เจาะ 3 เรื่องลับแบรนด์ ST กาแฟดีคู่เมืองชุมพร ผู้ริเริ่มทำกาแฟ Specialty มาเกือบ 30 ปี

Text : sir.nim





Main Idea
 
  • ST คือแบรนด์กาแฟคุณภาพ บนพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าผืนสุดท้ายของจังหวัดชุมพร ซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกกาแฟมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด และส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ทว่าปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
 
  • ด้วยกลยุทธ์ที่คิดต่าง ทำต่าง จึงทำให้ ST ยืนเทียบชั้นแบรนด์กาแฟรุ่นพี่ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี อะไรคือเรื่องลับของความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ไปติดตามกัน



                
     ย้อนไปกว่า 40 ปีก่อน ในยุคที่การปลูกกาแฟโรบัสต้าเฟื่องฟูในจังหวัดชุมพร โดยมีการปลูกกาแฟมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกและส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก กาแฟ 1 กิโลกรัมสามารถขายได้ราคาสูงถึง 120 บาท ในขณะที่ทองคำ 1 บาทขายอยู่เพียงพันกว่าบาทเท่านั้น แสงทองการค้า ร้านรับซื้อพืชผลทางการเกษตร คือหนึ่งในผู้ริเริ่มปลูกกาแฟชุมพรในยุคแรกๆ เช่นกัน



     แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปจากสินค้าราคาดีเมื่อถูกผลิตออกมาจนล้นตลาด จากกิจการที่เคยเฟื่องฟูก็ต้องกลับติดลบ หนี้สินกว่า 40 ล้านบาทคือ สิ่งที่เข้ามาแทนที่ ทำให้ ปณิธาน โชคดี และพี่ชายอีก 2 คน (เกษมสานต์-พสิษฐ์ โชคดี) ต้องเข้ามาช่วยกู้วิกฤตของครอบครัว จากผลผลิตกาแฟที่เหลืออยู่ จึงได้นำมาต่อยอดเป็นกาแฟสำเร็จรูปขึ้นมาภายใต้แบรนด์ ST กาแฟชุมพร (ย่อมาจากแสงทองการค้า) ด้วยกลยุทธ์ที่คิดต่าง ทำต่าง จึงทำให้มายืนเทียบชั้นวางกับแบรนด์กาแฟรุ่นพี่ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี พร้อมกับภาระหนี้สินที่คลี่คลายลง อะไรคือเรื่องลับของความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ ดังกล่าวมายืน ณ จุดนี้ได้ ไปฟังพร้อมๆ กัน
 




ลับที่
1 : กาแฟสำเร็จรูปถุงฟอยด์เจ้าแรกๆ ในไทย
               

     “เราเป็นเพียงแบรนด์เล็กที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ทำได้คือการสร้างความแตกต่าง ตอนนั้นเราทำอยู่ 2 อย่าง คือ 1.รสชาติ เราพบว่าตลาด ณ ตอนนั้นมีแบรนด์กาแฟยี่ห้อหนึ่งที่ขายดี แต่ก็ยังมีจุดด้อยคือ ติดที่รสเปรี้ยว เราจึงพยายามทำออกมาไม่ให้มีรสเปรี้ยว 2.แพ็กเกจจิ้ง ผมเชื่อว่า Packaging is a product ในเมื่อเรามีทุนอยู่ไม่มาก แพ็กเกจจิ้งที่ดีจะช่วยให้สินค้าขายได้ ซึ่งตอนนั้นแพ็กเกจจิ้งของกาแฟสำเร็จรูปทั่วไปแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็ยังใช้เป็นถุงพลาสติกมันๆ แทบทั้งหมด ไม่มีพับด้านข้าง ผมจึงนำซองขนมตัวอย่างจากต่างประเทศเป็นถุงฟอยด์ ผิวสัมผัสด้านมาให้โรงงานทดลองผลิตให้ โดยใช้เวลาคิดอยู่ 4 เดือนจึงจะได้แพ็กเกจจิ้งที่ถูกใจ ในขณะที่รสชาติกาแฟใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียวก็ได้สูตรที่ต้องการ





     ปรากฏว่าพอทำออกมาเราคิดถูก ลูกค้าหยิบสินค้าเราเพราะแพ็กเกจจิ้งที่แตกต่างจริงๆ เราจึงกลายเป็นแบรนด์กาแฟสำเร็จรูปแรกๆ ของไทยที่ใช้ซองฟอยด์มาทำแพ็กเกจจิ้งเมื่อปี 2551 หลังจากนั้นแบรนด์อื่นก็เริ่มใช้บ้าง การมีแพ็กเกจจิ้งที่ดียังทำให้เราได้รับเลือกให้เป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของจังหวัดชุมพร มีโอกาสได้ไปออกบู๊ธทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้สินค้ากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
 




ลับที่
2 : ร้านกาแฟโรบัสต้า 100 เปอร์เซ็นต์ แห่งแรก และแห่งเดียวในไทย
               

     “ผมมีโอกาสไปเที่ยวไร่กาแฟทางภาคเหนือ ได้ยินคนดูถูกว่ากาแฟโรบัสต้าเป็นกาแฟราคาถูก รสชาติไม่ดี พอกลับมาจึงอยากพัฒนากาแฟของเราให้ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกรในการเก็บผลผลิตให้ถูกต้อง รวมถึงพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟของตัวเองให้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่เดิมผมเปิดร้านกาแฟตรงด้านหน้าโรงงานผลิต ความตั้งใจแรกแค่อยากให้เป็นพื้นที่พักผ่อนของตัวเอง แต่ทำไปทำมากลับได้รับความนิยม ขายได้วันละอย่างต่ำ 100-200 แก้ว วันหยุดเทศกาลก็ 400-500 แก้ว จากจ้างพนักงานแค่ 2 คนต้องเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน โดยช่วงแรกนั้นกาแฟในร้านเราใช้โรบัสต้าและอาราบิกาเข้ามาผสมด้วย แต่หลังจากได้เริ่มจริงจังกับการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพมากขึ้น ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นโรบัสต้า 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นป้ายตัวใหญ่ๆ ติดไว้ในร้านเลย ใครได้รู้ก็แปลกใจไม่คิดว่าโรบัสต้าจะทำได้ขนาดนี้ จากจุดนั้นทำให้เราเป็นร้านกาแฟร้านแรกและร้านเดียวในประเทศไทย ณ ตอนนี้ที่ใช้โรบัสต้ามาทำเป็นเมนูกาแฟทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์”
 



ลับที่
3 : ผู้ริเริ่มผลิต Specialty Coffee ในไทย ตั้งแต่ยุคที่ร้านกาแฟสดยังไม่บูม
               

     “ในขณะที่เรากำลังพยายามพัฒนาคุณภาพกาแฟของตัวเองให้ดี โดยทำกระบวนการเดียวกับกาแฟสเปเชียลตี้ กลับพบว่าครอบครัวตัวเองเคยทำวิธีการเดียวกันนี้มาก่อนเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว โดยเมื่อประมาณปี 2535 สมัยผมเด็กๆ คุณพ่อกับคุณแม่เคยร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นชื่อ สาริกา คานูม่า ได้เข้ามาสาธิตวิธีการทำกาแฟแบบใหม่ที่เรียกว่า Wet Process หรือ การทำกาแฟแบบเปียก เพราะให้รสชาติดีกว่าแบบแห้งซึ่งนิยมทำกันในตอนนั้น แต่ทำอยู่ได้แค่ 3 ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเพราะพิษเศรษฐกิจ สมัยนั้นอย่าว่าแต่การทำกาแฟสเปเชียลตี้เลย แม้แต่ร้านกาแฟสดก็ยังแทบจะไม่มีเลย พอได้กลับมาทำใหม่อีกครั้งในรุ่นผม คุณแม่ก็สนับสนุนเต็มที่เพราะท่านเป็นคนรักกาแฟมาก ยอมโค่นต้นยางพาราอายุ 7 ปีกว่า 40 ไร่ให้ปลูกกาแฟ ทั้งที่รออีกแค่ปีเดียวก็สามารถเก็บน้ำยางขายได้แล้ว รวมถึงอุปกรณ์บางอย่างที่เหลืออยู่ อย่างถาดตากกาแฟอะลูมิเนียมขนาด 1 x 3 เมตร จำนวน 72 ใบที่ใช้อยู่นี้ ก็ได้ตกทอดมาจากคุณแม่
               



     “วัตถุประสงค์ของการทำตรงนี้ขึ้นมา นอกจากเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของกาแฟโรบัสต้าแล้ว ผมอยากช่วยรักษาพื้นที่กาแฟโรบัสต้าผืนสุดท้ายของจังหวัดชุมพรเอาไว้ด้วย ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ชาวสวนหันไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน เพราะได้ราคาดีกว่า สิ่งที่ผมทำได้คือ การเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาที่เขาต้องดูแลใส่ใจกาแฟให้กับเรา ตอนนี้ผมมีโปรเจกต์หนึ่งคือ เปิดร้านกาแฟสดใช้ชื่อว่า แสงทอง ตามชื่อไร่เดิม โดยใช้เมล็ดกาแฟโรบัสต้าคุณภาพที่เราตั้งใจพิถีพิถันในการผลิตมาปรุงเป็นกาแฟสดให้กับลูกค้า โดยหากสามารถทำได้สำเร็จ กาแฟผืนสุดท้ายแห่งนี้ของจังหวัดชุมพรก็จะยังคงอยู่ต่อไปได้” ปณิธานบอกความมุ่งมั่นในตอนท้าย  
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน