“ยู้ ฟิชบอล” แปลง หัว หนัง ก้างปลามหาศาล ให้เป็นนวัตกรรมเสริมแกร่งมวลกระดูกมนุษย์

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย 





Main Idea
 
 
  • ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเหลือทิ้งน้อยที่สุด เพราะนั่นคือหนทางการลดต้นทุน รวมถึงยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
 
  • ยู้ ฟิชบอล นำวัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปลูกชิ้นปลา อย่าง ก้าง หนัง และหัวปลามาสร้างผลิตภัณฑ์แคลเซียม MCHC ที่ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซียมรูปแบบอื่น ช่วยป้องกันและฟื้นฟูโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกพรุนโดยเฉพาะ
 
  • สิ่งที่ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ธุรกิจ คือ องค์ความรู้ (Know How) และยังช่วยสร้างงานให้กับผู้คนได้อีกเยอะมาก รวมถึงยังคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ที่ผ่านมาได้อีกด้วย 
 
 
 
 
     ความท้าทายอย่างยิ่งของผู้ประกอบการร้านอาหารในปัจจุบัน คือการจัดการวัตถุดิบให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และเหลือทิ้งน้อยที่สุด เราจึงได้เห็นเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งพยายามลดการสร้างขยะ หรือนำวัตถุดิบเหลือใช้ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่สำหรับ ยู้ ฟิชบอล พวกเขาทำมากกว่านั้น คือหยิบเอาเศษก้างปลาเหลือทิ้งจากหลังครัวมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ กลายเป็นแคลเซียมที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระดูกของมวลมนุษย์


     ยู้-เกยูร โชคล้ำเลิศ คือทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านลูกชิ้นปลาเยาวราช “อึ้งเป้งชุง” เจ้าของตำนานความอร่อยที่คนต้องมาต่อคิวยาวเหยียดเพื่อลิ้มลองลูกชิ้นปลาและน้ำซุปรสเด็ด เธอต่อยอดธุรกิจโดยการยกหม้อน้ำซุปข้ามฝั่งมาเปิดร้าน ยู้ ฟิชบอล (Yoo Fish ball) ร้านลูกชิ้นปลาเสิร์ฟด่วนที่สามารถขยายสาขาออกนอกเยาวราชสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จนกระทั่งส่งออกลูกชิ้นปลาไปยังญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ฮ่องกง และบรูไน
 




ธุรกิจเติบใหญ่ไปพร้อมกับปริมาณขยะ


     เมื่อธุรกิจเติบโตไปไกล สิ่งที่พบหลังจากนั้น คือ วัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปปลาจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ก้างปลา หนังปลา และหัวปลา ที่ต้องลงทุนใช้ห้องเย็นถึง 3 ห้องเพื่อเก็บของเหลือทิ้งเหล่านี้ก่อนนำไปกำจัด ยู้ก็เหมือนผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ส่วนที่เหลือนั้นไม่สูญเปล่า โดยคิดถึงการผลิตเป็นขนมขบเคี้ยวอย่างก้างปลาหรือหนังปลาทอดเป็นอันดับแรก แต่ดูเหมือนจะเป็นโชคดีเมื่อเธอได้อ่านงานวิจัยที่ว่าส่วนเหล่านี้อุดมไปด้วยแคลเซียมและคอลลาเจน ทำให้คิดว่าน่าจะทำอะไรที่สร้างคุณค่าได้มากกว่านั้นในวันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก เพราะมีผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่กระดูกหักจากการเป็นโรคกระดูกพรุน





     “เมื่อไปอ่านงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้น เราพบว่าหนังปลาและก้างปลาทะเลน้ำลึกเต็มไปด้วยคอลลาเจนและมีแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีมาก ซึ่งเป็นอาหารของกระดูกได้โดยตรง แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ถูกยกไว้บนหิ้ง นำมาทำเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะใช้เวลาทำนานมาก และต้องใช้กระบวนการทำเยอะ เราเลยลองทำดู หลังจากที่ได้ทุนคูปองนวัตกรรม (โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย) โดยสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. หลังจากนั้นก็เริ่มทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมาขาย”



 

วัตถุดิบของไทยที่ใช่สำหรับคนเอเชีย


     สิ่งที่ยู้ ฟิชบอล พัฒนาออกมาได้คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์แคลเซียม MCHC (Microcrystalline Calcium Hydroxyapatite) ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซียมรูปแบบอื่น เพื่อป้องกันและฟื้นฟูโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกพรุน ช่วยยับยั้งและลดอาการปวดกระดูก ช่วยทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่น และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมวลกระดูก ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว ที่สำคัญไม่มีผลต่อกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ไม่เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกเหมือนแคลเซียมรูปแบบอื่น ออกมาวางขายภายใต้ชื่อแบรนด์ UNC Calcium


     “เราไม่ได้เก่งในเรื่องนี้ แต่คิดแค่ว่าอยากช่วยให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากสิ่งที่เราทำ ที่ตัดสินใจทำเพราะ 1.เป็นฟอร์มแคลเซียมที่ดูดซึมได้ดีที่สุดในโลก และ 2.เป็นฟอร์มที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ซึ่งเราเป็นฟอร์มที่ 2 ที่แตกต่างจากที่มีคนทำแล้วในโลกที่นิวซีแลนด์ โดยเขาก็ได้แร่ธาตุแบบหนึ่งเราก็ได้อีกแบบหนึ่ง และด้วยความที่คนไทยเหมาะกับอะไรที่เป็นวัตถุดิบไทยๆ อะไรที่ปรุงแต่งมากหรือว่า DNA ของคนเอเชียก็อาจไม่เข้ากับวัตถุดิบจากอีกฝั่งของโลกก็ได้” เธอบอกโอกาสของนวัตกรรมที่เกิดขึ้น




 
นวัตกรรมที่สร้างแง่มุมใหม่ให้ธุรกิจ


     วันนี้ผลิตภัณฑ์ UNC Calcium ได้อนุสิทธิบัตรในเรื่องของกระบวนการผลิตแคลเซียมจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปคว้ารางวัล Gold Medal Awards ในเวที International Invention and Innovation Show หรือ INTARG 2018 มาได้สำเร็จ และล่าสุดคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ จากเวทีประกวดนวัตกรรมแห่งปี SME Thailand Inno Awards 2019


     นวัตกรรมทำให้ยู้ ฟิชบอล ขยายธุรกิจไปในแง่มุมที่ไม่เคยคาดคิด สร้างเป็นธุรกิจใหม่และสร้างงานให้กับคนได้มากขึ้น  ขณะเดียวกันเมื่อวัตถุดิบที่เคยเหลือทิ้งถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล ห้องเย็นที่เคยบรรจุของเสียถูกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นโดยนำไปแช่วัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลมากขึ้น 





     เกยูรบอกว่า สิ่งที่เธอได้ไม่ใช่แค่กำไร แต่กลับเป็นความสุขใจที่ได้ช่วยผู้คนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กรที่มีความภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หมายความว่านวัตกรรมสร้างกำไรให้องค์กรและทำให้คนในองค์กรมีความสุขไปพร้อมกัน


     ในอีกแง่หนึ่งภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคมองมายัง ยู้ ฟิชบอล เปลี่ยนไปจากแบรนด์ที่ขยัน สู้ชีวิต กลายเป็นแบรนด์ที่รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้คนสุขภาพดีขึ้นในที่สุด
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน