
Main Idea
- SME Thailand Inno Awards 2019 คือรางวัลนวัตกรรมแห่งปีที่มอบให้แก่ SME ไทย ผู้มีนวัตกรรมโดดเด่น นำความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนานวัตกรรมต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจัดโดยนิตยสาร SME Thailand ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย
- ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 9 ราย มีผลงานนวัตกรรมที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร การเกษตร ไอที ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ และนวัตกรรมที่เข้ามาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

จัดงานไปอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ พิธีมอบรางวัล SME Thailand Inno Awards 2019 รางวัลนวัตกรรมแห่งปีที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการ SME เจ้าของสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมโดดเด่น นำเอาความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาใช้พัฒนานวัตกรรมต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจัดโดยนิตยสาร SME Thailand ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย
ในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล และให้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยนวัตกรรมสำหรับ SME”

วินัย วิโรจน์จริยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนนินซูลาร์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการประกวด SME Thailand Inno Awards จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME ได้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงสร้างความแตกต่าง และจุดแข็งในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเอง อีกทั้งยังสร้างให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์ในการบริโภคสินค้าแก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหน้าใหม่ และผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสามารถแจ้งเกิดในตลาดได้มากมาย
“ภาพรวมงาน SME Thailand Inno Awards ในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจากหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผลงานนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เรื่องของสุขภาพ สิ่งที่เป็นปัญหาของคนในยุคปัจจุบัน ตลอดจนมีการเอาเรื่องของนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายปลายทางคือนำไปสู่การแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง สามารถตอบโจทย์ผู้คนได้มากขึ้น คิดได้กว้างและไกลขึ้น ซึ่งสร้างโอกาสไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตไปในต่างประเทศอีกด้วย
“สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมนอกจากการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจแล้ว เรายังได้เห็นถึงเทรนด์การห่วงใยดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่สิ่งของ แต่อาจเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยค้นหา Pain Point ที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่ไม่ใช่เพียงแค่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ครบทั้งกระบวนการ ที่เรียกว่า “Circular Economy” หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น”

ด้าน วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้สนับสนุนหลักการประกวด SME Thailand Inno Awards 2019 กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ SME นำนวัตกรรมมาต่อยอดหรือพัฒนาธุรกิจมาโดยตลอด ในวันนี้ทางธนาคารได้ตระหนักว่า SME ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคนในยุคดิจิทัลนั้นมีวิธีคิดและกรอบการตัดสินใจซื้อแตกต่างจากผู้บริโภคในอดีต รวมไปถึงช่องทาง เทคโนโลยี และเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยต่างๆ ในการทำธุรกิจก็มีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตด้วย ซึ่งหากมองในเชิงบวกก็เป็นประโยชน์และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในยุคนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยทุกวันนี้ SME ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง แต่สามารถไปหาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขปัญหาธุรกิจของตนเองได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องอย่าลืมสร้างความแตกต่าง หาจุดเด่นให้กับตัวเอง เทคโนโลยีอาจเป็นตัวช่วยที่ดีของธุรกิจ แต่นวัตกรรม หรือไอเดียความคิดสร้างสรรค์นั้น ผู้ประกอบการต้องคิดขึ้นมาเอง และนั่นจะสร้างโอกาสให้กับการทำธุรกิจในยุคนี้ได้อย่างมาก

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งสิ้น 9 ราย โดยผู้คว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2019 ได้แก่ บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด เป็นผู้วิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่าย วัสดุศัลยกรรมกระดูก และอุปกรณ์เครื่องมืออื่นๆ ทางการแพทย์ ได้นำเสนอวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังชุดนารายณ์ (NARAI Lateral Lumbar Interbody Fusion (NARAI LLIF)) เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแบบเปิดแผลเล็กเข้าทางด้านข้าง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มการป่วยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้งานไม่ถูกต้องมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสื่อม น้ำหนักตัวมากเกินไป กระดูกสันหลังผิดรูปเรื้อรัง หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ โดย NARAI LLIF มีจุดเด่นอยู่หลายข้อด้วยกัน เช่น ถูกออกแบบให้มีรูปทรงภายนอกเป็นหัวกระสุนเพื่อให้ในขณะผ่าตัด สามารถใส่เข้าระหว่างปล้องกระดูกสันหลังได้ง่ายขึ้น, ภายในเจาะเว้ารอบวง เพื่อเพิ่มปริมาตรให้สามารถใส่สารทดแทนกระดูก (Bone Graft) สำหรับปลูกถ่ายกระดูกได้เพียงพอ ตลอดจนมีพื้นที่สัมผัส (Surface Contact) การปลูกถ่ายมากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดการสร้างกระดูกให้เชื่อมติดกันอย่างสมบูรณ์เร็วขึ้น, ออกแบบให้มีขนาดเหมาะสมกับปล้องกระดูกของคนเอเชีย อีกทั้งมีไซส์ค่อนข้างละเอียดหลากหลาย เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ใกล้เคียงกับขนาดของกระดูกผู้ป่วยในแต่ละเคสที่สุด

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการ ได้แก่ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด นำเสนอ สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร ให้บริการ Outsource งานวิทยาศาสตร์อาหารในด้านการปรุงรสชาติแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือสร้างกระบวนการผลิตเอง หรือเรียกว่า Food Science As A Service อีกทั้งนิธิฟู้ดส์ยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสอาหารมากว่า 20 ปี ได้พัฒนาโครงการบริการวิจัยและพัฒนารสชาติอาหาร และผลิตเครื่องปรุงรสอย่างครบวงจร สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้พัฒนารสชาติผลิตภัณฑ์อาหารของตนเองได้ โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น รวดเร็วต่อการทำตลาด เหมาะกับสินค้าเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2560 ให้บริการมาแล้วมากกว่า 150 ผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 30 โครงการ

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร ได้แก่ บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด นำเสนอ ศูนย์รับน้ำนมดิบและฟาร์มโคนมต้นแบบ ที่รวบรวมเทคโนโลยี และระบบการจัดการฟาร์มโคนมที่สามารถทราบรายละเอียดโคนมในฟาร์มทุกตัว ทั้งเรื่องสุขภาพโค และผลผลิตที่ได้ในแต่ละตัว แต่ละวัน และเก็บข้อมูลตลอดช่วงการให้นมของโคแต่ละตัว รวมถึงการจัดการระบบต้นทุนภายในฟาร์ม เพื่อการพัฒนาฟาร์มที่ตรงจุดและรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ (Premium Milk) ในต้นทุนที่เหมาะสม และพัฒนาการเลี้ยงโคนมแบบเป็นระบบ เพื่อส่งต่อให้กับเกษตรกรที่มีความรัก และสนใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมที่เป็นอาชีพพระราชทาน

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ในปีนี้มี 2 กิจการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ควีน เมดิคัล กรุ๊ป เป็นผู้ผลิต จำหน่าย และให้บริการ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกชนิด นำเสนอ เตียง All in One ผลิตภัณฑ์สำหรับช่วยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงตัวแรก ที่ได้รวมความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วยไว้ทั้งหมดบนเตียงแบบ All in One คือ ช่วยป้องกันการเป็นแผลกดทับ ด้วยการปรับเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน ได้ง่าย, ทำความสะอาดผู้ป่วยได้ดี ด้วยการนั่งขับถ่าย และการอาบน้ำบนเตียง จึงช่วยประหยัดเงินและแรงงาน ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์หลายตัว เช่น เตียง ที่ยกตัว รถเข็น ไม่ต้องอุ้มมาอาบน้ำและยังปรับเป็นรถเข็นได้อีกด้วย

และอีกกิจการ คือ เดวา ฟาร์ม เป็นฟาร์มฮอปส์ (Hops) แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ตัวฟาร์มมีเนื้อที่ 4 ไร่ ประกอบด้วย 6 โรงเรือน ปลูกฮอปส์มากกว่า 50 สายพันธุ์ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถปลูกฮอปส์ ซึ่งเป็นพืชเมืองหนาว ที่ตามปกติต้องปลูกที่ระดับละติจูดตั้งแต่ 35 ขึ้นไปจนถึงประมาณ 50 หรือพื้นที่ส่วนใหญ่มีหิมะตกเท่านั้น แต่ด้วยระบบ Smart Farm ที่พัฒนาขึ้นเอง อันประกอบด้วย ระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบพ่นและปรับความเข้มข้นของปุ๋ยอัตโนมัติ Bio Control ทำให้ได้ความแม่นยำในการปลูก วัดผลได้ และใช้แรงงานน้อย จึงทำให้สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตฮอปส์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว เดวา ฟาร์ม กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูงอีกกว่า 100 สายพันธุ์

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ ได้แก่ บริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด เป็นผู้พัฒนา IoT Tracking เพื่อใช้สำหรับติดตามสิ่งของต่างๆ รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการติดตามภายใต้แบรนด์ XENTRACK เป็นการทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายต่างๆ ได้เอง เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งของนั้นอยู่ที่ไหนหรือว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง หลักการ คือ พยายาม Tracking สิ่งของในอาคารแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้เห็นตลอดว่าสิ่งของเคลื่อนที่จากไหนไปไหนบ้าง โดยเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อการติดตามทรัพย์สินในโรงพยาบาล หลังจากพบปัญหาว่าในโรงพยาบาลจะมีอุปกรณ์บางอย่างที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องให้น้ำเกลือ เครื่องอัลตราซาวด์ จึงได้พัฒนา IoT เพื่อใช้สำหรับติดตามอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมา โดยปัจจุบันได้ทำให้กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการออกแบบ บริษัท ประสบกานต์ ดีไซน์ จำกัด เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ PARA (พาร่า) ที่เป็นการรวมกันระหว่างคีย์เวิร์ด 3 คำ ได้แก่ ประเทศไทย สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม จึงเป็นแบรนด์ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทย ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมแบบเรียบง่าย (Simply Innovative Design) ดังเช่นตัวอย่างสินค้า Collection แรกคือ Tree-in-One , จุกปิดขวดแก้วนวัตกรรมรักษ์โลก สินค้านี้สนับสนุนให้ผู้ใช้นำขวดแก้วที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในครัวเรือน โดยมาพร้อมกับการใช้งานรูปแบบใหม่ที่สามารถปิดขวดได้อย่างสนิท รินน้ำได้ และเป็นกรวยกรอกน้ำได้ด้วย จึงทำให้ผู้ใช้สนุกกับการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่เป็นที่รองแก้วได้

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บริษัท มอร์ลูป จำกัด เป็นตัวกลางนําผ้าคุณภาพดีที่เกินจากการผลิตของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้ามาส่งถึงมือลูกค้าที่ต้องการในราคาจับต้องได้ เพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้าที่ต้องมีสต็อกผ้าเหลือค้าง และตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้ผ้าเนื้อดีในปริมาณไม่มาก โดยผ่านการเลือกสรรผ้าส่วนเกินที่ซ่อนอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย และนําผ้าเหล่านี้มาขายผ่านตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ www.moreloop.ws เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบหลากหลายมากขึ้น ทําให้เกิดการร่วมกันใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการผลิตใหม่ เพราะการผลิตผ้าใหม่แต่ละครั้งใช้น้ำและพลังงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้สารเคมี และก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วย

รางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ บริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด นำเสนอผลิตภัณฑ์แคลเซียม MCHC (Microcrystalline Calcium Hydroxyapatite) ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซียมรูปแบบอื่น โดยผลิตจากธรรมชาติด้วยการนำวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปปลาทะเลมาเพิ่มมูลค่า และพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อป้องกันและฟื้นฟูโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกพรุน ภายใต้แบรนด์ UNC Calcium จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกและฟันที่สึกหรอ, ฟื้นฟูอาการกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อม เช่น ข้อเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อคอเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ช่วยยับยั้งและลดอาการปวดกระดูก, ช่วยทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่น และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมวลกระดูก ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว ที่สำคัญไม่มีผลต่อกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ไม่เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกเหมือนแคลเซียมรูปแบบอื่น นอกจากนี้ บริษัทยังได้อนุสิทธิบัตรในเรื่องของกระบวนการผลิตแคลเซียมจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วย
นี่คือตัวอย่างของ SME ไทย ที่เลือกสร้างความสำเร็จด้วยคำว่า “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญในการแข่งขันยุคดิจิทัล ใครไม่อยากตกยุคและอยากเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ก็ต้องพัฒนาตัวเองและหาโอกาสจากคำว่านวัตกรรมเช่นเดียวกับพวกเขาเหล่านี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี