Micron Ware ปรับลุคจากโรงงานพลาสติกสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ระดับโลก ทะยานสู่ 800 ล้าน!




Main Idea
 
  • เมื่อโรงงานพลาสติกที่ผลิตกล่องถนอมอาหารได้ลุกมาปรับลุคตัวเองใหม่ จนกลายเป็นแบรนด์ไทยที่มีความโฉบเฉี่ยว ทันสมัย พร้อมต่อสู้ในตลาดโลก
 
  • นี่คือ Micron Ware ผู้ตั้งเป้าเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Lifestyle Solution Provider ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคพร้อมออกแบรนด์ใหม่ในชื่อ AMATAS รุกตลาดสินค้าพรีเมี่ยม




     หากคุณเดินเข้าไปในครัวอาจจะเห็นกล่องถนอมอาหาร Super Lock (ซูเปอร์ล็อค) หรือสินค้าอื่นๆ ของ Micron Ware (ไมครอน แวร์) โดยที่ไม่ได้สังเกต เพราะ Micron Ware คือแบรนด์ที่อยู่คู่ครัวเรือนไทยมาอย่างยาวนานนับ 30 ปี แม้จะไม่ได้หวือหวา เปรี้ยงปร้างแต่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไปคนปริยาย อยากทำอาหารใส่กล่องไปทานที่ทำงานก็ใส่กล่อง Super Lock ปอกผลไม้ไว้ อยากให้สดใหม่ก็ใส่กล่อง Super Lock ไปซื้อเนื้อหมูเนื้อไก่ที่ตลาดกลับมาก็เอาใส่กล่อง Super Lock







     หจก. เจ.ซี.พี.
พลาสติกคือผู้ให้กำเนิด Micron Ware และ Super Lock โดยแรกเริ่มนั้นพวกเขาทำ OEM ให้กับบริษัทญี่ปุ่น จึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมมา ในที่สุดก็ได้เริ่มต้นแบรนด์ Micron Ware ส่วน Super Lock นั้นเกิดจาก Pain Point ของผู้บริโภคที่ใส่อาหารในตู้เย็นแล้วเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีการคิดค้นและพัฒนากว่า 5 ปีในที่สุดก็สามารถนำสาร Anti-bacteria เข้าไปใส่ในผลิตภัณฑ์ได้
               

     ถ้าจะเปรียบ Micron Ware เป็นใครสักคน เขาอาจเป็นชายวัย 30 ปีที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวพร้อมทั้งต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ในวันนี้ Micron Ware จึงมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตด้วยการลุกขึ้นมาปัดฝุ่น ปรับลุค เสริมหล่อเสียใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวเองก้าวไปสู่เส้นทางที่เติบโตกว่าที่เคยเป็นมา
               



 

    พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ขององค์กรและเขาคือหัวเรี่ยวหัวแรงในการปรับลุคและรีแบรนด์ Micron Ware ในครั้งนี้
               

     “ผมเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ได้เป็นดีไซเนอร์และไม่ได้มีความรู้เรื่องดีไซน์หรือแบรนดิ้งเยอะ แต่เราได้มีการทำงานร่วมกับสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ เขาจะแชร์แนวคิดเรื่องการรีแบรนด์มา ซึ่งถ้ามองผิวเผินคุณอาจจะเห็นว่ามันแค่เปลี่ยนโลโก้ แพ็กเกจจิ้ง แต่ในมุมมองของผม การรีแบรนด์มันมากกว่านั้น เราต้องเริ่มต้นมองก่อนว่า ความรู้สึกของคนอื่นที่มีต่อแบรนด์เราคืออะไร ทั้งฝั่งลูกค้า ผู้บริโภค คู่ค้า พนักงานของเรา เปรียบเหมือนว่าแบรนด์เราเป็นคนคนหนึ่ง แล้วเขาเป็นแบบไหน นี่คือความท้าทายและเราอยากทำให้มันดี”
               

     แต่การจะปรับลุคและรีแบรนด์ครั้งหนึ่งนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเราจะต้องปรับตั้งแต่แนวคิด รากฐานไปจนถึงภาพลักษณ์ทั้งหมด
            

   

     “ตอนนั้นเรามีการทำเวิร์กช็อป เรามีการนำ Key Person ของทุกแผนกมามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นๆ ทั้งฝ่ายโรงงาน ฝ่ายผลิต จัดซื้อ ฝ่ายขาย ฝ่ายบริหาร ให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่าทิศทางจะไปทางไหน ซึ่งตอนที่เราได้ Concept จากทางยาคอบ เยนเซ่น ได้มาเป็น 3 แบบ เราก็ให้ทุกคนโหวตกันว่าชอบแบบไหน A B C ถ้าเลือก A ทำไมไม่ชอบ B หรือ C พอได้ออกมามันก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ปรากฏว่าทุกคนโหวต B เยอะสุด เราก็กลับไปถามคนที่เลือก A กับ C ว่าทำไมถึงไม่ชอบ B บางคนบอกมันเป็นสีขาวดำ ไม่เป็นมงคล เราจึงนำจุดนี้มาเปลี่ยนให้เป็นสีที่สว่างขึ้น เลยกลายเป็นสีครามที่มีรากฐานจากความเป็นไทย มีความสมถะ ส่วนโลโก้เดิมของเราเป็นตัว J มาจากสกุลจึง ซึ่งผมเพิ่งมารู้ว่า 3 เส้นตรงตัว J มาจากแนวคิดของคุณพ่อที่บอกว่าการที่บริษัทจะยั่งยืนต้องทำงานร่วมกัน 3 รุ่น ตอนที่เรารีแบรนด์จึงไม่ทิ้งความตั้งใจนี้ของคุณพ่อและนำเส้น 3 เส้นมาใส่ไว้ในตัว E บนโลโก้ใหม่”
               

     โดยพลาวุฒิได้เล่าถึงเป้าหมายของการรีแบรนด์ที่จะส่งผลต่ออนาคตของธุรกิจด้วยการ 3 อย่างคือ 1.สร้างความชัดเจนของแบรนด์ 2. สร้างภาษาของการดีไซน์ 3. เปลี่ยนตัวเองจากโรงงานพลาสติกสู่ Lifestyle Solution Provider
               




     “เป้าหมายในการรีแบรนด์ของเรามี 3 ข้อด้วยกัน อย่างแรกคือคนมักจะสับสนว่า Micron Ware ต่างจาก Super Lock ยังไง เราต้องการเรียงให้ชัดเจน Micron Ware คือ Umbrella ใหญ่ อยู่ด้านบนสุดเหมือนเป็นนามสกุลของครอบครัว Micron Ware มีลูกชื่อ Super Lock และเพิ่งมีลูกชื่อ AMATAS (อมาทาส) ส่วนอนาคตก็จะมีธุรกิจอื่นๆ เป้าหมายที่ 2 คือเราต้องการสร้างภาษาของการดีไซน์ที่ชัดเจน ผมชอบแบรนด์หนึ่งที่ชื่อ Joseph Joseph ของอังกฤษ เราไม่เคยเห็นโฆษณาเขา แค่เดินผ่านในห้างแล้วถ้าได้เห็นอะไรเขียวๆ เทาๆ ทะมึนๆ นี่แหละน่าจะเป็นเขา เราอยากสร้างให้เกิดภาษาของดีไซน์ที่ชัดเจนมากจนคนรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ อยากทำให้ได้แบบนี้ เป้าหมายที่ 3 คือแต่ก่อน เวลาผมไปเจอเพื่อน เพื่อนถามว่าทำธุรกิจผมมักจะตอบว่าทำโรงงานพลาสติก แต่ยุคต่อไปผมอยากจะบอกทุกคนว่าเป็น Lifestyle Solution Provider คือเป็นคนที่ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค”

               



     ความต่างของ Super Lock และ AMATAS พลาวุฒิได้กล่าวเพิ่มเติมว่า Super Lock จะเป็นสินค้าที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือแก้ Pain Point ของผู้บริโภค อย่างตัวแรกที่ทำเป็นกล่องถนอมอาหารที่มีสาร Anti-bacteria โดยปัจจุบันก็มีสินค้าอื่นๆ ตามมา เช่น ขวดน้ำ กล่องใส่รองเท้า เป็นต้น ทางด้าน AMATAS พลาวุฒิตั้งเป้าอยากสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับดีไซเนอร์ที่มีความสามารถหรือใครที่มีไอเดียในการแสดงผลงานผ่านแบรนด์ AMATAS
               

     ท้ายที่สุดแล้วการรีแบรนด์อาจไม่ใช่การเปลี่ยนตัวตนของธุรกิจไปโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการคงสิ่งดีๆ เอาไว้ ใส่สิ่งที่ดีกว่าลงไปเพื่อให้เกิดเป็นแบรนด์เดิมในรูปแบบใหม่ที่แข็งแกร่งพร้อมจะสู้รบในทุกตลาดและทุกสถานการณ์
               

     “ตอนที่เรากำลังดีไซน์ให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ จริงๆ เราเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยด้วยการพลิกโฉมเป็นฝรั่งไปเลยก็ได้ แต่ทางที่เราเลือกจริงๆ คือการใช้ความเป็นไทยสอดแทรกเข้าไป เราจึงเลือกที่จะไม่โกหกตัวเองด้วยการใส่จุดเด่นของความเป็นไทยลงไปด้วย คนไทยผมว่ามีความเรียบง่าย สนุก มีชีวิตชีวา เราได้ผสมผสานกับฝั่งสแกนดิเนเวียนที่ดีไซน์จะมีความอมตะ Timeless มองได้นาน โจทย์เราคือจะทำยังไงให้สินค้าดูสวยแต่ไม่เยอะ”
               



     พลาวุฒิได้ปิดท้ายด้วยเป้าหมายในเชิงตัวเลขหลังจากการรีแบรนด์แล้วว่าจะพุ่งสู่ 800 ล้านบาทภายในปี 2563 พร้อมทั้งจะรุกตลาดต่างประเทศด้วยแบรนด์รูปโฉมใหม่ ปัจจุบันทาง Micron Ware ได้ส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลกและจะเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์จาก 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3-5 ปี ส่วนในระยะยาว 5 ปีขึ้นไปต้องการจะรุกตลาดส่งออกถึง 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อกระจายความเสี่ยงกับตลาดไทยในอนาคต
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น