แม่บ้านทั่วไทยถูกใจสิ่งนี้! ORIGAMI เสื้อยืดกันเลอะ แค่เช็ดก็หมดคราบในราคาจับต้องได้

Text : wattar / Photo : ORIGAMI





Main Idea
 
 
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยอยู่ในช่วงซบเซา ขาดความครีเอทีฟและความแปลกใหม่ ทำให้ผู้ซื้อหันไปสั่งซื้อเสื้อผ้าจากจีนแทน ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยต้องลุกขึ้นมาปรับตัวด้วยนวัตกรรม 
 
  • ปัญหาที่หลายคนเจอในชีวิตประจำวันคือเสื้อผ้าเปื้อนสิ่งสกปรกอย่าง นม ชา กาแฟ  และบางทีก็ซักออกยากจนกลายเป็นคราบติดทนนาน แต่ โอดับบลิว เท็กซ์ไทล์ โรงงานทอผ้าไทยได้พัฒนานวัตกรรมเสื้อยืดกันเปื้อน ขายในราคาเข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องพรีออร์เดอร์จากต่างประเทศอีกต่อไป


     ใครเป็นจอมซุ่มซ่ามต้องถูกใจสิ่งนี้แน่ๆ เพราะนี่คือเสื้อยืดกันน้ำและคราบสกปรกที่ไม่ว่าจะมีน้ำเปล่า น้ำอัดลม นม ชา กาแฟ ซอส หรือสารพัดคราบหกใส่ก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่หยิบกระดาษมาเช็ดหยดน้ำออกก็เรียบร้อย สามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อได้สบายๆ  นี่เป็นเทคโนโลยีที่เราได้เห็นจากฝั่งแบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ลีวายส์ หรือแบรนด์หน้าใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหากใครอยากได้ก็คงต้องสั่งนำเข้าหรือพรีออเดอร์กันในราคาหลักพัน โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่ามีผู้ผลิตสิ่งทอในประเทศไทยสามารถพัฒนาผ้าที่กันน้ำและคราบสกปรกได้แล้วเช่นเดียวกัน





     “สุรกิจ ศิริวัฒนานุพงศ์”
กรรมการผู้จัดการบริษัท โอดับบลิว เท็กซ์ไทล์ (OW Textiles) โรงงานทอผ้ายืดที่ผลิตและจัดจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเสื้อยืดและโปโลทั่วประเทศ ตัดสินใจนำเข้าสารเคมีและหมกตัวอยู่ในห้องแล็บพัฒนากรรมวิธีการย้อมและทอเส้นด้ายด้วยกระบวนการ Nano Hydrophobic Technology ถึง 8 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้คือผ้าทอจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และ PCC เส้นใยจากการผสมผสานผ้าฝ้าย 50 เปอร์เซ็นต์และโพลีเอสเตอร์อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ตีเกลียวเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดคุณสมบัติยับยาก ใส่ได้แทบไม่ต้องรีด แห้งไว ที่สำคัญมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการคือป้องกันการเลอะและระบายอากาศได้ดี ก่อนจะผลิตออกมาเป็นเสื้อยืดกันเลอะออกมาเป็นรายแรกๆ ในประเทศด้วยชื่อแบรนด์ ORIGAMI





     “ก่อนหน้านั้นเราทำผ้ายืดธรรมดา ผ้าโปโล ผ้าแฟชั่น ขายผ้าผืนเป็นหลักส่งให้โรงงานต่างๆ  นำไปผลิตเป็นเสื้อยืด ทำเสื้อบริษัท เป็นต้น เราได้ไปดูงานต่างประเทศเรื่อยๆ ผมยังไม่เคยเห็นบริษัทไทยที่ใช้เทคโนโลยีทำเสื้อยืดกันเปื้อนและคิดว่าเมืองไทยน่าจะทำได้เหมือนกัน เลยอยากทำโดยที่ต้นทุนไม่สูงมากให้คนไทยทุกคนซื้อใส่ได้ หลังจากที่ไปเจอนวัตกรรมนี้จากสเปน เป็นบริษัทขายเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ จึงเอามาใช้ในการผสมสีย้อมเส้นด้าย ตั้งแต่กระบวนการแรกในการผลิต ทำให้ผ้าลื่นและหยดน้ำกลิ้งไม่ซึมลงในเนื้อผ้า”





     เมื่อพัฒนานวัตกรรมทอผ้าได้สำเร็จ เขาตัดสินใจตัดเย็บเป็นเสื้อยืดสำเร็จรูปขายเอง หลังจากที่สำรวจตลาดและนำเสนอผ้าผืนไปยังโรงงานผลิตเสื้อซึ่งเป็นลูกค้าเดิม ผู้ผลิตเหล่านั้นไม่ซื้อผ้านวัตกรรมเพราะคิดแทนผู้บริโภคไปก่อนแล้วว่าถ้าใช้ผ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น ขายในราคาแพงขึ้น ลูกค้าคงไม่ซื้อ เขาจึงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ORIGAMI อย่างจริงจัง ขายปลีกเสื้อยืดในราคา 350 บาท ซึ่งถือว่าทำราคาได้ดีกว่าโปรดักต์จากต่างประเทศมากทีเดียว พร้อมกับให้ความรู้ตลาดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ไปด้วย






     “เราจะเอาเทคโนโลยีอะไรเข้ามา ต้องพิจารณาว่าสามารถทำราคาได้ไหม ไม่ใช่ทำแล้วต้องขายในราคาสูงมากซึ่งทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ยาก ผมมองว่าราคาต้องสมเหตุสมผล เคยเห็นต่างประเทศขายเสื้อยืดคุณสมบัติเดียวกันในราคาหลักพัน แต่เรานำมาพัฒนาที่เมืองไทยให้สามารถขายได้ในราคาแค่หลักร้อย”


     สุรกิจบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจพัฒนานวัตกรรมเพราะตลาดสิ่งทอในประเทศไทยค่อนข้างซบเซา มองไปทางไหนก็เจอแต่เสื้อยืดดีไซน์เหมือนๆ กัน ขาดความครีเอทีฟและความแปลกใหม่ นั่นทำให้จากเดิมที่คนต่างประเทศที่เคยเข้ามาช้อปปิ้งที่ประเทศไทย ในตอนนี้เลือกที่จะบินไปที่กวางโจว ประเทศจีนมากกว่า 


     “ต้องยอมรับว่าเสื้อผ้าที่กวางโจวคุณภาพดีกว่า ตัดเย็บดีกว่า ดีไซน์ดีกว่าและได้เห็นอะไรแปลกใหม่อยู่ตลอด เราจึงต้องพัฒนานวัตกรรมเข้าสู้ เราอยากกระตุ้นให้คนอื่นเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและทำตาม ถึงแม้ว่าจะได้กำไรไม่มากนักก็ตาม ไม่อย่างนั้นก็ขายของเดิมๆ ลูกค้าเขาก็เบื่อ แล้วไปซื้อจากประเทศอื่นแทน”
               



     หลังจากนี้ โอดับบลิว เท็กไทล์จะเน้นผลิตผ้านวัตกรรมเพียงอย่างเดียว โดยลดการผลิตผ้าธรรมดาลงจนเลิกผลิตในที่สุด จากการที่อยากกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายอื่นเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมและลุกขึ้นมาพัฒนาตาม ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
 

              
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจนสอง 'สหไทย' พลิกห้างที่ถูกลืม สู่ค้าปลีกยุคใหม่ด้วยดิจิทัล

จาก “ห้างที่ไม่มีใครเหลียวมอง” สู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นกลับมายืนได้อีกครั้ง สศิษฏ์ ปัญจคุณาธร ทายาทรุ่นที่สองของสหไทย พลิกภาพห้างที่เคยถูกลืมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วย 5 กลยุทธ์ที่ทำให้มีมากกว่า 100 ร้านค้าติดต่อเข้ามาให้เลือก

KUSU เทียนหอมเสมือนจริง ที่มี “รูปทรงหิน” เป็นตัวตึง ฝีมือสุดทึ่งของสถาปนิกไทย

เหมือนจนอยากเก็บ สวยจนไม่อยากจุด กับ KUSU แบรนด์เทียนหอมสุดอาร์ต งานคราฟต์สุดจึ้ง ที่มีลูกเล่นอยู่ที่ “ความเสมือนจริง” ฉีกกฎตลาดของแต่งบ้านและเทียนหอมแบบที่เคยเห็นกันมา แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ต้องเสียน้ำตา(เทียน) ไปมากมายทีเดียว

เดินเกมแบบไม่ใหญ่ แต่ไปได้ไกล! ถอดสูตรความสำเร็จ Awesome Screen โรงงานเสื้อที่โตสวนกระแส

อยากรู้ว่า Awesome Screen โรงงานรับสกรีนและตัดเย็บเสื้อยืดแบบ OEM ทำอย่างไรให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต และเติบโตได้อย่างมั่นคงในวันที่โลกไม่แน่นอน ตามไปดู “กลยุทธ์” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จกันได้เลย