ไอเดียเจ๋ง! ‘ลูกประคบธัญพืชเซรามิก’ นวัตกรรมใหม่สร้างรายได้ให้กับชุมชนหัวครีเอทีฟ!

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
 
  • จังหวัดลำปางเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างโรงงานเซรามิก แต่ความครีเอทีฟของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อชุมชนบ้านศาลาบัวบก พวกเขาปฏิวัติความคิดโดยนำเอาเศษดินที่ถูกทิ้งหลังกระบวนการผลิตถ้วยชามเซรามิก มาเชื่อมโยงกับเรื่องของสุขภาพ จนเกิดเป็น ลูกประคบธัญพืชเซรามิก
 
  • การสร้างนวัตกรรมใหม่นี้ไม่เพียงก่อเกิดเป็นธุรกิจเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนเท่านั้น ทว่ายังเป็นการคืนความสุขและสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน นำร่องหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย





     นวัตกรรมใหม่ๆ บางอย่างเกิดขึ้นได้จากความบังเอิญ บางอย่างเกิดจากความตั้งใจเพื่อลบล้างสิ่งเก่าและบางอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ แน่นอนว่ากว่านวัตกรรมชิ้นหนึ่งจะผุดออกมาเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมได้นั้นย่อมต้องเริ่มจากความสร้างสรรค์ การแสวงหาความแตกต่าง โดยนำเอาจุดเด่นหรือประโยชน์มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับ นวัตกรรมกรรมใหม่อย่าง “ลูกประคบเมล็ดธัญพืชเซรามิก” จากบ้านศาลาบัวบกจังหวัดลำปาง
 




จุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม
   

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าการริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นมาจากการ “ตั้งคำถาม” จากสิ่งที่มีอยู่ อย่างลูกประคบเมล็ดธัญพืชเซรามิกก็เกิดขึ้นได้จากการตั้งคำถามของ สายหยุด กันทะเสน ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านศาลาบัวบกว่า จะทำอย่างไรให้เซรามิกที่มีอยู่ในชุมชนมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพได้

  
     “จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดลูกประคบเซรามิกขึ้นมานั้น เริ่มจากหมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นโรงงานเซรามิก ประมาณ 36 โรงงาน ซึ่งสร้างรายได้หลักให้กับชุมชน อย่างที่จังหวัดลำปางจะมีโรงงานเซรามิกตั้งแต่ 200-300 โรงงาน จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมบ้านเราต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกอย่างเดียว จะทำยังไงให้เซรามิกมันต่างออกไปจากเดิม” สายหยุดบอกที่มา ก่อนเล่าต่อว่า เริ่มแรกได้ตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เซรามิกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นจึงได้ไปศึกษา คิดค้น อบรม และนำเอาความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในชุมชน โดยเริ่มนำเอาเศษดินที่เหลือใช้จากการผลิตเซรามิกในโรงงานที่พร้อมจะเอาทิ้งมาปั้นเป็นลูกเซรามิกเล็กๆ แล้วเอามาผสมกับเมล็ดธัญพืชอย่างถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดข้าวโพด ลูกเดือย เมล็ดข้าวสารและยังมีไพรแห้ง ผิวมะกรูดแห้งผสมผสานกันจนเกิดเป็นลูกประคบเซรามิกขึ้น ซึ่งในตอนนี้นอกเหนือจากลูกประคบสมุนไพรเซรามิกแล้ว ยังมีเม็ดเซรามิกขนาดใหญ่กว่าไว้ใช้สำหรับนวดฝ่าเท้าอีกด้วย
 



 
ความเหมือนและความต่างระหว่างลูกประคบธัญพืชเซรามิกและลูกประคบสมุนไพรธรรมดา


     สายหยุดเล่าถึงความพิเศษของลูกประคบสายพันธุ์ใหม่ให้ฟังว่า เม็ดเซรามิกจะเก็บความร้อนได้นานขึ้น ซึ่งแตกต่างจากลูกประคบสมุนไพรธรรมดาทั่วไป ที่คลายความร้อนได้เร็ว ใช้ได้ไม่นานก็ต้องไปนำไปนึ่งหรืออบใหม่ แต่ถ้าเป็นเซรามิกจะเก็บความร้อนได้นาน เวลาในการประคบร้อนจึงเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องต้องเสียเวลาไปนึ่งหรืออบบ่อยๆ  ขณะที่ตัวธัญพืชจะมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน บรรเทาอาการปวดเหมื่อย และยังช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้นอีกด้วย และนี่คือความพิเศษของ ลูกประคบธัญพืชเซรามิกของพวกเขา

     “ความพิเศษอีกอย่างคือลูกประคบเซรามิกสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ทำให้สะดวกสบาย  เมื่อใช้เสร็จก็นำไปผึ่งแดดได้เลย การเก็บรักษาสามารถวางไว้ภายในห้องได้โดยไม่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนวิธีการใช้คือนำเข้าไมโครเวฟตั้งเวลาไว้ประมาณ 3 นาที และในการอบ 3 นาที เราจะใช้ลูกประคบเซรามิกได้เกิน 20 นาที เมื่อความร้อนคลายแล้ว ถ้าเรายังต้องการใช้ต่อก็แค่นำไปใส่ในไมโครเวฟใหม่อีกครั้งใช้เวลาประมาณ 2 นาที ซึ่งครั้งต่อไปต้องลดลงเช่นเดียวกัน เพราะว่าความร้อนยังคงระอุอยู่ข้างใน โดยลูกประคบธัญพืชเซรามิกนี้สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น” สายหยุดกล่าวเสริมถึงความพิเศษของลูกประคบนวัตกรรมใหม่นี้
 




เตรียมความพร้อมสู่การส่งออก


     การมาถึงของผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่คิดจากความครีเอทีฟของคนในชุมชน สร้างโอกาสธุรกิจให้กับพวกเขา โดยสายหยุดเล่าว่า ตอนนี้มองไปที่ตลาดจีน เพราะคนจีนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์นี้


     “เราจึงทำบรรจุภัณฑ์ให้มีข้อความสำหรับภาษาจีนสำหรับคนจีน เพราะคนจีนสนใจค่อนข้างมาก ชาวต่างชาติก็สนใจค่อนข้างเยอะ เวลาไปออกบูธที่ไหนเขาก็จะตามมา คนไทยก็มีแต่จะมีแค่คนรักสุขภาพ นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่สนใจก็จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสปาเขาก็ติดต่อมา ล่าสุดคือมีคนสั่งให้ทำ 3,000 ชิ้น แต่ด้วยความที่ลูกประคบนี้เป็นงานทำมือ มันจึงต้องใช้เวลา อีกทั้งชาวบ้านที่จะมาทำก็จะเริ่มทำช่วงกลางคืนหลังจากเลิกจากงาน ซึ่งถ้าต้องทำส่งเยอะๆ มันจะมีปัญหาในเรื่องของกระบวนการผลิตเพราะว่ามันเป็นงานฝีมือ ไม่ได้ใช้เครื่อง


     “ซึ่งตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาตามออนไลน์ที่ลูกค้าเขาใช้ของเราประจำ เขาก็จะแนะนำก็ยังคนอื่นว่าซื้อจากที่ไหน อยากได้ของเพิ่ม ซึ่งเราสามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าต้องการเยอะเราก็ต้องคุยกันก่อน เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหาตามทีหลัง สำหรับจีนคือมีไปออกตลาดบ้างแล้ว โดยอาจารย์จากราชมงคลล้านนาลำปาง พาไปออกงาน แล้วตอนนี้เราก็เอามาพัฒนาเป็น Packaging ให้เสริมไปในส่วนของภาษาอังกฤษและภาษาจีนเข้าไปด้วย”
 




ไม่เพียงแค่สร้างรายได้หากแต่ยังคืนความสุขให้กับชุมชน


     ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนต้องการกำไร แต่ไม่ใช่กับชุมชนแห่งนี้ที่มองว่า พวกเขาได้อะไรมากกว่านั้น...


     “เราไม่ต้องไปแข่งใคร เพราะเราจดลิขสิทธิ์เรียบร้อย วิสาหกิจชุมชนของเราก็จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ฉะนั้นใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบเราได้ เรามองว่าสิ่งที่จะได้มากกว่ารายได้ คือเราสามารถสร้างอาชีพให้กับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน อีกทั้งกระบวนการปั้นก็ยังเป็นการออกกำลังกายมือ ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของพวกเราดีขึ้นตามไปด้วย และระหว่างการทำก็จะมีการพูดคุยทำให้รู้สึกคลายเครียด และลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวันลงได้”


     นอกการการปั้นที่สร้างรายได้แล้ว ยังมีในเรื่องการซื้อขายธัญพืชตลอดจนสมุนไพรต่างๆ ที่คนในชุมชนสามารถนำมาขายให้กับทางกลุ่ม โดยเธอเล่าว่า จะรับซื้อวัตถุดิบจากในชุมชนเท่านั้นและซื้อในราคาที่เท่าตลาด อย่างการเผาลูกเซรามิกก็จ้างโรงงานในหมู่บ้านทำเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือรายได้ที่จะกระจายอยู่แค่ในชุมชน “ไม่ต้องเอาเงินออกนอกบ้าน” นี่คือนโยบายของเธอ ซึ่งนอกจากนี้หมู่บ้านศาลาบัวบกยังกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชม หรือเข้าไปร่วมกิจกรรมกับคนในหมู่บ้านได้อีกด้วย


     การทำลูกประคบเซรามิกนั้น สายหยุดมองว่า เป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่นำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่างดินเซรามิกซึ่งไม่ต้องไปขวนขวายหาซื้อจากที่ไหนมาทำ จึงสร้างแต้มต่อ เพิ่มความแตกต่างและสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการคืนความสุขให้กับตนเองทั้งสิ้น


     เพราะเธอเชื่อว่า..เมื่อเราได้ทำอะไรในสิ่งที่ชอบ ได้อยู่กับสิ่งที่รัก ความสุขจะย้อนคืนกลับมาเสมอ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน