มหัศจรรย์! สับปะรด เปลี่ยนใบให้กลายเป็นผืนผ้า จากของเหลือ สู่แฟชั่นหรูโกอินเตอร์

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : สุรางรัก
 


 
 
Main Idea
 
  • ด้วยกระแสของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในวงการแฟชั่นที่มีการสรรหาเส้นใยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้ามากขึ้นเช่นกัน
 
  • หนึ่งในวัตถุดิบที่ถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้ คือ “เส้นใยสับปะรด” ใครจะคิดว่าจากใบสับปะรดที่เหลือทิ้งเป็นขยะ จะสามารถกลายเป็นเส้นใยที่มีราคาขายได้ถึงกิโลกรัมละเกือบ 2,000 บาท แถมยังส่งออกสู่ตลาดโลกชนิดที่ว่าผลิตไม่ทันกันเลยทีเดียว
 
 ___________________________________________________________________________________________

 
     ด้วยนวัตกรรมก้าวล้ำทางเทคโนโลยี โลกเราในทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้และมีเรื่องให้น่าเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ โดยเฉพาะในวงการอีโค่ (Eco) ก็ใครเลยจะคิดล่ะว่าอยู่ดีๆ สับปะรดผลไม้อมเปรี้ยวอมหวานยอดนิยมของคนไทยที่มีการปลูกกันมากเพื่อขายเป็นผลสดและป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จะสามารถนำส่วนประกอบอย่างใบมาผลิตเป็นเส้นใย เพื่อถักทอเป็นผืนผ้าและตัดเย็บเป็นแฟชั่นชุดสวยขึ้นมาได้


     เชื่อไม่เชื่อยังไง แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่นี่ “หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา” ชุมชนผู้ผลิตเส้นใยสัปปะรดที่สามารถแปลงวัสดุเหลือทิ้งให้กลายเป็นผืนผ้าสวยเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลกได้ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่าตัว





     ปริยากร ธรรมพุทธสิริ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา เล่าที่มาให้ฟังว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้  ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งชื่นชอบสิ่งทอจากธรรมชาติ ทำให้ธุรกิจสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 ความต้องการสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติในยุโรปมีสูงถึง 31.51 ล้านตัน และเติบโตกว่าร้อยละ 39 ต่อปี


     ทั้งนี้ ตนเห็นว่าใยสับปะรดเป็นเส้นใยหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และประเทศไทยเองก็มีการปลูกสับปะรดกันมากประมาณ 750,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันตก และตะวันออก ซึ่งในแต่ละรอบการผลิตจะมีใบสับปะรดที่ถูกทิ้งรวมกันมากกว่า 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือบางพื้นที่อาจมากถึง 8,000 – 10,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ถูกทิ้งเป็นภาระไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากมีการนำมาแปรรูปให้กลายเป็นเส้นใยน่าจะมีศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจากการพัฒนาครั้งนี้ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยให้สามารถแข่งขันกับเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกาได้ สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าและสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง





     กระบวนการผลิตเปลี่ยนใบให้กลายเป็นเส้นใย เริ่มต้นจากนำใบมาเข้าเครื่องรีดเพื่อเอาผิวออก จากนั้นจึงนำไปหมักในน้ำ 2 สัปดาห์เพื่อให้เนื้อเยื่อสีเขียวหลุดออกเหลือแต่เส้นใย เสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้เห้งแล้วนำเส้นใยมาผูกรวมกัน เมื่อได้เส้นใยที่เป็นวัตถุดิบ จะมีการนำมาต่อด้ายหรือเส้นใยเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ความยาวที่เพิ่มขึ้นเหมาะสำหรับใช้ทอออกมาเป็นผืนผ้า โดยใบสับปะรดที่นำมาใช้ผลิตในตอนนี้นำมาจากหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ระยอง และพัทลุง และในพื้นที่เองก็เริ่มมีการหันมาปลูกแซมในร่องยางเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม โดยใบสับปะรดที่นำมาใช้ คือ พันธุ์ปัตตาเวีย หรือพันธุ์อะไรก็ได้ที่มีความยาวของใบเกิน 50 เซนติเมตรขึ้นไป


     โดยว่ากันคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยสับปะรดนั้นมีอยู่มากมาย และยังเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่มีความแข็งแรงทนทานอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย – เชื้อรา และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดีด้วย





     “ก่อนหน้าที่จะมาทำผ้าจากเส้นใยสับปะรด เราเคยทำผ้าขาวม้าเกาะยอมาก่อน ซึ่งทำไปแค่ไหนก็ขายได้เพียงผืนละร้อยกว่าบาท เราจึงอยากหันมาจับตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีความเป็น Niche Market มากขึ้น นี่คือ ที่มาที่ทำให้เราหันมาสนใจการทำเส้นใยจากธรรมชาติ ซึ่งในบ้านเราก็มีการปลูกสับปะรดกันมากเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ใบสับปะรดที่เรานำมาผลิตเป็นเส้นใยจึงเป็นการนำมาจากเศษวัตถุดิบที่เหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งของเสียเหล่านี้เป็นภาระต่อเกษตรกรผู้ปลูก แต่เราสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการแปรรูปออกมาเป็นเส้นใย และต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สามารถทำราคาได้ดี นอกจากนี้ยังสร้างอาชีพให้กับชุมชน โดยนอกจากชาวบ้านในพื้นที่เรายังนำเส้นใยดังกล่าวให้คนในเรือนจำได้ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพด้วย” ปริยากรกล่าวถึงความตั้งใจที่หนักแน่น





     ในวันนี้เส้นใยสับปะรดของ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา ถูกผลิตออกมาจำหน่ายใน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ คือ 1.เส้นใยต่อเกลียว ราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท 2.ผ้าทอ ราคาขายอยู่ที่หลาละ 950 บาท และ 3. เส้นใยที่เสียต่อเป็นเส้นยาวไม่ได้จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสา ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เส้นใยและผ้าทอจะถูกส่งออกไปขายให้กับลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นใยที่มีความหนาจึงเหมาะที่จะใช้งานในเมืองหนาวมากกว่า โดยลูกค้าหลักจะอยู่ที่ตลาดยุโรปและญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ละเดือนสามารถผลิตได้ประมาณ 200 - 250 หลา ซึ่งความจริงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด





     เพราะการผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังคงใช้แรงงานคนในการผลิตเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้า อีกทั้งคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้ก็มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ตลาดต้องการได้ จึงได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พัฒนาเครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 70 รวมถึงสามารถทอหน้าผ้าให้มีความกว้างมากขึ้นได้ ทำให้สามารถตอบความต้องการของตลาดได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น





     “เส้นใยที่ได้จากใบสับปะรดในบ้านเรา เนื่องจากเราต้องการนำเศษวัตถุดิบที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เส้นใยที่ได้ออกมาจึงมีลักษณะค่อนข้างสั้น ไม่เหมือนกับเส้นใยทางฟิลิปปินส์ที่เขามีการปลูกเพื่อนำใบมาใช้ผลิตเป็นเส้นใยโดยเฉพาะ แต่เราไม่ต้องการทำเช่นนั้น ดังนั้นขั้นตอนการทำของเราจึงค่อนข้างยุ่งยาก ต้องทำหลายขั้นตอนกว่าจะได้ออกมาเป็นเส้นใยที่สมบูรณ์หรือทอเป็นผืนผ้าออกมาได้ โดยใบที่ได้ในบ้านเราจะยาวเพียง 50 – 80 เซนติเมตร แต่ที่ฟิลิปปินส์ยาวกว่า 1.5 เมตรเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนาใน 2 ส่วน คือ 1.การต่อเส้นด้ายโดยใช้เครื่อง 2.การสร้างกี่ทอให้มีหน้ากว้างมากขึ้นและทอได้ในเวลาที่เร็วขึ้น นี่คือ สิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้ เรายังไม่ได้มองไปถึงการสร้างแบรนด์ เพราะต้องการวางพื้นฐานตรงนี้ให้ดีก่อน การผลิตเป็นวัตถุดิบออกมาขาย ทำให้เราได้เงินนำมาใช้พัฒนาหมุนเวียนรวมถึงกระจายได้สู่ชุมชนได้ในทันที เพราะมีความต้องการของตลาดรออยู่อีกมาก และในวันหนึ่งเมื่อมีพร้อมมากขึ้น ก็ค่อยต่อยอดพัฒนากันไปอีกก้าวหนึ่ง” ปริยากรกล่าวในตอนท้าย
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น