ถอดสูตรธุรกิจ “HERBALIST SIAM” จาก OEM สู่เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางข้าวไทยในตลาดโลก

Text : sir.nim


 
 
Main Idea
 
  • จากผู้อยู่เบื้องหลังการรับจ้างผลิตมานาน วันหนึ่งหากมีโอกาสผู้ประกอบการ OEM หลายคนก็คงคิดอยากขยับตัวเองขึ้นมา เพื่อสร้างสินค้าและแบรนด์ของตัวเองดูสักครั้ง 
 
  • แต่การจะเปลี่ยนจาก OEM มาเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลองมาดูกรณีศึกษาของ “HERBALIST SIAM” แบรนด์เครื่องสำอางจากข้าวไทย ที่เริ่มต้นจากผู้ผลิต OEM จนวันหนึ่งสามารถไปแข่งขันอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 
 
 


     การทำธุรกิจ แม้อาจเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM แต่ในวันหนึ่งเมื่อทักษะความชำนาญพร้อม จากผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสินค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ก็ถึงเวลาที่จะก้าวเดินออกมายืนอยู่ข้างหน้ากับเขาบ้าง แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียวที่อยู่ดีๆ จะให้คนที่อยู่กับสายการผลิตอย่างเดียวมานานลุกขึ้นมาปลุกปั้นสร้างแบรนด์ในธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยังทำความรู้จักในตลาดได้ไม่มากพอ
 



     “HERBALIST SIAM” แบรนด์เครื่องสำอางจากข้าวไทย เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ต่อยอดมาจากธุรกิจรับจ้างผลิต ซึ่งกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทัตภณ จีรโชตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วธูธร จำกัด ได้แชร์เรื่องราวให้ฟังว่า


     “เดิมทีเราเป็นบริษัทรับจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบ OEM และ ODM คือ ทั้งรับจ้างผลิตตามที่ลูกค้าสั่งและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ด้วย เพื่อให้เจ้าของธุรกิจต่างๆ ได้นำไปทำตลาด และสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง โดยมีทั้งเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า ผิวกาย เมคอัพ ยาสีฟัน ฯลฯ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงแรมต่างๆ จุดเด่นของเรา คือ เป็นผลิตสินค้าที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติและออร์แกนิก ซึ่งจากเดิมเรามีรายได้อยู่ที่ปีละ 10-20 ล้านบาท แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการกับกสอ.(กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) เขามีการสนับสนุนให้สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง เราจึงได้เริ่มมองหาสิ่งที่เราถนัด และอยากทำ จนมาสรุปที่เครื่องสำอางจากข้าวหอมมะลิแดง หรือ ข้าวมันปู ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวทั่วไป 31 เท่า และเราหาอะไรที่สื่อถึงความเป็นไทยด้วย ซึ่งข้าวก็คือ อาหารหลักของคนไทย โดยเราสามารถสกัดสารจากแคลลัสที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากจมูกข้าวหอมมะลิแดง หรือเรียกว่า สเต็มเซลล์ มีคุณสมบัติพิเศษเป็นโปรตีนธรรมชาติ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังและต่อต้านชะลอความชราในผิว ซึ่งในตลาดโลกยังไม่ค่อยมีใครนำจุดนี้มาเป็นจุดขาย จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 40 – 50 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดมาก การที่เรามีทั้ง OEM และ Branding ด้วย ทำให้วันหนึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นมากับขาข้างหนึ่ง เราก็ยังเหลืออีกขาหนึ่งให้อยู่ได้”


     แต่กว่าจะส่งผลสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทัตภณเล่าว่า เขาต้องเรียนรู้ใหม่ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาที่เป็นผู้ผลิตอยู่เบื้องหลังมาตลอด โดยหากจะให้ถอดสูตรความสำเร็จออกมาสามารถแบ่งได้เป็น 4 ข้อดังนี้


 
  • ทำในสิ่งที่ถนัด

     เขาบอกว่า สิ่งแรกที่ต้องมอง คือ ตัวเองถนัดอะไร มีข้อดีข้อเด่นคืออะไร ซึ่งได้ข้อสรุปว่า คือการเป็นโรงงานผลิตที่ผลิตเครื่องสำอางจากส่วนผสมของวัตถุดิบธรรมชาติ รวมถึงวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิกอยู่แล้ว จึงนำตรงนี้มาต่อยอด และผลิต HERBALIST SIAM ออกมา นอกจากนี้ยังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้ล้อไปด้วยกัน เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ก็ใช้เป็นกระดาษ ไม่เคลือบลามิเน็ต ใช้หมึกถั่วเหลืองในการพิมพ์เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด
 
 
  • สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม

     เมื่อเลือกทำในสิ่งที่ถนัดแล้ว สิ่งที่พวกเขาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก ก็คือ การนำนวัตกรรมเข้ามาใส่  เพราะเชื่อว่านวัตกรรมทำให้เกิดความแตกต่าง โดดเด่น สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ดีได้ ซึ่งจากงานวิจัยของสวก. (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงบอกไว้ว่า สเต็มเซลล์จะมีประสิทธิภาพมากกว่าสารสกัดจากข้าวธรรมดาสูงกว่าปกติ 6-10 เท่า นั่นหมายความว่านวัตกรรม คือ ตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์ กลายเป็นเครื่องสำอางจากสเต็มเซลล์จากข้าวไทย ที่มีโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศได้
 
 
  • หาจุดเด่นที่คนอื่นยังไม่มี

     ทัตภณ บอกว่าการที่แบรนด์ไทยจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ต้องหาจุดเด่นจุดขายของตัวเองให้เจอ อย่าง แบรนด์ดิ้งของเมืองไทยที่เป็นจุดเด่นไม่เหมือนใคร นั่นคือ ข้าว คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก เรามีประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่างเกี่ยวกับข้าว ซึ่งในมุมของอาหารต่างรู้กันดีว่าข้าวไทยขึ้นชื่อในเรื่องความอร่อยที่ไม่เหมือนที่อื่น แต่ในมุมของเครื่องสำอางผลิตภัณฑ์คอสเมติก ยังไม่มีการนำข้าวไทยมาใช้หรือพูดถึงอย่างจริงจัง เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า เวลาไปจีนเรายังต้องไปซื้อบัวหิมะ ไปเกาหลีก็ซื้อโสมเกาหลี แต่ในไทยยังไม่มีใครพูดว่ามาไทยต้องไปซื้อเครื่องสำอางจากข้าว พวกเขาเลยนึกถึงจุดเด่นนี้ขึ้นมา และหวังหยิบใช้ให้เป็นจุดขาย
 

  • เน้นคุณภาพ

     ทัตภณ บอกอีกว่า การที่จะเปิดตัวสินค้าขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ กระบวนการผลิต มาตรฐานต่างๆ และชูเรื่องพวกนี้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับแบรนด์ HERBALIST SIAM ที่เขาพยายามทำให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียมเกรด ขายในราคาหลักพัน เพราะเชื่อว่าเครื่องสำอางที่ผลิตจากข้าวน่าจะเป็นเครื่องสำอางระดับโลกได้เช่นกัน 
 



 
  • เจาะ Insight จาก OEM สู่ Branding ไปยังไง

     จากสูตรความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ครั้งแรกที่กล่าวมาแล้วนั้น ทัตภณยังได้ฝากคำแนะนำ และข้อควรระวังสำหรับผู้ประกอบการ OEM สู่การผลิตสินค้า สร้างแบรนด์ของตัวเองไว้ดังนี้


     “เริ่มจากการตลาดก่อน ปกติเราทำ OEM คือ การขายแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ เรียกว่า B2B คือ ผลิตสินค้าให้กับธุรกิจหนึ่ง เพื่อให้นำเขาไปขายต่อ สิ่งที่เราพยายามสื่อสารออกไปถึงกลุ่มลูกค้าตอนนั้น คือ ประสิทธิภาพและต้นทุน แต่พอมาทำแบรนด์ของตัวเองเป็น B2C การปรับตัวหรือสื่อสารการตลาดต้องต่างออกไป โจทย์ของเราคือต้องพยายามสื่อสารออกไปให้ได้ว่าข้าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่บนโต๊ะอาหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สามารถเป็นเครื่องสำอาง หรืออื่นๆ อีกได้ และ HERBALIST SIAM ไม่ใช่สารสกัดข้าวธรรมดา แต่คือ สเต็มเซลล์ และมันดีกว่ายังไง นี่คือ สิ่งที่เปลี่ยนไป การสื่อสารที่เคยเป็น B2B เดินถือกระเป๋าเข้าไปพรีเซ็นต์งาน กลายเป็นต้องสื่อสารออกไปยังวงกว้างเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ ถามว่าปรับตัวแค่ไหน พูดได้เลยว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ที่เริ่มทำแบรนด์ เราเปลี่ยนตัวเองเลยดีกว่า จากเดิมที่ไม่เคยรู้เรื่องเฟซบุ๊ก โซเซียลมาร์เก็ตติ้ง   กูเกิลอะไรเลย ก็ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ศึกษา แต่เราเพิ่มทีมงานดูแลด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งขึ้นมาเลย ทีมคอนเทนต์ กราฟฟิกตัดต่อ ถ่ายวิดีโอ อีกองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความพร้อมของโรงงาน ทั้งองค์ความรู้ที่จะผลิต รวมถึงกำลังการผลิตที่จะรองรับการผลิตใหม่ที่จะเข้ามา เราต้องมองภาพเผื่อไว้เลยในอนาคตว่าหากเราหันมาเพิ่มการทำธุรกิจตรงนี้ขึ้นมา กำลังการผลิตของเราจะสามารถรองรับได้หรือไม่ ต้องบริหารจัดการยังไง ต้องคิดเผื่อไว้ทุกอย่าง ซึ่งการที่เรามีโรงงานผลิตของตัวเอง ทำให้เราได้เปรียบ เช่น อยากจะผลิตในปริมาณไม่มากเพื่อทดลองตลาดดูก่อน เราก็สามารถทำได้ เพราะเรามีไซส์การผลิต OEM สำหรับแบรนด์รายใหญ่ และรายเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจอยากลองทำน้อยๆ อยู่แล้ว” เขากล่าวปิดท้าย
 

     นี่คือหนึ่งภาพสะท้อนที่บอกเราว่า ไม่มีอะไรที่ SME ไทยทำไม่ได้ แม้แต่อดีตคนรับจ้างผลิต ก็สามารถสร้างแบรนด์สู่ระดับโลกได้เช่นกัน ถ้าเพียงเปลี่ยนความคิด ศึกษาหาความรู้และลงมือทำ เช่นเดียวกับ HERBALIST SIAM แบรนด์เครื่องสำอางข้าวไทยในวันนี้



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ