จับกระแส Aging Society ทำ “อาหารผู้สูงวัย” ให้ว้าว!

Text : Mata Ch.





Main Idea
 
  • ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นี่กลายเป็นตลาดและโอกาสของผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าและบริการต่างๆ ออกมาตอบสนองคนกลุ่มนี้
 
  • หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตาคือ อาหารผู้สูงวัย แต่จะทำอย่างไรให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ และคนทานอย่างผู้สูงวัยต้องกด Like ไปหาคำตอบกัน





     ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดกันว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่วัยเกิน 60 ปีขึ้นไป จะสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563  และในปี 2573 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 17.6 ล้านคน (26.3%) ก่อนที่ปี 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน (32.1%)


     การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลเมืองผู้สูงวัย ถูกมองเป็นทั้งตลาดและโอกาส โดยเฉพาะผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบสนองตลาดวัยเก๋า แต่จะทำอาหารแบบไหนให้ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ และคนทานอย่างผู้สูงวัยยังต้องร้องว้าว





     การได้พูดคุยกับ 2 นักวิจัย ดร.พัชรี กิตติสุบรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนา บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด  และ ดร.สำราญ ปราบภัย นักวิจัยอาวุโส บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจในเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบอินไซด์ของผู้สูงวัยได้อย่างแท้จริง


     “สังคมปัจจุบันมีผู้สูงวัยมากขึ้น หลายคนจึงอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมาตอบสนองคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาหารของผู้สูงวัยจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับคนวัยนี้ เช่น ไขมันต่ำ คอเลสเตอรอลต่ำ โซเดียมต่ำ และรับประทานง่ายแม้ไม่มีฟันเคี้ยว นั่นทำให้พบว่าอาหารของผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะเป็นพวกข้าวต้มเหลวๆ ซึ่งบางทีรสสัมผัสมันไม่ได้ เพราะถึงแม้เป็นผู้สูงวัยแต่ก็ต้องยอมรับว่าเขายังมีความรู้สึกว่าการเคี้ยวเป็นหนึ่งในสุนทรียะในการรับประทานอาหารอยู่” หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนา ซีพี ฟู้ดแล็บ บอกถึงหนึ่งในปัญหาที่มองเห็น


     แต่จะทำอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ การวิจัยและพัฒนาจึงเข้ามาช่วยปลดล็อก เขายกตัวอย่างข้าวต้มผู้สูงวัยที่ซีพี ฟู้ดแล็บพัฒนาขึ้นร่วมกับทีมอาจารย์จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย  ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ผู้พัฒนาเจลลี่โภชนาในโครงการนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ที่เกิดจากพระราชดำริและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของในหลวง ร.9 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวและการกลืน มาผนวกกับความเชี่ยวชาญของซีพี ฟู้ดแล็บ ในการพัฒนาอาหารพร้อมรับประทาน เลยกลายเป็น ข้าวต้มผู้สูงวัยแช่เยือกแข็ง (Frozen) ที่เป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่างพวกผักผลไม้มาขึ้นรูปใหม่ ให้เนื้อสัมผัสที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวกลืนโดยเฉพาะ ที่สำคัญมีการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยการเติมสารอาหารที่จำเป็นเข้าไปด้วย เช่น วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อผู้สูงวัย ซึ่งร่างกายปกติจะดูดซึมยาก และอาหารที่ทำมาขายทั่วไปก็มีสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนวัยนี้





     ผลิตภัณฑ์ใหม่จึงต้องโจทย์ทั้งรสชาติที่ถูกลิ้น รสสัมผัสที่ถูกใจ และยังได้สารอาหารที่เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกายอีกด้วย


     เมื่อถามถึงข้อควรคำนึงในการพัฒนาอาหารสำหรับผู้สูงวัย นักวิจัยแห่งซีพี ฟู้ดแล็บ บอกเราว่า หลักๆ คือต้องพิจารณาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย โดยต้องเข้าใจก่อนว่าคนวัยนี้ต้องการสารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไร  และปัญหาของคนวัยนี้มีอะไรบ้าง เช่น เคี้ยวกลืนลำบาก ระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารมีปัญหา ทำให้ท้องอืดและดูดซึมได้น้อยลง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ SME สามารถหาได้จาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแนะนำว่า ให้เลือกทำสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแสและมีโอกาสในอนาคต โดยสามารถพัฒนาตามองค์กรใหญ่ๆ ที่ได้นำร่องไว้ให้แล้ว





     “อย่างตอนนี้ SME รู้ว่าเทรนด์ผู้สูงวัยกำลังมา ซึ่งเราได้พัฒนาล่วงหน้าไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน  SME จึงสามารถทำตามเทรนด์นี้ได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิดลองถูก หรือเสี่ยงกับการวิจัยที่หนักมากในช่วงเริ่มต้น โดยจากนี้เขาอาจจะลงทุนกับงานวิจัยนิดหน่อยและสามารถสร้างรายได้ไปได้เลย เพราะเหมือนมีคนเปิดทางไว้ให้แล้ว”


     ส่วนในอนาคตพวกเขายังเตรียมพัฒนาอาหารผู้สูงวัยประเภทอื่นๆ เช่น เบเกอรี่ ที่ยังคุณค่าทางโภชนาการและรสสัมผัสที่เหมาะกับผู้สูงวัย ตลอดจนครอบคลุมปัญหาอื่นๆ เช่น กลุ่มอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อม เป็นต้น
SME รายไหนที่อยากทำอาหารผู้สูงวัยให้ว้าว ก็ไปเรียนรู้จากพวกเขาได้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น