SugarMage แปลงจินตนาการเป็นธุรกิจ ปั้นเล่นกินได้

Text : Yuwadi.s Photo : สรรค์ภพ จิรวรรณธร





Main Idea
 
  • เด็กวัยเจริญเติบโตในยุคนี้กำลังใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์มากกว่าวิ่งเล่นในสนาม จนทำให้เสพติดสมาร์ทโฟนกันงอมแงม และอาจทำให้กลายเป็นเด็กสมาธิสั้นไปด้วย
 
  • SugarMage ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กๆ ทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์ ที่สำคัญยังลดการใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ลง
 
  • จากของเล่นเด็กสู่การจัดเวิร์คช็อปงานปั้นให้ผู้ใหญ่มาสร้างสรรค์งานใหม่ใส่ไอเดียบรรเจิด เป็นโอกาสให้ธุรกิจเติบโตไปได้อีกขั้น





     เด็กน้อยวัยกำลังเติบโตในยุคนี้มีสมาธิสั้นลงและยังเสพติดสมาร์ทโฟนกันงอมแงม ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องกุมขมับเพราะลูกไม่ยอมห่างจากหน้าจอโทรศัพท์ง่ายๆ ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับครอบครัวของ สุพพัต พรหมน้อย ที่หลานสาวของเขาติดโทรศัพท์ไม่ยอมวางมือเช่นกัน จนมาวันหนึ่งพี่สาวได้เข้าครัวทำเบเกอรีและปั้นฟองดอง (Fondant) ตกแต่งหน้าเค้ก ลูกสาวตัวจิ๋วที่กำลังเล่นโทรศัพท์กลับวิ่งมาหาแม่อย่างรวดเร็วด้วยความสนอกสนใจในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สุพพัตและพี่สาวจึงเกิดไอเดียว่า นี่แหละคือทางออกของเด็กน้อยที่ติดโทรศัพท์มือถือ และนั่นคือที่มาของแบรนด์ SugarMage ของเล่นกินได้ที่เริ่มต้นจากห้องครัวเล็กๆ ที่บ้าน



               

     การปั้นฟองดองคือ การปั้นน้ำตาลที่สามารถแข็งตัวได้ โดยผู้ปั้นสามารถเนรมิตก้อนน้ำตาลสีสันสดใสให้กลายเป็นรูปทรงต่างๆ ตามจินตนาการ สุพพัตต่อยอดไอเดียจากน้ำตาลฟองดองแต่งหน้าเค้กมาเป็น Edible Toy หรือของเล่นกินได้ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กวัยเจริญเติบโตและลดการใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ลง  
               

     “SugarMage ของเราเป็นของเล่นที่กินได้ ปลอดภัย คล้ายกับการปั้นฟองดองในเบเกอรีและมีลักษณะเหมือนดินน้ำมัน ที่สามารถแกะซอง ปั้นแล้วกินได้เลย ตอนแรกที่ทดลองทำ พี่สาวก็เห็นว่าน้องมีความสนใจมาก ระหว่างที่ปั้น พูดอะไร สอนอะไรได้หมดเลย เราอยากแชร์ให้กับคุณแม่คนอื่นๆ เลยทดลองตลาดด้วยการให้คุณแม่ของผมซึ่งเป็นคุณครูเด็กประถมวัยอยู่แล้วจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ที่โรงเรียนโดยมีพี่สาวไปช่วยสอน ปรากฏว่าเด็กๆ ให้ความสนใจกันเยอะมาก ปั้นด้วยกัน เล่นด้วยกัน โชว์ผลงานกันสนุกสนาน ทุกคนดูภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ เราเลยมั่นใจว่าสินค้าตัวนี้น่าจะไปต่อได้”


               

     เมื่อมั่นใจก็ต้องไปให้สุด สุพพัตจึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถออกวางขายได้ จากเดิมที่ทำเล่นๆ ในห้องครัวก็เปลี่ยนไปมองหางานวิจัยที่จะเข้ามาช่วยสานฝันให้กลายเป็นจริง เขาเริ่มติดต่อไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ากับองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัย โดยได้ความร่วมมือจากอาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยเติมความฝันจนในที่สุดน้ำตาลฟองดองของ SugarMage ที่ทำเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะก็พร้อมสำหรับออกวางขายในตลาด
               

     “สูตรของเราจะทำเพื่อเด็กโดยเฉพาะคือ มีความยืดหยุ่นและความเหนียวที่เหมาะสำหรับมือเด็ก ปราศจากสารอันตราย เด็กๆ สามารถกินได้ ที่สำคัญเราลดความหวานลงแต่ยังคงความอร่อยอยู่ ที่สำคัญยังตอบโจทย์เด็กๆ ในเรื่องของการเรียนรู้ โดยเด็กๆ ที่ทำ Workshop การปั้นกับเราจะได้พัฒนาการทั้ง 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือ ด้านสติปัญญา ได้ฝึกคิด ออกแบบ ด้านสังคม ได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนๆ สุดท้ายคือ ด้านอารมณ์ ที่เขาจะได้ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ” เขาบอก
               




     กลยุทธ์ที่ SugarMage ใช้เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักคือ การจัดกิจกรรม Workshop โดยประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก ใครจะคิดว่าผลลัพธ์หลังจากนั้นคือ การได้กลุ่มลูกค้าอื่นๆ อย่างคาดไม่ถึง นั่นคือกลุ่มสาวๆ ที่รักงานคราฟต์และกลุ่มคนทำเบเกอรี นั่นทำให้ปัจจุบัน SugarMage มี 2 โมเดลธุรกิจ นั่นคือผลิตน้ำตาลปั้นฟองดองขายภายใต้แบรนด์ SugarMage และจัดกิจกรรม Workshop ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น โดยจะมีนักปั้นดินเบามืออาชีพมาเป็นผู้สอน นอกจากนี้ สุพพัตยังพยายามมองหานักปั้นที่โดดเด่นให้เข้ามาอยู่ใน Artist Collection ของเขาอีกด้วย
               

     “เวลาจัด Workshop เราจะจัดตามกลุ่มลูกค้า กลุ่มเด็กและครอบครัวก็จะเน้นการปั้นร่วมกัน แม่ทำอันยาก ลูกทำอันง่าย กลุ่มผู้หญิงที่ชอบงานคราฟต์ก็จะปั้นสบายๆ สามารถเอาไปเป็นของขวัญต่อได้ด้วย ส่วนกลุ่มเบเกอรี กลุ่มนี้จะเน้นความสวยงาม เรียนยากขึ้น โดยเราจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปั้นมาสอนให้”
               




     สุพพัตได้เล่าถึงสิ่งที่เขามองว่ายากที่สุดในการทำธุรกิจ นั่นคือการมองเป้าหมาย และเมื่อเป้าหมายชัด สิ่งถัดมาคือ การบริหารจัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นภายใต้เวลาที่จำกัดให้ได้
               

     “ช่วงแรกของการทำธุรกิจค่อนข้างหนักหน่วง เพราะทุกวันคือเงินที่เราเสียไป สินค้าก็ยังพัฒนาไม่เสร็จแต่เราต้องใช้เงินทำการตลาด สื่อสารกับลูกค้าตลอดเวลา ผมเองก็ไม่ได้ทำงานอื่นด้วย มันจึงเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก แต่เราจะพยายามคุยกันตลอดว่าสิ่งที่เราเห็นมันเหมือนกันใช่ไหม เป้าหมายเราคือ จุดเดียวกันใช่ไหม และในแต่ละก้าวที่เราเดินไป มันใกล้ความเป็นจริง ไม่ได้กำลังถอยหลัง ฉะนั้นเดี๋ยวเราก็จะสำเร็จเองสักวัน พอคิดได้อย่างนี้ เวลาที่มีปัญหาก็ทำให้สู้ต่อเพราะเรามองว่ามันอีกแค่นิดเดียวเท่านั้น”


      เพราะเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่ท้อใจไปเสียก่อน วันนี้เราเลยได้รู้จักกับ SugarMage ของเล่นปั้นกินได้ที่สร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ในวันนี้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน