พศิน ลาทูรัส ก้าวใหม่ NaRaYa ในยุคทายาทธุรกิจหัวใจ Motorsport





 

     จากนักแข่งรถมืออาชีพที่คว้าชัยมาหลายสนาม วันนี้ พศิน ลาทูรัส ท้าทายตนเองในสนามชีวิตอีกครั้ง กับการบริหารธุรกิจของครอบครัว NaRaYa ที่มีอายุแบรนด์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ทายาทหนุ่มในฐานะ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ได้นำไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยวางรากฐาน การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันสมัย และติดสปีดให้กับธุรกิจของ NaRaYa


เมื่อต้องกลับมารับช่วงกิจการต่อ


     ตั้งแต่เด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่บอกว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไร ไม่ต้องมาทำธุรกิจของที่บ้านก็ได้ หาสิ่งที่ชอบ แล้วทำไป ผมถึงได้เริ่มต้นแข่งขันรถก่อน หลังจากเรียนจบ Business Management ที่อังกฤษ จึงได้กลับมาช่วยครอบครัวอย่างเต็มตัว ความจริงผมกับ NaRaYa ก็เป็นเหมือนพี่น้องที่โตด้วยกันมา เพราะ NaRaYa ร้านแรกเปิดก็เป็นวันที่ผมเกิดพอดี พอมาทำงานเต็มตัว ก็ต้องจัดระเบียบตัวเองมากขึ้น เพราะสิ่งที่เรียนมามันเป็นแค่ทฤษฎี ซึ่งแตกต่างมากเวลาอยู่หน้างานจริง 
 

ความท้าทายแรกที่เจอคืออะไร 


     โปรเจกต์แรกที่ผมได้รับมอบหมายคือ การขยายคลังสินค้า คุณพ่อคุณแม่ต้องการคลังใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจได้ 10 ปีขึ้นไป เลยไปทำการศึกษาระบบแวร์เฮาส์ แล้วเอาไอเดียมานำเสนอ พอทุกอย่างผ่าน ท่านก็ให้ผมเป็น Project Manager ตอนนั้นได้งบมากว่า 900 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างคลังใหม่บนพื้นที่กว่า 50,000 ตารางเมตร ด้วยบริษัททำทั้งผลิต จำหน่าย และค้าปลีก ฉะนั้นครึ่งหนึ่งของคลังเราจะแบ่งเป็นโซนสำหรับรับเข้าคิวซี จัดเก็บ และจ่ายวัตถุดิบพวกผ้า ซิป กุ๊น ให้กับโรงงาน และชาวบ้านที่เป็นช่าง อีกโซนจะเป็นฝั่งรับเข้าคิวซี จัดเก็บกระเป๋าที่สำเร็จรูปแล้ว ทุกอย่างได้รับการจัดการอย่างเป็นมาตรฐาน มีโฟลว์งานที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดยมีระบบการจัดเรียงลำดับ (Sorting) และสายพานลำเลียงเข้ามาช่วยตอบโจทย์การทำงาน พนักงานจะได้รับการสนับสนุนให้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งไปเลย ที่สำคัญข้อมูลทุกอย่างจะถูกจัดเก็บเป็นดิจิทัล ทำให้เราสามารถเรียกข้อมูลดูได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ช่วงที่คลังใกล้จะเปิด เราทำงานจนลืมวันลืมคืน เรียกว่าไปนอนกันที่คลังทีเดียว เพราะถ้าของไม่ออกจากคลัง ก็ไม่มีของขายหน้าร้าน ก็เป็นประสบการณ์ลุยๆ ที่สนุกดี เสร็จแล้วก็ยังไม่โล่งนะ ต้องกลับมาดูมาร์เก็ตติ้งต่อ เพราะเราไม่ใช่ One Man Show ต้องหาคน และต้องสร้างทีมที่ดี  
 

วางแผนการตลาดไว้อย่างไร


     เราเปิดแผนกมาร์เก็ตติ้งขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อก่อนที่ NaRaYa เติบโตมาได้ ผมเข้าใจว่าเพราะโลเกชัน และ สินค้าเป็นหลัก ไม่มีการใช้สื่อ หรือใช้ดารามาคอยถือของ เมื่อโลเกชันเราดี ลูกค้าซื้อของไปแล้วประทับใจในคุณภาพของสินค้า และราคาที่จับต้องได้ ก็ไปบอกต่อกันเรื่อยๆ จนมันบูมขึ้นมา คนจีนเรียกเราว่ามั่งกู่เปา แปลว่า...กระเป๋ากรุงเทพฯ ถ้ามาเมืองไทยต้องซื้อกระเป๋า NaRaYa กลับไปฝากเพื่อนๆ ญาติๆ ซึ่งผมภูมิใจมาก


     วันนี้มันมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ เยอะมาก พวก Social Media, Influencer ช่องทางการชำระเงิน และช่องทางการส่งของ มันเปลี่ยนไปเยอะและเร็วมาก เราจะต้องตามให้ทัน ก่อนหน้านี้เราเปิดร้าน NaRaYa คอนเซปต์ใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยรวมเทคโนโลยีค้าปลีกหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการช้อปปิ้งให้กับลูกค้า เช่นถ้าลูกค้ามาซื้อสินค้า แล้วสินค้าเกิดหมด แต่มีที่สาขาอื่น เราสามารถส่งของตามหลังไปให้ลูกค้าถึงที่โรงแรมได้ หรือหากลูกค้าเดินทางกลับประเทศไปแล้ว เราก็จะส่งสินค้าไปให้ถึงบ้านไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนก็ตาม ถือเป็นอีกบริการที่เราพัฒนาขึ้นมา เพื่อลดข้อจำกัดและสร้างโอกาสทำให้ลูกค้าเป็นเจ้าของสินค้าได้ง่ายขึ้น สิ่งที่มันน่ารักคือ พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนเอเชีย เวลาไปเที่ยวที่ไหน เราจะชอบคิดถึงญาติๆ เพื่อนๆ แล้วสินค้าของ NaRaYa ไม่แพง ลูกค้าก็จะซื้อทีจำนวนมาก บางทีไม่รู้จะเอาไปให้ใครหรอก แต่ซื้อไปเผื่อไว้ก่อน
 




ภาพของแบรนด์ NaRaYa จากนี้จะเป็นอย่างไร 


     เราตั้งใจจะเปิดเป็น NaRaYa Group โดยนอกจากแบรนด์หลักอย่าง NaRaYa เรายังมีแบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น NARA แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับตกแต่งระดับพรีเมียมสำหรับผู้ชาย LaLaMa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งสไตล์โบฮีเมียน Aphrodite แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับตกแต่งระดับพรีเมียมสำหรับผู้หญิง และ Evangelisa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งจากผ้าไหม โดยแต่ละแบรนด์จะมีคาแร็กเตอร์ มีเซกเมนต์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าบางแบรนด์จะใช้วัตถุดิบที่พรีเมียมขึ้น แต่ว่าเรายังคงคอนเซปต์หลักของ NaRaYa อยู่คือ สินค้าทุกตัวต้องราคาเข้าถึงได้ และทุกแบรนด์จะใช้วิธีเปิดตัวในร้าน NaRaYa ก่อน เพื่อเป็นการแนะนำตัวกับลูกค้า แล้วในอนาคตเราก็อยากจะมีเป็นร้านสแตนด์อโลนของแต่ละแบรนด์


     โดยปีนี้ถือเป็นปีแห่งการทรานส์ฟอร์มของ NaRaYa อย่างแท้จริง โดยหันมาเปิดร้านที่มีขนาดเล็กลง กระจายไปตามโลเกชันต่างๆ อย่างที่เชียงใหม่และภูเก็ต จะออกแบบร้านให้มีคอนเซปต์ที่แตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ที่ตั้งของร้าน แต่ยังคงลุค NaRaYa ไว้ อย่างคอนเซปต์ลักชัวรีที่เซ็นทรัลเวิลด์ หรือคอนเซปต์ร้านริมชายหาดที่จังซีลอน ซึ่งครึ่งหนึ่งของร้านแบ่งเป็นโซน NaRaYa อีกครึ่งเป็น LaLaMa ซึ่งเสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมียนเหมาะสำหรับใส่เดินชายหาด ก็พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก
 

เป้าหมายต่อไปคืออะไร


     ตลาดหลักของ NaRaYa เป็นประเทศจีน เพราะประชากรเขาเยอะ แต่เรามีลูกค้าญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่เยอะไม่แพ้กัน เราจึงมีแผนตั้งใจจะเป็น Global Brand ให้ได้ภายใน 5 ปี เราอยากจะไปเปิดร้าน NaRaYa ณ เมืองแฟชั่นของโลก เช่น มิลาน ลอนดอน มันคือความฝัน เราเริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆ เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ก็อยากจะเติบโตไปมากกว่านี้ ไปที่ไหนก็ได้ที่สามารถอวดฝีมือของชาวบ้านที่เป็นช่างฝีมือของเรา เพราะกระเป๋าทุกใบ ไม่ว่าใบเล็กหรือใหญ่ ยังคงเป็นแฮนด์เมด ฝีมือคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านยังคงนั่งเย็บกันอยู่ตามบ้านบนภูเขา แล้วมารวมกันเป็นกระเป๋าหนึ่งใบ แต่เมื่อเป็น Global Brand งานคงต้องเยอะขึ้น เสน่ห์ความเป็น NaRaYa ต้องปรับให้เข้ากับแต่ละประเทศ แต่ละโซน แต่ละทวีป ที่มีพฤติกรรมการใช้สินค้าไม่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ดีไซน์ให้ชัดเจนขนาดนั้น
 

ความท้าทายและอุปสรรคของการทำงาน


      อุปสรรคที่ผมคิดว่ามันยากคือ การเซ็ตอัพหลังบ้าน เรื่องการจัดส่ง การจ่ายเงิน มันเป็นระบบที่ผมมองว่าเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับบริษัทเรา เพราะเมื่อก่อน NaRaYa เป็นธุรกิจครอบครัวมันเติบโตมาได้ถึงจุดๆ หนึ่ง แต่ตอนนี้ผมว่าเราต้องเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะการไปในช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าถึงลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น


         
      
นำเทคนิคการแข่งรถมาปรับใช้กับการทำธุรกิจอย่างไร


     ทำธุรกิจคุณต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะการแข่งรถ แต่ละโค้งไม่มีอะไรเหมือนเดิม ทำงานทุกวันมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาตลอด แต่เรามีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง เมื่อรู้เป้าหมายแล้วก็ลุยกันไป ยิ่งแข่ง ยิ่งมีประสบการณ์ ยิ่งทำงาน ก็ยิ่งเห็นอะไรใหม่ๆ ที่จะนำมาปรับใช้ เช่น Social Commerce,  AI ตอนนี้บริษัทกำลังเติบโต ต้องลงทุนเยอะทั้งงบประมาณและเวลาส่วนตัว ซึ่งบางครั้งก็ต้องมีการเสียสละบ้าง หลังจากนี้คงจะเป็นการขับรถเล่นๆ ขับสนุกๆ มากกว่าที่จะสร้างผลงาน เพราะผมมีผลงานที่ค่อนข้างแฮปปี้แล้วในฐานะนักแข่งรถมืออาชีพ สิ่งที่สำคัญสำหรับผมตอนนี้คือ ธุรกิจ เพราะผมเป็นลูกคนเดียว ผมอยากจะเห็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมาไปได้ไกลกว่านี้ และผมเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท ตอนนี้จึงขอทุ่มทำธุรกิจก่อน ส่วนการแข่งรถ ยังไม่ทิ้ง ผมยังคิดถึงเสมอ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย