ว้าวสุด! เปลี่ยนขยะเป็นน้ำมัน ไอเดียนวัตกรรมพลิกโลกของ ‘อินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์’

Text : กองบรรณาธิการ
PHOTO : สรรค์ภพ จิรวรรณธร




Main Idea
 
  • รู้ไหมขยะพลาสติกและโฟมสามารถแปรเปลี่ยนเป็นน้ำมันมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือเครื่องยนต์ได้ ด้วยเครื่องกำจัดขยะนวัตกรรมเด็ด ผลงานของบริษัท อินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์  
 
  • จากขยะพลาสติกหรือโฟมที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 300-1,000 ปี แต่กระบวนการที่ว่านี้สามารถกำจัดขยะร้ายได้ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น
 
  • นวัตกรรมใหม่นี้เองที่ทำให้ อินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์ คว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2018 มาได้อย่างไร้ข้อกังขา


     ใครจะคิดว่าขยะที่หลายคนรังเกียจ ซ้ำยังมองว่าเป็นตัวการสร้างมลภาวะให้กับโลกอย่างพลาสติกและโฟม
วันหนึ่งจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นน้ำมัน ทรัพยากรที่มีมูลค่าขึ้นมาได้
               

     ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่นี้ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่ไหน แต่คือผู้ประกอบการที่ชื่อ ปราสิทธิ์ พงษ์นุเคราะห์ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์ จำกัด จากจุดเริ่มต้นแค่การเห็นข่าวหนึ่งในทีวี ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจพัฒนานวัตกรรมช่วยโลกในวันนี้ โดยเรียนรู้จากอาจารย์ที่ชื่อ “ยูทูบ”
               



     “แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนผมและเพื่อนนักธุรกิจคนไทยที่ลาวได้เห็นข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา เมื่อปี พ.ศ.2557 ตอนนั้นก็เกิดคำถามกันว่าทำไมถึงดับไฟไม่ได้เป็น 7-8 เดือน คนแถวนั้นก็อยู่กันไม่ได้เพราะอากาศเป็นมลพิษหมด ทั้งผมและเพื่อนไม่มีความรู้เรื่องนวัตกรรมอะไรเลย ผมเคยอยู่ในสายอุตสาหกรรมเพราะทำเครื่องมือการเกษตร ส่วนเพื่อนก็เป็นคนชอบประดิษฐ์โน่นนี่อยู่แล้ว บังเอิญมาคุยเรื่องเดียวกันและจูนกันได้ ก็เลยตัดสินใจลองทำดู ก็ใช้ด้านหลังศูนย์การค้าของเรานั่นแหละเป็นแล็บทดลอง เริ่มจากออกแบบเตาเผาขยะ ถามว่าเอาความรู้มาจากไหน บอกตรงๆ ว่าทั้งหมดตรงนี้เกิดจากยูทูบ (YouTube) มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดคือยูทูบ วันนี้เด็กทั่วโลกเวลาคิดหรือทำอะไรได้เขาจะไปโพสต์โชว์ในยูทูบ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นอาจารย์เราได้ทั้งหมด ใครทำอะไรเวิร์กไม่เวิร์กก็ลองเอามาปรับใช้ดู ที่เห็นเครื่องกำจัดขยะใหญ่โตอย่างวันนี้ได้ มันเริ่มจากแล็บเล็กๆ ของเราที่ลาว และอาจารย์ที่ชื่อยูทูบทั้งนั้น” เขาบอกที่มาของนวัตกรรมที่ใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง




     สร้างมาตรฐานไทยสู่โลก



     โกดังร้างที่เคยเก็บอุปกรณ์เครื่องมือการเกษตรธุรกิจของครอบครัวในจังหวัดสุรินทร์ ถูกใช้เป็นพื้นที่ทดลองโปรเจกต์สำคัญ นั่นคือทำเครื่องกำจัดขยะโฟมและพลาสติกเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมันสะอาดคืนกลับสู่โลก โดยไม่รู้หรอกว่าจะสำเร็จหรือไม่ หรือจะทำเงินให้ได้หรือเปล่า แต่ใช้เงินวิจัยพัฒนาไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท ใช้เวลาวิจัยพัฒนาอยู่ถึง 2 ปี


     “ที่ผ่านมาไม่ได้กดดันเลยว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ ก็ค่อยๆ คิดวิจัยของเราไป ตอนนั้นปี พ.ศ.2557 รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติเรื่องขยะ เราเห็นโอกาสทันทีว่าจะต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนอะไรอีกมาก เพราะวาระแห่งชาติแสดงว่าเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำกันทั่วประเทศ ในเมื่อเราเริ่มศึกษาเรื่องนี้มาแล้วก็น่าจะขอการสนับสนุนเพื่อทำอะไรต่อไปได้ เราเริ่มพัฒนาเครื่องแรกได้สำเร็จแต่พอมาคำนวณจุดคุ้มทุนระหว่างน้ำมันที่ได้เทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้ไป มันยังไม่ได้ ก็รื้อทำใหม่ ซ่อมใหม่ และเริ่มมาพัฒนาเตาปฏิกรณ์ วิธีการเก็บรักษาอุณหภูมิ เริ่มเอาวิชาการเข้ามาใช้ จนได้กระบวนการที่เรียกว่าไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่สามารถเปลี่ยนโมเลกุลของแข็งให้กลายเป็นของเหลวในอุณหภูมิที่สูงถึง 300-500 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาวะปิด ไร้ออกซิเจน หลังจากนั้นผมก็สร้างโรงใหญ่เลย เพราะพอมันเล็กมันไม่ได้จุดคุ้มทุนแล้วมันต้องขยาย ก็ใส่เงินไปอีก หมดไปอีกเกือบ 10 ล้านบาท จนได้ปริมาณน้ำมันที่โอเคขึ้น แต่อุปกรณ์อาจยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะว่าเราหาเท่าที่หาได้ในพื้นที่ จนภายหลังทราบข่าวว่าสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มีโครงการคูปองนวัตกรรมก็เข้าไปนำเสนอเพื่อขอการสนับสนุน และได้รับการสนับสนุนมา”





     สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการครั้งนั้น ไม่ใช่แค่เงินสนับสนุน แต่คือคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่ไม่เพียงไปตอบโจทย์การพยายามพัฒนาเครื่องเพื่อลดระยะเวลาในการคืนทุนให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังพัฒนาคุณภาพของน้ำมันที่ได้ โดยมีสีที่ใสจากการดึงคาร์บอนออกไปได้มาก และเมื่อนำไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ และอินเตอร์เทค ผู้นำด้านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ก็พบผลลัพธ์ที่น่าพอใจในด้านคุณภาพของน้ำมัน โดยเครื่องขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นสามารถกำจัดขยะได้มากถึง 4.5 ตัน ได้น้ำมันประมาณ 3,000 ลิตร ส่วนเครื่องขนาด 1.5 ตัน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ได้น้ำมันอยู่ที่ 1,000 ลิตร ผลิตได้ทั้งน้ำมันเตา ดีเซลและเบนซิน และเริ่มขายตัวเครื่องให้กับผู้สนใจแล้ว





     พัฒนานวัตกรรมไม่หยุดนิ่ง พร้อมเติบโตคู่สังคม

               

     “ผมทำธุรกิจที่เมืองไทยเพราะอยากได้คำว่าเมดอินไทยแลนด์ไปขายทั่วโลก คิดว่าเบื้องต้นเราต้องไปอาเซียนให้ได้ก่อน โดยต้องเริ่มจากทำที่เมืองไทยให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ จากนั้นก็พร้อมส่งออกได้ โดยอาจจะเป็นการขายไลเซนส์ ส่วนในประเทศที่ติดกันก็อาจจะขายตัวเครื่องไป แต่เรายังต้องพัฒนาอีกมาก คงไม่ได้จบแค่นี้เพราะว่านวัตกรรมหยุดนิ่งไม่ได้ อย่างอนาคตเราจะทำระบบอัตโนมัติที่ลำเลียงขยะเข้าเครื่องได้เลย เพื่อให้ใช้เวลาน้อยที่สุด ตอนนี้ธุรกิจก็พอเลี้ยงตัวเองได้ ก็โอเคอยู่อย่างนี้ไปก่อน แต่ต่อไปเราคิดว่าก็คงต้องหาทางต่อยอดเพื่อไปให้ถึงชุมชนอื่นๆ ให้มีโอกาสสัมผัสเครื่องนี้บ้าง” ถึงตอนนั้นปัญหาขยะก็คงถูกแก้ไขได้สมใจความคิดเมื่อหลายปีก่อนของพวกเขา
                 

     ปราสิทธิ์ คิดค้นนวัตกรรมโดยไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เขาเป็นนักธุรกิจสายเกษตรที่มาทำธุรกิจบันเทิง (เจ้าของช่องลาวสตาร์) และข้ามสายมาออกแบบและพัฒนาเครื่องกำจัดขยะ และยังทำโมเดลเครื่องกำจัดขยะที่โชว์อยู่ในบริษัทด้วยฝีมือของตัวเอง เขาบอกว่าเมื่อเกิดไอเดียก็แค่ลงมือทำ ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เพราะมองว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ แค่ทำเต็มที่ก็พอแล้ว ซึ่งถ้าได้เริ่มต้นทำก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
               

     อีกหนึ่งภาพสะท้อนความสำเร็จคือ บริษัท อินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์ จำกัด คือ ผู้คว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2018 มาครอบครองได้อย่างสมศักดิ์ศรี


     นวัตกรรมสร้างความสำเร็จให้กับอินฟีนีตี้ โปรแม็คซ์ ได้ คุณเองก็ทำได้เช่นเดียวกัน หากมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการของคุณ มีนวัตกรรมไม่ซ้ำแบบใคร ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่  โครงการ SME Thailand Inno Awards 2019  ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2562 ติดตามรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.smethailandclub.com/innoawards2019 เพื่อชิงรางวัลมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ใน 9 สาขานวัตกรรม และโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มาประกาศความสำเร็จของธุรกิจคุณไปด้วยกัน!!
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น