตามสภาวะเศรษฐกิจ และล้อไปกับอุตสาหกรรมที่เป็นศักยภาพของประเทศ เช่น งานด้านการท่องเที่ยว อาหาร รถยนต์ ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเรามีความเข้มแข็ง และเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตดี ทำให้มีการจัดงานเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา


      ทั้งนี้ ด้วยไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การซื้อของผ่านออนไลน์เยอะขึ้น ความจำเป็นในการไปร้านค้าปลีกลดลง คนมีความอดทนในการรอน้อยลง การเสพสื่อกระแสหลักก็ลดลงเช่นกัน นั่นคือปรากฏการณ์ที่ทำให้ธุรกิจอีเวนต์ต้องปรับตัว โดยจัดงานที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีการเชื่อมคอนเทนต์ไปสู่ออนไลน์และช่องทางอื่นๆ ด้วย





     “ออนไลน์เข้ามา ถามว่าอีเวนต์จะตายไหม ไม่ตาย เพราะออนไลน์ก็คือออนไลน์ ไม่เหมือนคุณไปมีประสบการณ์จริงแถมประสบการณ์ที่ว่ายังสามารถเอามาแชร์ในออนไลน์ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นงานอีเวนต์จะไม่ได้ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มไพรเวทอีเวนต์ เช่น การจัดงานวันเกิด ที่จะยังมีการใช้เงินเพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดอีเวนต์ขององค์กรระดับภูมิภาค (Regional Corporate Events) ซึ่งยังคงเติบโตมาก และการจัดอีเวนต์ที่เชื่อมโยงกับออนไลน์ นี่คือเทรนด์ที่เกิดขึ้น”


    อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้ว ยังมองว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งอยู่มาก สามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติได้


     “อย่างสิงคโปร์ก็พยายามจะมาสู้เพราะเห็นโอกาสในตลาดแต่ก็สู้ไม่ได้ ถ้าสู้ได้คงทำสำเร็จไปนานแล้ว เพราะว่าอย่างอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ส่งบริษัทอีเวนต์เข้ามาบ้านเราเป็น 10 ปี แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าตลาดได้เท่าไร เหตุผลเพราะความเข้มแข็งของบริษัทไทย โดยต่างประเทศเขาอาจจะมีระบบงานดี ประสบการณ์ดี แต่ว่าไทยเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก ดูอย่างงานโฆษณาบ้านเราก็ไปได้รางวัลระดับโลกมามากมาย งานสร้างสรรค์ไทยไม่ค่อยแพ้ชาติใดในโลก ฉะนั้นพอต้นทุนของบริษัทต่างชาติที่สูงกว่า เวลาเกิดการแข่งขันที่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างความครีเอทิฟกับราคา เขาก็อาจสู้เราไม่ได้” เสริมคุณ บอกจุดแข็งของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจอีเวนต์ที่ยังเป็นแต้มต่อสำคัญอยู่วันนี้



     

     แม้ยังมีความได้เปรียบและการแข่งขันก็ไม่ได้รุนแรงไปจากเดิมนัก แต่นายกสมาคม EMA ก็บอกเราว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยพัฒนาตัวเองให้มีความเป็นสากลมากขึ้น มีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งการปรับตัวในเรื่องคุณภาพงาน และมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล จะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในยุคต่อจากนี้


     “ในฐานะสมาคมเราจะผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ไปสู่การเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยจะมีการจัดอบรมการเป็นออร์แกไนเซอร์มืออาชีพอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ อย่าง การจัดอีเวนต์อย่างปลอดภัย การจัดกรีน   อีเวนต์ การจัดอีเวนต์ที่มีมาตรฐาน เหล่านี้ เป็นต้น สำหรับความท้าทายที่ผู้ประกอบการจะเจอนับจากนี้ นอกจากการปรับตัวไปสู่ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น เช่น เทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้าซึ่งไม่อยู่ในงานสามารถเข้ามาร่วมงานอีเวนต์ได้แบบอินเตอร์แอ็กทิฟ การนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ความเป็นจริงเสริม มาใช้กับงานอีเวนต์ รวมถึงเรื่องพื้นฐาน อย่าง ระบบลงทะเบียน พูดง่ายๆ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เป็นสามัญมากขึ้น”


     ส่วนคนที่จะเข้ามาในตลาดนี้ เขาบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์และการเข้าใจศิลปะเหมือนประตูด่านแรก แต่ปราการสุดท้ายคือ การมีวินัยในการบริหารจัดการ โดยต้องเป็นนักจัดการที่ดี ต้องแก้ปัญหา และไม่วิตกกังวล สามารถโอนอ่อนไปตามสถานการณ์ได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะประสบความสำเร็จในสนามนี้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน