ถอดสูตรรบ ‘สปาภูเก็ต’ อยู่อย่าง Strong ครองใจลูกค้าระดับโลก




Main Idea

 
  • สปาไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้แต่ในเกาะเล็กๆ อย่างภูเก็ต ยังมี Day Spa ให้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15-17 ล้านคน
 
  • ทว่าแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินในกระเป๋ากลับไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงยังมีน้อยราย ธุรกิจสปาใช้กลยุทธ์ตัดราคากันเอง ส่งผลให้การทำสปาในยุคนี้มีราคาต่ำกว่ายุคก่อนเกือบเท่าตัว
 
  • สำหรับสปาภูเก็ต พวกเขาใช้กลยุทธ์ผนึกกำลังสู้  สร้างมาตรฐานสปาและราคาที่เป็นบรรทัดฐาน นำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ รวมตัวกันสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน สร้างจุดขายที่แตกต่างเพื่อดึงดูดลูกค้าระดับโลก




     สปาไทยเคยเป็นธุรกิจจรัสแสง เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาเยือนประเทศไทย แม้แต่ในเกาะเล็กๆ อย่างภูเก็ต ยังมี Day Spa แบบ 40-60 เตียงให้บริการกว่า 30 แห่ง และแบบ 60-200 เตียงอีกประมาณ 30 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15-17 ล้านคน


     แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ทว่าเม็ดเงินในกระเป๋ากลับไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกลับมีจำนวนน้อยราย ซ้ำเพื่อช่วงชิงลูกค้าทำให้ธุรกิจสปาต้องหันมาใช้กลยุทธ์ตัดราคากันเอง ส่งผลให้การทำสปาในยุคนี้มีราคาต่ำกว่ายุคแรกๆ เกือบเท่าตัว


     พวกเขาจะรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร มาฟัง “รัตนดา ชูบาล” นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต พูดถึงทางออกในเรื่องนี้





      “จากปัญหานี้เอง ทำให้ในเบื้องต้นเราได้รวบรวมเพื่อนสมาชิกกว่า 150 ราย เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานสปาและราคาที่เป็นบรรทัดฐานขึ้น และจะค่อยๆ ให้สมาชิกเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนถึงผลประโยชน์ที่ได้รับไปถึงสมาชิกอีกทั้ง 300 กว่ารายที่มีอยู่” เธอบอกหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา รับมือกับการแข่งขันและสงครามราคาในธุรกิจสปาโลคัล


     ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งที่จะทำให้สมาชิกไม่ตัดราคากันเองก็คือ ต้องทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ทางคณะกรรมสมาคมฯ จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการทำธุรกิจสปาในวันนี้มากขึ้น ทั้งในด้านการจองร้านนวดผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน (Agent) ทำให้เจ้าของธุรกิจสปาไม่โดนหักเปอร์เซ็นต์เหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยในเรื่องสถิติข้อมูลต่างๆ เช่น ลูกค้าชอบทำสปาแนวไหน เพื่อนำไปใช้วางแผนการทำการตลาดต่อไปได้ด้วย





     นอกจากช่วยเพิ่มเรื่องรายได้ สมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสั่งวัตถุดิบจำพวกสมุนไพรต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำทรีตเมนต์ ทำสครับ ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกสามารถลดต้นทุน และไม่ต้องสต็อกสินค้า รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาคมฯ อีกทางด้วย เพื่อเอาไว้บริหารจัดการในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดอบรมให้กับสมาชิก ทำให้สมาคมฯ สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน


     “ธุรกิจสปาสร้างรายได้ให้กับประเทศปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์มาจาก สปาภูเก็ต รายได้เหล่านี้ยังกระจายไปถึงรากหญ้า ชาวไร่ที่ปลูกสมุนไพร ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ แม้แต่พนักงานนวดบางคนอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ แต่มีงานทำมีรายได้ไม่ต้องเบียดเบียนใคร” เธอบอกความสำคัญของสปาภูเก็ต
               




     หากต้องการยกระดับธุรกิจสปาไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รัตนามองว่า สิ่งที่ธุรกิจสปาไทยยังขาดก็คือ บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาธุรกิจสปา เพราะภาคการศึกษายังไม่มีหลักสูตรการทำธุรกิจสปาที่เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนสาขาอาชีพอื่นๆ ฉะนั้นถ้าสามารถบรรจุความรู้ศาสตร์นี้เข้าไปในสถาบันการอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัยได้ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานธุรกิจสปาไทยให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้


     “วันนี้ต้องยอมรับว่าพนักงานที่มาทำงานในสปาถึงจะจบปริญญาตรีแต่ก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจสปาโดยตรง ทั้งพนักงานตั้งแต่ระดับบนถึงล่าง ทำให้เมื่อมาทำงานจริงเจ้าของสปาต้องเป็นคนให้ความรู้เฉพาะด้านทั้งเรื่อง  อโรมา อนาโตมี โน่นนี่นั่น หรือแม้แต่คนที่เป็นผู้จัดการร้านซึ่งจะต้องผ่านการอบรม 100 ชั่วโมงก่อนมาทำงานจริง  แต่ 100 ชั่วโมงก็ยังลึกไม่พอ เพราะจริงๆ แล้วเขาจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเทรนพนักงานได้ทุกคนทุกระดับ แม้แต่พนักงานนวดเองก็จะต้องมีความรู้เพื่อให้ลูกค้าที่มารับบริการสามารถกลับออกไปอย่างปลอดภัยด้วย”


     เธอบอกอีกว่า ในวันนี้เรื่องภาษาก็สำคัญ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ นอกจากภาษามือ ภาษากายที่คนไทยมีความอ่อนน้อมและทำได้เป็นอย่างดีแล้วถ้าพวกเขาสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ฉะนั้นวันนี้จึงต้องทำบทให้กับพนักงานเพื่อใช้สื่อสารเบื้องต้นด้วย





     นายกสมาคมฯ กล่าวต่ออีกว่าสิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดเพราะอยากเห็นที่ภูเก็ตมีธุรกิจสปาที่ได้มาตรฐานจำนวนมากขึ้น โดยวิธีการหนึ่งที่ทำได้คือ การส่งธุรกิจเข้าประกวดในทุกๆ เวที เพราะจะได้รับทั้งคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และยังได้อัพเดตข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจ จึงช่วยทำให้ธุรกิจแข็งแรงโดยไม่ต้องลงทุนอีกด้วย


     “ทุกวันนี้ในต่างประเทศเองก็มี Thai Massage เยอะมาก การที่ลูกค้าจะมาหาเราจึงต้องมีสิ่งที่แตกต่าง มีประสบการณ์ใหม่ๆ มีเรื่องเล่า เช่น นำมโนห์รามาผสมผสานในการนวดให้แตกต่างจากภาคอื่นๆ ทำให้สปาในภูเก็ตเป็นที่จดจำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าต้องการมาเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วเราจะได้เงินลูกค้า และเมื่อทุกร้านได้

 
     มาตรฐานมีเอกลักษณ์จะเป็นที่เลื่องลือว่าในภูเก็ตมีสปาที่คุณไม่ควรพลาดก็จะทำให้มีลูกค้ากลับมาแบบปากต่อปาก”


     และนั่นคือ หนทางสร้างความยั่งยืนให้กับสปาภูเก็ต อีกธุรกิจที่ยืนอยู่บนความท้าทายในวันนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน