ความสำเร็จสร้างเองได้! SME ต้องตีโจทย์นวัตกรรม เพิ่มแต้มต่อในยุค 5G

Text: รุจรดา   PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand

 

 

Main Idea
 
  • การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ SME ยุคนี้ต้องเผชิญคือแพลตฟอร์มการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการค้าขาย การผลิตสินค้า รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายให้ต่างไปจากเดิม กลายเป็นโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องตระหนักและปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสไว้ให้ทัน
 
  • นวัตกรรมเป็นหนึ่งทางออกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดย SME สามารถพัฒนานวัตกรรมง่ายๆ โดยคิดแก้ปัญหาจากชีวิตมนุษย์ในแต่ละวันก็สามารถสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจได้
 
  • โครงการประกวด SME Thailand Inno Awards 2019 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ SME ไทยได้โชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรม หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้




 
     นวัตกรรมกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจในยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนของการผลิตสินค้าและบริการให้มีความแตกต่าง หรือกระทั่งปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการภายในองค์กร สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีขึ้น อันนำไปสู่การเพิ่มยอดขายและการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด
พิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ SME ยุคนี้ต้องตระหนักคือเรื่องของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ SME จึงต้องปรับตัวเพื่อรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการรับจ้างผลิตหรือเติบโตด้วยแบรนด์ของตัวเองก็ตามที ต่างต้องหันมามองจุดแข็งในปัจจุบันและหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต





     “ค่าน้ำมัน ค่าแรง หรือกระทั่งการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปของธุรกิจ โจทย์พวกนี้ไม่ได้ทำให้ธุรกิจอยู่หรือไป แต่โจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มการทำธุรกิจ ซึ่งถ้า SME ปรับตัวไม่ทัน ก็อาจทำให้ธุรกิจล้มไปได้ ปัญหาคือ SME มีเวลามาตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการบริหารธุรกิจในแต่ละวัน แต่จากนี้เขาต้องแบ่งเวลามาคิดเรื่องการปรับตัวและทำยุทธศาสตร์ในเรื่องพวกนี้มากขึ้นด้วย”  พิภวัตว์บอก


     เขาบอกอีกว่า SME วันนี้ต้องมองการณ์ไกล เช่น หากอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้ามากขึ้น  ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะปรับตัวอย่างไร หรือผู้ที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งกำลังเป็นโอกาสใหม่ๆ ของประเทศไทยจะรับมือกับโอกาสนี้อย่างไร หรือหากมีเทคโนโลยี 5G เข้ามารูปแบบการทำธุรกิจของเขาอาจเปลี่ยนไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรเมื่อวันนั้นมาถึง


     “การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วและมาแน่ นวัตกรรมเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายตลาดได้ เมื่อก่อนเราอาจคิดว่านวัตกรรมเป็นเรื่องยาก ลงทุนเยอะและไกลตัว แต่ 1-2 ปีมานี้ นวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ หาดูได้ง่ายมากในโทรศัพท์มือถือ ทุกคนพัฒนานวัตกรรมได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งถ้ามองทิศทางในอนาคต ผมเชื่อว่า 5G น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในสังคม ตลอดจนการค้าขายหรือผลิตสินค้า ที่แม้จะยังเป็นรูปแบบเดิมๆ แต่สุดท้ายช่องทางการจัดจำหน่ายก็ต้องเปลี่ยนไปอยู่ดี แล้วเราจะรับมืออย่างไร” เขาย้ำ





     พิภวัตว์ ยกตัวอย่างในประเทศจีนที่มีตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติที่ทำงานด้วยระบบ Artificial Intelligence หรือ AI โดยตู้จะส่งข้อมูลไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นหมอจะบอกแผนการรักษาพร้อมจ่ายยาให้ โดยตู้มียาสามัญที่สามารถจำหน่ายได้ทันทีกว่า 100 ชนิด แต่หากเป็นยาที่เฉพาะกว่านั้นจะมีบริการส่งเดลิเวอรี่ส่งให้ในภายหลัง หรือการที่ได้เห็นในญี่ปุ่น สิงคโปร์เริ่มใช้รถไฟฟ้าในการจัดส่งสินค้าโดยไม่ผ่านไปรษณีย์อีกต่อไป


     “เรื่องเหล่านี้เรามองเป็นนวัตกรรมซึ่งมีทั้งการปรับปรุงคุณภาพในการผลิต ปรับปรุงคุณภาพการบริการ ปรับปรุงช่องทางการตลาด หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ คงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำและช้าไม่ได้ คนที่ตระหนักเร็วและพยายามทำโจทย์นี้ก่อนก็มีโอกาสมากกว่า นี่ไม่ใช่แค่กำไรหรือขาดทุน แต่คือเรื่องอยู่หรือไปของธุรกิจ”


     พิภวัตว์คือหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล SME Thailand Inno Awards มาตลอดหลายปี รวมถึงการประกวดรางวัล SME Thailand Inno Awards 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ในปีนี้ เขาได้เห็นตัวอย่างนวัตกรรมหลากหลายที่เข้ามาประกวด ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ใช้ความรู้เฉพาะทาง อย่าง บริษัท อินฟินิตี้ โปรแม็คซ์ จำกัด ที่นำเสนอเครื่องกำจัดขยะพลาสติกและโฟมแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำมัน หรือนวัตกรรมที่เริ่มจากความคิดง่ายๆ ของบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์การจองคิว


     “2 ธุรกิจนี้เป็นตัวอย่างของความใกล้กับไกล รายแรกเป็นเรื่องไกลตัว SME ทั่วไปสักหน่อย ต้องใช้เงินทุนมาก ใช้ความรู้ด้านวิชาการสูง แต่เราก็ต้องการนวัตกรรมแบบนี้ ในขณะที่คิวคิวเป็นนวัตกรรมที่คิดจากชีวิตมนุษย์ในแต่ละวัน แก้ปัญหาที่ผู้คนต้องพบเจอบ่อยๆ ซึ่งยังมีมุมให้ SME ทั่วไปคิดได้อีกเยอะมาก สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัล SME Thailand Inno Awards 2019 ในปีนี้ ผมจะให้ความสำคัญกับคนที่คิดดี คิดก่อนคนอื่น หรือสามารถแก้ปัญหาที่มีมานานแล้ว เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา เป็นความคิดที่แตกต่าง ไม่ใช่ตัดสินเพราะเป็นนวัตกรรมที่ยากหรือสุดยอดอะไร และที่สำคัญคือใช้ได้จริง สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ด้วย ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ เชื่อว่า SME สามารถไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ด้วย”





     เขาบอกอีกว่า อยากเชิญชวนให้ SME ได้มาประกวด SME Thailand Inno Awards 2019 ในปีนี้ เพราะเป็นหนึ่งหนทางที่ SME จะได้ยกระดับธุรกิจของตนเองด้วยนวัตกรรมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคนี้ได้ ซึ่งในปีนี้มี 9 สาขารางวัล ได้แก่ 1.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการ, 2.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร, 3.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์, 4.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์, 5.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการออกแบบ, 6.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, 7.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการตลาด, 8.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และ 9.รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม


     รวมถึงรางวัลพิเศษ สุดยอดนวัตกรรมธุรกิจ SME แห่งปี กับ The Best SME Thailand Inno Awards 2019 การเฟ้นหาธุรกิจ SME ที่มีนวัตกรรมครบเครื่อง สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างรอบด้าน โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละสาขาจะได้รับโล่รางวัล SME Thailand Inno Awards 2019 พร้อมรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท และโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกด้วย


     ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจร่วมประกวด SME Thailand Inno Awards 2019 สามารถติดตามรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.smethailandclub.com/innoawards2019 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2562 และจัดพิธีมอบรางวัลในเดือนสิงหาคมนี้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ