‘นิธิฟู้ดส์’ คนทำเครื่องเทศที่ลุกมาครีเอทรสชาติอาหารเพิ่มความแซ่บ! ให้ธุรกิจ SME

TEXT :  กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand
 


 
 
 Main Idea
 
  • นิธิฟู้ดส์ คือผู้ผลิตเครื่องเทศอุตสาหกรรม วัตถุดิบสำหรับร้านอาหาร และสินค้าในแบรนด์ตัวเอง ที่ให้บริการอุตสาหกรรมอาหารในไทยและทำตลาดไปหลายประเทศทั่วโลกมานานกว่า 2 ทศวรรษ
 
  • วันนี้พวกเขาใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ขยายธุรกิจสู่ สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร เพื่อให้บริการ Outsource งานวิทยาศาสตร์อาหาร ในด้านการปรุงรสชาติให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย เพิ่มแต้มต่อธุรกิจ SME ไทย
 
  • ผลลัพธ์จากความตั้งใจจริงทำให้บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด คว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 มาได้สำเร็จ สะท้อนการเป็นนักคิดและเปลี่ยนแปลงผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งของพวกเขา


 
 

     บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 เริ่มจากทำเครื่องเทศอบแห้ง และเครื่องเทศเจียวเพื่อส่งเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหาร จนมาเป็นผู้ผลิตเครื่องเทศอุตสาหกรรม วัตถุดิบสำหรับร้านอาหาร และสินค้าในแบรนด์ตัวเอง บริการอุตสาหกรรมอาหารในไทยและทำตลาดไปทั่วโลก ปัจจุบันเข้าสู่ยุคของทายาทรุ่น 2 สมิต ทวีเลิศนิธิ หนุ่มนักเรียนนอกที่เคยร่วมงานกับเดลล์ (Dell) ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ในอเมริกามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว


     “ตอนไปอยู่อเมริกาผมจะกลับบ้านทุกปี เห็นอาม่าตัวเล็กลงทุกครั้ง เลยถามตัวเองว่าไปอยู่เมืองนอกได้เงินเยอะก็จริง แต่ครอบครัวที่เลี้ยงดูเรามาล่ะ จะได้ดูแลเขาเมื่อไร อีกอย่างถ้าอยู่ที่เดลล์สิ่งที่ผมทำได้คือ Employee (ลูกจ้าง) แต่สิ่งที่พ่อให้ผมคือ Employer (นายจ้าง) นั่นหมายความว่า ความรู้จากการที่ผมเรียนบริหารธุรกิจมา จะได้ใช้ทุกอย่างกับธุรกิจที่บ้าน” เขาบอกที่มาของการตัดสินใจกลับบ้าน ในวันที่นิธิฟู้ดส์กลายเป็นธุรกิจร้อยล้าน และมีพนักงานในตอนนั้นอยู่ประมาณ 60 คน ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ในยุคของเขา
 



 
  • ใช้ความเชี่ยวชาญสร้างโอกาสธุรกิจใหม่

     ความท้าทายของทายาทคือมารับไม้ต่อในยุคที่ธุรกิจเริ่มเติบโต ทำอย่างไรให้กิจการของครอบครัวพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม สมิตเริ่มมาวิเคราะห์จุดแข็งของนิธิฟู้ดส์ เขาพบว่า ที่ธุรกิจเติบโตมาได้กว่า 20 ปี เพราะความใส่ใจในคุณภาพและมาตรฐานอาหาร โดยมีการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร และเน้นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพในทุกขั้นตอน สิ่งที่สั่งสมมาคือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร มีบุคลากรและเครื่องมือที่พร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนา และนั่นคือสัญญาณแห่งโอกาสใหม่ของผู้ค้าเครื่องเทศอย่างพวกเขา


     “หลักของเราคือการทำของให้มันอร่อย วิธีการผลิตเรารู้หมดแล้ว จากจุดแข็งนี้เราจะเข้าสู่ตลาดอย่างไร เลยมาดูว่าความสามารถที่เรามีนี้ใครต้องการ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กล่ะ อย่าง SME หรือโอท็อป ที่เขาไม่มีกำลังจ้างผลิตในปริมาณมากๆ ขณะที่รายใหญ่ก็ไม่มองลูกค้ากลุ่มนี้เพราะกำไรน้อย แต่เราสามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ และให้บริการที่เร็วขึ้น ทำให้ตรงนี้มันขยายใหญ่ขึ้น แล้วถ้าวันหนึ่งลูกค้าของเรากลายเป็นอย่างไดมอนด์ เกรนส์ หรือเถ้าแก่น้อยล่ะ ถึงวันนั้นถ้าเขาคิดว่าเรามีจิตที่ดีเขาอาจพาเราขึ้นไปด้วย” สมิตสะท้อนความคิด


     และนั่นคือที่มาของการก่อตั้ง สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ขึ้นในปี 2560 เพื่อให้บริการ Outsource งานวิทยาศาสตร์อาหาร ในด้านการปรุงรสชาติให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยที่ไม่ต้องลงทุนจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือสร้างกระบวนการผลิตเอง หรือเรียกว่า Food Science As A Service เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของ SME เพิ่มโอกาสในการทำตลาดสินค้าใหม่ ให้บริการรวดเร็วเพียง 1-3 สัปดาห์ ในราคาที่ SME เข้าถึงได้ โดยมีจำนวนขั้นต่ำในการสั่งเพียง 5 กิโลกรัม และมีราคาเริ่มต้นต่อโครงการเพียง 3,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของคนทำเครื่องเทศ ที่อยากขยายศักยภาพของพวกเขา ซึ่งปัจจุบันให้บริการมาแล้วมากกว่า 150 ผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 30 โครงการ


     “ธุรกิจของเราก็เหมือนกับการเขียนแบบและสร้างบ้าน ในการทำบ้านถ้าคนหนึ่งเขียนแบบ คนหนึ่งสร้างบ้าน มันจะมีปัญหาตรงที่ว่าบ้านสร้างไม่ได้เพราะคนเขียนแบบไม่เป็น ไม่รู้วิธีสร้าง แต่ถ้าคนสร้างบ้านนั้นเขียนแบบให้ลูกค้าได้ด้วยล่ะ เขาจะรู้ว่าอะไรแพง อะไรถูก อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรใช้เวลานาน แล้วอะไรที่เสี่ยง ฉะนั้นเขาจะดีไซน์เฉพาะสิ่งที่มันเป็นไปได้ง่ายๆ และจบเร็ว และนั่นคือบริการของเรา ที่เกิดจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เรามี จะนำมาช่วยผู้ประกอบการรายเล็กได้”
 



 
  • ผู้รับจ้างทำความฝันที่จะไม่สำเร็จก่อนลูกค้า

     สมิตบอกเราว่า หลายคนมีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่ยังไม่มีใครรับผลิตหรือรับทำความฝันของพวกเขาให้เป็นความจริง และนั่นคือพันธกิจของสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร


     “สิ่งหนึ่งที่เป็นความเชื่อของเราคือ เราจะสำเร็จก่อนลูกค้าไม่ได้ แต่ลูกค้าต้องสำเร็จก่อนเราถึงจะสำเร็จได้ ไม่ใช่เราเก็บเงินเขาครบแล้วที่เหลือจะไปทำอย่างไรจะไปล้มเหลวก็เรื่องของเขา ไม่ใช่อย่างนั้น เอาตรงๆ เราไม่กล้าเก็บเงินเขาด้วยซ้ำ ถ้าเขายังล้มเหลวอยู่ และถ้าลูกค้าสำเร็จเราจะไม่ไปทำแข่งกับเขาเพราะเชื่อว่าทางทำมาหากินยังมีอีกเยอะมาก เราอย่าไปแย่งลูกค้าเขา เอาเวลาไปทำเรื่องที่มันยากที่ลูกค้าเราไม่ทำดีกว่า ถามว่าทำแบบนี้แล้วเราจะได้อะไร สิ่งที่เราได้คือฝีมือเรื่องนวัตกรรมที่อยู่ในองค์กรเรา เอาความสามารถของนักวิจัยและพัฒนาของเราไปทำเรื่องเหล่านี้ เพื่อเป็นฐานให้เขาไปทำเรื่องยากๆ ขึ้นได้ในอนาคต”


     สมิตบอกว่าเรา ในวันนี้การสร้างนวัตกรรมในองค์กรสำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้นการทำธุรกิจจะเหนื่อย และไฟในการทำงานของคนจะหมด


     “ผมเชื่อว่าการจะดึงดูดคนเก่งให้มาทำงานกับเรา ถ้างานเราดี เขาก็จะอยู่กับเรา ถ้าเรามีโจทย์ภายในเจ้านายอยากทำอะไรก็ไปทำให้เจ้านาย ความฝันที่อยากทำให้สำเร็จมันจะต่ำเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เจ้านายคิด ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่ถ้าเราเปิดให้เขาทำให้ลูกค้าคนอื่น สิ่งที่เข้ามาคือความต้องการของตลาด ลูกค้ามาพร้อมปัญหา พนักงานของเราจะรู้สึกว่ารสชาติอาหารน่าสนใจ เขาอาจเคยอยากทำเรื่องนั้นพอดี และมีความรู้สึกที่อยากทำมันให้สำเร็จมากกว่า นั่นคือสิ่งที่เราจะได้กับองค์กร” สมิตบอก
 



 
  • มุ่งสู่อนาคตและความยั่งยืน ด้วยโมเดล 70:20:10

     ก่อนสะท้อนแนวคิดการทำงานของนิธิฟู้ดส์ในวันนี้ ด้วยโมเดลแบบกูเกิล คือหลัก 70:20:10 นั่นคือ 70 เปอร์เซ็นต์ ไปทำเรื่องที่หล่อเลี้ยงองค์กร คอร์สหลักของธุรกิจ 20 เปอร์เซ็นต์ ไปทำในสิ่งที่มีแพสชั่นและเห็นโอกาสในอนาคต ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ไปทำเพื่อสังคม เพื่อแก้ปัญหาให้โลก


     “10 เปอร์เซ็นต์ เราอยากไปแก้ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เราเชื่อว่า ไม่มีครูคนไหนอยากทำเรื่องอาหารกลางวัน เพราะกระบวนการมันซับซ้อนและใช้เวลา ผมมองโจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องของการโกงแต่เป็นการทำฟูดเซอร์วิสในพื้นที่ห่างไกล โดยเราจะใช้ความสามารถของการวิจัยรสชาติอาหารบวกกับเทคโนโลยีมาแก้ปัญหานี้ โดยอาจทำเป็นแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ที่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้ ซึ่งถ้าเราทำได้นะ เด็กได้กินอาหารที่มีประโยชน์ คนทำก็ไม่เบื่อ คุณครูก็ไปทำงานได้เต็มที่ นี่คือการนำ 10 เปอร์เซ็นต์ ไปช่วยทำให้โลกดีขึ้น




     เขาบอกอีกว่า ในยุคที่ปลาเร็วกินปลาช้า นวัตกรรมจะช่วยสร้างรายได้ใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจ โดยในอนาคต นิธิฟู้ดส์ยังมีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยวางแผน การรับลูกค้า การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ โดยได้ริเริ่มตั้งทีมงาน Digital Transformation มีหน้าที่จัดสรรทรัพยากรในองค์กรทั้งหมด มาปรับใช้เป็นข้อมูลดิจิทัล มีการศึกษาการนำหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการทำงาน และพิจารณาความเหมาะสมของเทคโนโลยีกับการจัดการงาน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองลูกค้าได้ในปริมาณมาก ด้วยมาตรฐานที่สม่ำเสมอ เพื่อให้กระบวนการทำงานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าว่าธุรกิจจะไปถึงระดับพันล้านบาทได้ในเร็วๆ นี้


     ผลลัพธ์จากความตั้งใจจริงทำให้บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด คว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมธุรกิจบริการ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 มาได้สำเร็จ สะท้อนการเป็นนักคิดและเปลี่ยนแปลงผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งของพวกเขา
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย