ป่วยใจนักก็พักก่อน! มาเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นธุรกิจ ด้วยไอเดียที่คุณก็ทำได้




Main Idea
 
  • ว่ากันว่าวันนี้คนไทยเครียดง่ายขึ้น ปริมาณความเครียดก็ดูจะมากกว่าในยุคก่อน คนเป็นซึมเศร้า และทุกข์กับชีวิตมากขึ้น สำหรับธุรกิจ SME หากรู้จักมองปัญหานี้ให้เป็นโอกาส จากจุดเล็กๆ จุดนี้ ก็แปรเปลี่ยนเป็นไอเดียธุรกิจทำเงินได้
 
  • มาดูไอเดีย เปลี่ยนความเศร้าให้เป็นธุรกิจ กับสินค้าและบริการที่เปิดมาเพื่อสนองหัวใจคนยุคนี้โดยเฉพาะ 





      โรคซึมเศร้ากลายเป็น Pain Point ที่สังคมไทยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนคิดสั้น ฆ่าตัวตาย ทว่าจำเป็นต้องอยู่ห่างๆ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าดีนัก
แต่สำหรับนักการตลาดและผู้ประกอบการ นี่คือโอกาสที่จะสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจมาตอบสนอง Pain Point ของคนกลุ่มนี้ จะเห็นว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายรายลุกขึ้นมาประกาศตัวกับสังคมว่า ฉันเป็นโรคซึมเศร้า แล้วแปรเปลี่ยนประสบการณ์ของโรค เป็นองค์ความรู้ในการทำธุรกิจอย่างหลากหลาย เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทยอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครจะเข้าใจคนป่วยซึมเศร้า ได้ดีเท่ากับคนที่เป็นหรือเคยเป็นโรคนี้อีกแล้ว
 





     ส่องหลากไอเดีย บรรเทาความเศร้า




     ในสภาพสังคมปัจจุบันที่คนยังติดภาพเดิมๆ ว่าโรงพยาบาลด้านจิตเวชนั้นน่ากลัว จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในบ้านเราก็มีจำนวนน้อยมาก ทั้งสังคมยังติดป้ายว่าคนที่ไปหาจิตแพทย์ คือ คนบ้า ทั้งที่การพบจิตแพทย์ในต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจากการหาหมอรักษาโรคทั่วไป การที่บริการด้านจิตเวชไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้นี่เอง ได้ก่อให้เกิดไอเดียมากมายที่จะมาเติมเต็มพื้นที่ทางใจให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาทิ

 
  •      เปลี่ยนอิมเมจสถานบำบัด คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำของโรงพยาบาลหรือสถานรักษาโรคทางจิตเวชในเชิงลบ ว่าเป็นสถานที่ที่น่ากลัวบ้าง เลยไม่มีใครอยากที่จะเฉียดกายเข้าไป ล่าสุด เราเริ่มเห็นแคมเปญ I am From ศรีธัญญา กลยุทธ์ที่เน้นสร้างความเป็นมิตรกับสังคม พร้อมสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ อย่างวิ่งการกุศล Crazy Run 2019 เพื่อเปิดบ้านให้คนทั่วไปรับรู้โลกภายในโรงพยาบาลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อโรงพยาบาลศรีธัญญา



 
  • สร้าง Health Tech เชื่อมคนป่วยหาจิตแพทย์ เพราะคนที่มีภาวะซึมเศร้าไม่กล้าเข้าหาจิตแพทย์ จึงเป็นโอกาสทองของเหล่า Startup ที่ช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมารองรับ เช่น เว็บไซต์ Relationflip ที่ผู้ใช้บริการเลือกนักจิตวิทยาการปรึกษาทางออนไลน์ แล้วจองเวลาเพื่อขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ ส่วน Occa ก็มีทีมนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ พร้อมให้คำปรึกษาแก่บุคคลทั่วไป พนักงานบริษัท และองค์กรชั้นนำ ผ่านวิดีโอคอลบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน        
       



 
  • นอกจากนี้ ยังมี Jubjai Bot แชทบอทที่ผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับศาสตร์ทางจิตวิทยา ตรวจจับคำที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก เพื่อคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในเบื้องต้น ส่วน TuneJai เพื่อนแชท EQ สูง รู้ว่าจะโต้ตอบกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไร มี Mood Tracker เครื่องมือติดตามอารมณ์แต่ละวัน สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาต่อไปได้ด้วย
 
  • วิธีบำบัดทางเลือก เช่น Studio Persona สตูดิโอศิลปะที่เปิดพื้นที่ให้คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า มาแสดงออกซึ่งความรู้สึกอ่อนแอ อ่อนไหวภายใน รวมทั้งคลี่คลายปมที่อยู่ในใจผ่านงานศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ แล้วใช้ศิลปะบำบัดเยียวยาให้เกิดความสมดุล หาวิธีจัดการความรู้สึกหนักหน่วงนั้นให้เบาบางลง เพื่อให้ผู้ที่ก้าวออกไปมีความสบายใจและมั่นใจมากขึ้น



 
  • รับช่วงฟื้นฟูดูแลต่อเนื่อง ถือเป็นธุรกิจที่รับไม้ต่อจากโรงพยาบาลจิตเวช เช่น ศูนย์ฟื้นฟูของ ลีฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่รับดูแลผู้ป่วยอีกสักระยะให้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติร่วมกับครอบครัว และคนอื่นในสังคม โดยไม่กลับไปป่วยใจซ้ำซ้อน ซึ่งศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในบ้านเรานี้ยังถือว่ามีน้อยรายอยู่ 
 

      หากใช้ประโยชน์จากการตลาดให้เป็น ใช้เทคโนโลยีช่วยเยียวยาให้ถูกโรค รวมทั้งสังคมโดยรวมร่วมกันทำความเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เชื่อว่าภาวะซึมเศร้าจะเป็นแค่โรคๆ หนึ่งที่มนุษย์เราเอาชนะได้ และพลเมืองซึมเศร้าก็จะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ SME สามารถพัฒนาสินค้าและบริการดีๆ มาตอบสนองได้เช่นเดียวกัน
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน