พญาเย็นแดรี่ เปลี่ยนวิถีเกษตรกรโคนมด้วย Smart Farm จนได้น้ำนมเกินระดับพรีเมียม

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea
 
  • ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30  ปีก่อน คงไม่มีใครลุกขึ้นมาจดบันทึกโคนมทุกตัวที่มีแถมยังเอาระบบบัญชีเข้ามาช่วยในการทำฟาร์มโคนม แต่ชายคนหนึ่งกลับทำเช่นนั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์มโคนมเจ้าใหญ่ของไทยที่มีการพัฒนาฟาร์มอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นฟาร์มโคนมที่มีคุณภาพน้ำนมดิบเกินค่าความพรีเมี่ยม
 
  • นี่คือตัวอย่างจากเกษตรกรไทยที่สามารถเปลี่ยนวิถีการทำฟาร์มโคนมได้ด้วยนวัตกรรม จากวัว 2 ตัวสู่การเป็นฟาร์มไซส์บิ๊กระดับประเทศที่ไม่ได้มองความสำเร็จอยู่แค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังคงนำพาเกษตรกรโคนมคนอื่นๆ เติบโตไปด้วยกัน
 
  • จนในที่สุดเขาก็สามารถคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ปีล่าสุดมาได้ พิสูจน์ถึงพลังของคนตัวเล็กที่สร้างความยิ่งใหญ่ได้ด้วยคำว่า…นวัตกรรม 



     ไม่ว่าจะอาชีพไหน ถ้าเราใส่ใจและทุ่มเทก็สามารถทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ  ได้ แม้แต่อาชีพเกษตรกรโคนมก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน คงไม่มีใครลุกขึ้นมาจดบันทึกโคนมทุกตัวที่มีแถมยังเอาระบบบัญชีเข้ามาช่วยในการทำฟาร์มโคนม แต่ชายคนหนึ่งกลับทำเช่นนั้น นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์มโคนมเจ้าใหญ่ของไทยที่มีการพัฒนาฟาร์มอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นฟาร์มโคนมที่มีคุณภาพน้ำนมดิบเกินค่าความพรีเมียมพร้อมทั้งเปิดศูนย์รับน้ำนมดิบจากชาวบ้านด้วย และชายคนนั้นคือ ชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์ ผู้ก่อตั้งชนะศักดิ์ฟาร์ม และ บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมนํ้านมดิบ


               




     จากอดีตนักบัญชี ชนะศักดิ์ได้ใช้ทักษะที่เขาถนัดนั้นคือการทำบัญชีมาประยุกต์กับการเริ่มต้นฟาร์มโคนมเล็กๆ จากวัวแค่ 2 ตัว โดยเขาได้เริ่มต้นจากการใช้ความรู้ทางด้านบัญชีมาคิดคำนวณต้นทุนภายในฟาร์ม จดบันทึกวัวทุกตัวที่มีเพื่อรับรู้ความเป็นไปในแต่ละวัน
               

     “ผมเรียนจบทางด้านบัญชีมา แต่พี่ชายและพี่สาวทำฟาร์มอยู่ก่อนแล้ว กอปรกับผมเองเป็นพนักงานของ อ.ส.ค.หรือองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เลยเริ่มจากเช่าซื้อวัวนมจาก อ.ส.ค.มา 2 ตัว เพื่อเริ่มทำฟาร์มของตัวเอง โดยพยายามทำฟาร์มให้เป็นระบบบัญชี ด้วยแนวคิดง่ายๆ คือ ถ้าเราเลี้ยงโคนมและสามารถควบคุมต้นทุนอาหารได้ ก็จะทำกำไรได้”

               



     หลังจากที่ฟาร์มโคนมเริ่มดำเนินไปได้ด้วยดี เขาก็เบนเข็มมาสู่การเปิดศูนย์รับน้ำนมดิบ โดยจุดเริ่มต้นของการทำศูนย์รับน้ำนมดิบมาจากการที่แต่เดิมฟาร์มของพวกเขาและเกษตรกรรายอื่นได้ส่งน้ำนมดิบให้แก่ศูนย์รับน้ำนมเอกชนแห่งหนึ่ง  ต่อมาศูนย์ฯ ดังกล่าวขาดสภาพคล่อง จึงสร้างความเสี่ยงและสั่นคลอนความมั่นคงให้แก่เหล่าเกษตรกรโคนม ในที่สุดพวกเขาจึงตัดสินใจสร้างศูนย์รับน้ำนมดิบของตนเองขึ้น ภายใต้ชื่อ พญาเย็นแดรี่  


      “การทำธุรกิจร่วมกันระหว่างเรากับเกษตรกร หมายความว่า เขาส่งนมให้เรา ซื้ออาหารสัตว์จากเรา ซื้อสาธารณูปโภคจากเรา และหากเรามีกำไรก็จะจ่ายเงินปันผลให้เขาด้วย เราเริ่มต้นจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ปีแรกที่ตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นมา โดยจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ปีละกว่าล้านบาท นี่เองที่ทำให้เรายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ได้โตคนเดียว”      





     จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือช่วงที่ศูนย์รับน้ำนมดิบดำเนินไปสักพัก ฟาร์มโคนมที่เคยทำมากลับเกิดปัญหาบางอย่าง เพราะฟาร์มขาดการดูแลจากเจ้าของ อีกทั้งยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนต้องขายโคนมทิ้งเพื่อตั้งหลักใหม่ พวกเขาจึงเริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำฟาร์ม โดยมี อานนท์ จุมพลอานันท์ ทายาทรุ่น 2 เข้ามาช่วยเสริมแกร่งธุรกิจฟาร์มด้วยแนวคิดที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างเป็นฟาร์มโคนมต้นแบบ โดยโจทย์หลักคือทำอย่างไรให้น้ำนมมีคุณภาพดีขึ้นแต่ใช้แรงงานลดลง มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น





      “หลักสำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ แต่ปัญหาคือฟาร์มส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปลูกฝังระบบนี้มา เราจึงต้องหาเครื่องมือเข้ามาช่วยให้การทำงานมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น และทุกคนสามารถทำได้ นั่นเป็นที่มาของการใช้โปรแกรมในการบริหารจัดการฟาร์ม โดยมีเป้าหมายหลักก็เพื่อคุณภาพนมและลดแรงงานในฟาร์มลง เราเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนคน และมีการใช้ 2 ระบบหลักคือ โปรแกรมการจัดการในฟาร์มและระบบบัญชี ซึ่งจะทำงานกันคนละด้านแต่ส่งเสริมกัน อย่างโปรแกรมการจัดการในฟาร์มจะทำให้เรารู้ว่าวันนี้วัวตัวไหนจะคลอด วัวตัวไหนป่วยอยู่ โดยจะทำงานคู่กับเซ็นเซอร์เหมือนนาฬิกาติดอยู่ที่ขาของวัวทุกตัว วัวก็จะถูกบันทึกข้อมูลทุกอย่างไว้ในระบบ ไม่ว่าจะเดินกี่ก้าว นอนกี่ชั่วโมง เราสามารถรู้ได้ว่าถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้เขาจะป่วยได้” อานนท์เล่า





      ปัจจุบันพญาเย็นแดรี่มีโคนมของตนเองอยู่ประมาณ 300 ตัว สามารถผลิตน้ำนมได้วันละประมาณ 3-4 ตัน นอกจากนี้ ยังรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรในเครือข่ายอีกวันละ 70 ตัน เพื่อส่งต่อไปยังคู่ค้าทั่วประเทศ สำหรับน้ำนมจากฟาร์มของที่นี่มีคุณภาพที่แตกต่างจากน้ำนมทั่วไป
               

     “หลักๆ ในน้ำนมจะเป็นน้ำ แต่ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญมี 2 ส่วนคือ ของแข็ง (โปรตีนและแล็กโตส) และไขมัน ไขมันซึ่งนมทั่วไปจะอยู่ที่ 3.2-3.4 แต่นมคุณภาพดีอยู่ที่ 3.6 ส่วนของแข็งทั่วไปอยู่ที่ 8.3-8.4 นมคุณภาพดีจะอยู่ที่ 8.6 ซึ่งคุณภาพนมของเราทำได้มากกว่านั้น โดยไขมันจะอยู่ที่ประมาณ 4 ส่วนของแข็งอยู่ที่ 8.8-9 องค์ประกอบน้ำนมของเราจึงเกินระดับพรีเมียมโดยที่เรายังควบคุมต้นทุนให้สามารถทำกำไรได้อยู่ ซึ่งการที่เน้นเรื่องคุณภาพนมก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่านมในประเทศไทยก็มีคุณภาพที่ดีมากพอ” เขาบอก  
               

      ชนะศักดิ์ ผู้เริ่มต้นฟาร์มโคนมด้วยแนวคิดแบบนักบัญชีได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญของการทำฟาร์มโคนมของเขาว่า การเริ่มต้นแบบเล็กๆ ก็สามารถมองเห็นและเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งได้
               




      “พอเราเริ่มจากเล็ก ก็จะเห็นปัญหาชัดเจน อย่างก่อนที่จะทำฟาร์มขนาดใหญ่เรามองออกหมดเลยว่าจะวางคอกตรงไหนดี จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำฟาร์มคือระบบการจัดการ เราต้องมองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง สิ่งที่ทำให้เรายั่งยืนคือ การมองไปข้างหน้า ผมเคยบอกเกษตรกรหลายคนว่า เวลาทำฟาร์ม เราต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในการสร้างความเจริญเติบโตของฟาร์ม และอย่าลืมมองไปข้างหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยี”
               



     และนี่คือตัวอย่างจากเกษตรกรไทยที่สามารถเปลี่ยนวิถีการทำฟาร์มโคนมได้ด้วยนวัตกรรม จากวัว 2 ตัวสู่การเป็นฟาร์มไซส์บิ๊กระดับประเทศที่ไม่ได้มองความสำเร็จอยู่แค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังคงนำพาเกษตรกรโคนมคนอื่นๆ เติบโตไปด้วยกัน จนในที่สุดเขาก็สามารถคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ปีล่าสุดมาได้ พิสูจน์ถึงพลังของคนตัวเล็กที่สร้างความยิ่งใหญ่ได้ด้วยคำว่า…นวัตกรรม 
 



 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน