SME ยุคใหม่ต้องคิดแบบ “Good to Great” เพราะ “ดี” อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้อง “ดีที่สุด”




Main Idea
 
  • เพราะการแข่งขันในโลกธุรกิจทุกวันนี้เข้มข้นมากขึ้นทุกที ตั้งแต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนถึงตัวช่วยทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทุกธุรกิจสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ไร้ข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น
 
  • ดังนั้นแล้วจึงไม่ยากที่ในวันหนึ่ง เราอาจเป็นตัวจริงในตลาด แต่แล้ววันหนึ่งก็อาจถูกเบียดตกลงมาแบบไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน คือ ต้องไม่หยุดคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด จากที่ดีอยู่แล้ว ก็ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง หรือตกลงมาอยู่อันดับท้ายของตลาดได้



               
     เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จอยู่ในวันนี้เท่านั้น เราอาจขายสินค้าได้ดี ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด หรือเป็นเบอร์ 1 นำคู่แข่งทิ้งห่าง แต่พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ เพราะโลกของธุรกิจมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา หากหยุดนิ่งก็เท่ากับถอยหลังให้ผู้อื่นแซงนำขึ้นมา การคิดต่อยอดเพื่อให้ได้ไปต่อต่างหาก คือ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน แม้ดีอยู่แล้วก็ต้องทำดียิ่งขึ้นไปอีก


     เหมือนเช่นที่ วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวไว้ในงานมอบรางวัล แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจากโครงการ  K SME Good to Great คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โต ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง เพื่อให้ SME สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดการทำธุรกิจของตนเองได้หลังจากจบโครงการ





     โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ 1.สัตวแพทย์หญิงสุนทรี ศรีวานิชภูมิ บจก.ไข่สุข 2.หญิง จันทร์ศรี บจก.โกลบอล วิชั่น เฮ้าส์ 3.พรประภา ลักษมีสถาพร บจก.ภาวัลย์ อินเตอร์เทรด 4.กฤติยา เกิดเกียรติสุดา บจก.แล็บ แอนด์ บิวตี้ และ 5.บัณฑิตา ใจวิสุทธิ์หรรหา บจก.โอเมกา 3.6.9 แอนด์ ไลโคปี
               

     โดยมองว่าการเป็นผู้ประกอบการยุคนี้ แค่เก่งและดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องคิดต่อยอดพัฒนาไปถึงวันข้างหน้าด้วย เพราะหากหยุดนิ่ง ก็เท่ากับว่าคุณกำลังเดินถอยหลัง ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง มี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ และ 2.การเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
               

     “ในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายจากหลากหลายช่องทางอย่างเช่นทุกวันนี้ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถทำการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ การแข่งขันแบบเดิมๆ เช่น แพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่สะดวกสบาย ฯลฯ อาจไม่เพียงพอแล้วสำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดในตอนแรก แต่การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น มีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี จะทำให้เราสามารถอยู่ต่อไปได้ยาวๆ แบบยั่งยืน นวัตกรรม คือ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราได้ ซึ่งในทางธุรกิจนวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่คือการคิดจากมุมของลูกค้า ดูให้ชัดว่าเขาตามหาอะไรอยู่ และพยายามตอบโจทย์สิ่งนั้นให้ได้ หากเรายังมองแต่การแข่งขันแบบเดิมๆ เช่น หาต้นทุนที่ถูกกว่า สักพักคู่แข่งก็ทำให้ถูกกว่าได้ สุดท้ายก็ตายกันหมด ไม่ว่าจะมาก่อนมาหลัง เพราะไม่เหลือกำไรให้ใครเลย





     “อย่างผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกเขาขึ้นมา เราไม่ได้มองถึงนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย แต่มองจากการที่เขามีความเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงว่าต้องการอะไร ซึ่งในการทำธุรกิจเราไม่จำเป็นต้องไปตอบโจทย์ทุกคน เพราะเราไม่สามารถตอบโจทย์ใครได้หมด ตอบแค่คนเดียวพอ เพราะก็จะมีอีกหลายๆ คนที่มีตัวตนแบบเดียวกัน และความต้องการเหมือนกันออกมาอีก สำหรับโครงการ K SME Good to Great ที่จัดขึ้นมานี้เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่เราอยากทำให้ผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว จาก Good ให้สามารถต่อยอดกลายเป็น Great ได้ เพราะการที่เราหยุดนิ่งอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ไม่ยอมพัฒนาต่อ วันหนึ่งก็ต้องมีคนที่ทำได้ดีกว่า สวยกว่า ถูกกว่า แซงเราขึ้นไปได้ เราจะกลายเป็นคนที่ถอยหลัง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ได้รับรางวัล แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการคนอื่นๆ ที่สมัครเข้ามาด้วย อย่างน้อยๆ ก็ได้ช่วยจุดประกายให้เขาได้คิดและหันมามองที่จะต่อยอดธุรกิจของตัวเองออกไป”
               

     เช่นเดียวกันในมุมมองของ พิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หนึ่งในพันธมิตรที่เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ โดยมองว่าผู้ประกอบการจะเติบโตเข้มแข็งต่อไปได้ ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องมองทั้งงานวิจัยและการตลาดควบคู่กันไป





     “ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยเริ่มตื่นตัวกับการทำสินค้านวัตกรรมมากขึ้น เพราะมองเห็นว่านวัตกรรมสามารถสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่งได้ สิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้ คือ การเชื่อมระหว่างนักวิชาการผู้ผลิตงานวิจัยต่างๆ และผู้ประกอบการให้เข้าหากันและทำงานร่วมกันได้ โดยตัวผู้ประกอบการเองก่อนที่จะตัดสินใจสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักชิ้น ก็ต้องมองให้ออกก่อนว่าจะผลิตสินค้าขึ้นมาเพื่อใคร ขายให้กับใคร ที่ไหนอย่างไร ยิ่งชัดมากเท่าไหร่ การสร้างสินค้านวัตกรรมของนักวิจัยก็จะชัดมากขึ้นไปด้วย ทำให้เมื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ได้ สินค้าสามารถขายได้จริงทันที ในขณะเดียวกันฝั่งนักวิชาการหรือนักวิจัยก็ได้เรียนรู้ที่จะทำงานกับภาคอุตสาหกรรมจริง เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการด้วย โดยมีหัวใจสำคัญ คือ ต้องเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะกับผู้ประกอบการคนนั้นๆ ด้วย เพราะแต่ละคนมีความพร้อม ต้นทุน และปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป”


     จากแนวคิดในฝั่งของหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน ลองมาฟังในฝั่งของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลดูบ้าง ซึ่งมีแนวคิดไม่ได้แตกต่างกันเลย


     เริ่มต้นจาก พรประภา ลักษมีสถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัทภาวัลย์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้หญิงยุคใหม่ที่เข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ในยุคนี้ได้ดี ที่ส่วนใหญ่มักถูกขนานนามให้เป็นเวิร์กกิ้ง วูแมน ที่ต้องทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน ไปจนถึงดูแลครอบครัวและลูกน้อย โดยมองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ นั่นคือ การที่ลูกรับประทานอาหารยาก รับประทานน้อย จนในที่สุดจึงเกิดแนวคิดผลิตเป็นสินค้าเข้ามาตอบโจทย์ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง โดยผลิตออกมาในรูปของข้าวตุ๋นพร้อมทาน (Ready to eat) แค่เปิดฝาแล้วก็ตักป้อนลูกได้เลย เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีเวลาจำกัด ภายใต้แบรนด์ Bebby” 
 




     ความพิเศษของข้าวตุ๋น Bebby จะเน้นส่วนผสมที่เรียบง่ายแต่อร่อย ซึ่งความอร่อยดังกล่าวมาจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีในการดึงเอาคุณค่าของไก่และวัตถุดิบออกมาให้ได้มากที่สุด กลายเป็นน้ำสต็อกสูตรเฉพาะของ Bebby ที่เต็มไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เป็น Ready to cook อย่างน้ำสต็อกที่ให้คุณแม่ได้นำไปต่อยอดทำอาหารให้ลูกรับประทานได้ด้วยตนเอง


     โดยในแต่ละครั้งก่อนที่จะผลิตเป็นสินค้าออกมา พรประภาจะเน้นการทำความเข้าใจ Pain Point ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือคุณแม่แต่ละคน และใส่ใจในทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมองว่าการทำธุรกิจอาหารเด็กนั้นจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะเด็กโตไว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำธุรกิจของเธอจึงเหมือนกับการเลี้ยงลูกคนหนึ่ง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพรประภาจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ของธนาคารกสิกรไทย เนื่องจากเธอต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โตขึ้นไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัย


     “ก่อนหน้านี้เราก็มีการพัฒนาธุรกิจด้วยองค์ความรู้ที่เรามี สิ่งที่เราขาด คือ นักวิจัยที่เชี่ยวชาญรวมถึงเงินทุน เพราะการที่เราทำธุรกิจมาถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องต่อยอด สเตปต่อไปของเรา คือ เรามองว่าแค่สารอาหารเท่านี้ไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการเจาะลึกไปเลยว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยต้องการอะไรเป็นพิเศษ การที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถพัฒนาสินค้าได้ทันตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งโครงการนี้ตอบโจทย์ได้มาก เพราะการที่ SME คนหนึ่งจะเข้าถึงหน่วยงานหรือว่างานวิจัยนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้มองเห็นโอกาสขยายธุรกิจในอนาคตด้วย” พรประภากล่าวทิ้งท้าย
               




     เช่นเดียวกับ หญิง จันทร์ศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอล วิชั่น เฮ้าส์ จำกัด หญิงสาวที่พลิกวิธีคิดในการทำธุรกิจใหม่ โดยเริ่มต้นจากการทำธุรกิจด้านเครื่องสำอางซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก สู่การต่อยอดความคิดที่ว่าความสวยที่แท้จริงนั้นต้องเกิดจากภายในและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงได้เบนเข็มมาสู่ธุรกิจอาหารเสริม และ Super Food หรือผงผักที่มีคุณประโยชน์สูงมากต่อร่างกาย เทรนด์การกินของคนยุคใหม่ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ Feaga Life” ซึ่งประกอบด้วยสินค้า Super Food เช่น ผงอาซาอิ ผงมากิ ผงผักเคล ผงขมิ้นชัน ผงสาหร่ายสไปรูลิน่า เป็นต้น สามารถใช้ชงดื่มได้เลยทันทีหรือจะผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ นำไปปั่นแล้วดื่มก็ได้เช่นกัน


     ซึ่งการเริ่มต้นนั้นไม่ง่ายเลย เธอต้องศึกษางานวิจัยจากต่างประเทศมากมาย เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะเดินหน้าพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ ให้กลายเป็นผงผักชงดื่มที่มีคุณภาพ โดยจุดเด่นของผงผักชงดื่ม Feaga Life นั่นคือ กระบวนการผลิตที่จะเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ เพื่อดึงสารอาหารสำคัญออกมาให้ได้มากที่สุด
โดยหญิงมีเป้าหมายในการทำธุรกิจของตัวเองว่าเมื่อทำแล้วต้องทำให้ใหญ่ “การส่งออก” จึงเป็นจุดหมายปลายทางที่เธอตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้นงานวิจัยจึงมีความสำคัญมากในการพัฒนาแบรนด์ เพราะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี จึงกลายเป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจตบเท้าเข้าสู่โครงการ K SME Good to Great ของธนาคารกสิกรไทย


     “ก่อนหน้านี้เรามีสินค้าอยู่ตัวหนึ่งเป็นผงชงดื่มที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้นักกีฬา โดยเราพัฒนามาได้ถึงจุดหนึ่ง แต่ติดอยู่ที่เรื่องของต้นทุนสูง เพราะใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจากสินค้าต้นแบบที่เราทำและทดลองให้นักวิ่งใช้ จากที่เคยวิ่งได้ 18 กิโลเมตร แต่พอดื่มแล้วเขาสามารถวิ่งได้เพิ่มขึ้นเป็น 22 กิโลเมตร และไม่เหนื่อยด้วย เราจึงเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ของธนาคารกสิกรไทย เพราะอยากพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนไทยได้มากขึ้น โดยต้องการหันมาใช้วัตถุดิบในไทย เพื่อช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น ซึ่งการทำ Clinical Study ในนักกีฬาต้องใช้ทุนเป็นล้าน  เราจึงมองว่าโครงการนี้ตอบโจทย์ เพราะธนาคารกสิกรไทยเองก็สนับสนุนเรื่องเงินทุน อีกทั้งยังได้ความรู้และคอนเน็กชันจากคอร์สฝึกอบรมที่ได้เข้าร่วมด้วย”


     โดยเธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจในทุกวันนี้นั้นยาก แต่หากมีช่องทางอื่นที่แตกต่างก็จะทำให้เรามีเส้นทางเดินใหม่ต่อไปได้เรื่อยๆ
               

     และนี่คือ แนวคิดการทำธุรกิจแบบ Good to Great ที่ในวันนี้แค่ “ดี” อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้อง “ดีที่สุด” ด้วย จึงจะสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะการทำธุรกิจต้องไม่หยุดคิด ไม่ว่าวันนี้ หรือวันไหน คุณก็สามารถเป็นตัวจริงได้ หากสนใจเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ในปีหน้า สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook K SME
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น