สู้แบบเดิมไม่ได้! รู้จัก ‘ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต’ พลิกโลก SME ด้วยนวัตกรรม



Main Idea
 
  • อุตสาหกรรมอาหารยังอยู่ท่ามกลางความท้าทาย ถ้าจะสร้างแต้มต่อในการแข่งขันได้ ผู้ประกอบการต้องนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย
 
  • ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตคือ One-Stop Service ให้บริการครบทั้งศูนย์วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างครบวงจร นี่คืออาวุธใหม่ที่จะพลิกโลกธุรกิจ SME ด้วยนวัตกรรม


     “นวัตกรรม” ยังเป็นโจทย์ท้าทายของกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ได้

     ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) บอกเราว่า หลายประเทศอย่าง เดนมาร์ค ไต้หวัน หรือนิวซีแลนด์ ประเทศเหล่านี้ล้วนทำเกษตรมาก่อนทั้งกัน แต่เขาสามารถสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับประเทศของเขาด้วยการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราต้องนำความรู้เหล่านี้มาใช้ให้มากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารขึ้นมา

     โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ และแม้แต่ผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ที่จะเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่นี้ให้สมบูรณ์ขึ้น




     ยกระดับธุรกิจที่ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต

     
หนึ่งในจิ๊กซอว์ที่เติมภาพชัดให้อุตสาหกรรมอาหาร คือ ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food Lab ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส เพิ่งแถลงข่าวความร่วมมือจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัส และศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ไปสดๆ ร้อน  




     โดย     ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า นี่เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มของฟู้ดอินโนโพลิส โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฟู้ดอินโนโพลิส และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในเชิงจุลภาค และมหภาค สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับและครบทุกมิติการทำงาน ด้วยการดำเนินงานแบบ One-Stop Service โดยทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และศูนย์บัญชาการและประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตอย่างครบวงจร


     เขาอธิบายการทำงานที่เริ่มตั้งแต่การรับตรวจสุขภาพธุรกิจและวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น ก่อนนำมาประมวลหาการแก้ไขที่เหมาะสม มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ร่วมเรียนรู้และเห็นปัญหาของตนอย่างรวดเร็ว เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาหารเบื้องต้น และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้เชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ และพัฒนาความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือนวัตกรรมกระบวนการผลิต พร้อมทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนและช่วยผลักดันให้งานที่ทำสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในขั้นตอนนี้จะเป็นการติดต่อประสานงานผู้ผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อได้สินค้าต้นแบบในการทดสอบตลาด รวมถึงหาตลาดและช่องทางการขาย  และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์อีกด้วย


     ปัจจุบันศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ในการทำวิจัยแล้ว 17 บริษัท รวมถึงยังมีผู้ประกอบการใช้บริการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น มากกว่า 20 บริษัท




     มุ่งสนับสนุน
SME ให้มีโอกาสทำวิจัยและนวัตกรรม


     ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร บอกเราว่า ปัจจุบันเมืองนวัตกรรมอาหารมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทซันกรุ๊ป ในจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาความเข้มแข็งของบุคลากรให้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนการจัดตั้งศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคตนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นมา โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำวิจัย ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาด และมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนทีมวิจัยและคณะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร

     โดยตั้งเป้าที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง อย่าง SME ให้ได้มีโอกาสทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการมายาวนาน

     ขณะนี้มีบริษัทเข้าร่วมโครงการและเข้ามาทำวิจัยใน Future Food Lab เกือบเต็มพื้นที่แล้ว และภายใน 5 ปี คาดว่าจะสนับสนุนได้ 100 ราย




     สร้างคลังวัตถุดิบหนุนวิจัยอาหารแห่งแรกของไทย



     นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฟู้ดอินโนโพลิสยังได้ร่วมจัดตั้ง คลังฐานข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร หรือ Food Ingredient Library ขึ้นภายในศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้ในอาหาร เพื่อให้บริการสำหรับนักวิจัยและผู้ที่สนใจการทำวิจัยด้านอาหาร โดยสามารถเข้ามาค้นหาวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารเพื่อนำตัวอย่างไปทดลองใช้ในงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดทำเรื่องนี้ด้วย


     “ในอนาคตเราจะใช้ Food Ingredient Library นี้ เป็นต้นแบบของคลังอื่น ที่ฟู้ดอินโนโพลิสวางแผนจะจัดตั้งตามมา ไม่ว่าจะเป็น  Material Library ซึ่งจะรวบรวมบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และ OEM Library ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลของบริษัทที่รับทำ OEM เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิจัยต่อไป” ดร.อัครวิทย์ บอกในตอนท้าย


     วันนี้โลกของธุรกิจอาหารเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย SME ในอุตสาหกรรมนี้จึงจะสู้แบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องปรับตัวเองและสร้างแต้มต่อด้วยอาวุธที่ชื่อ “นวัตกรรม”
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน