‘VARNI CRAFT’ กระจูดงามเมืองใต้ที่อยู่เบื้องหลังกระเช้าปีใหม่ของ Starbucks




Main Idea
 
  • เชื่อว่าในแต่ละชุมชนมักจะมีเรื่องเล่าจากผู้คนที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน และนี่เอง คือ สิ่งที่ผูกผู้คนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกทั้งพวกเขายังคงรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิปัญญา’ กันไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
 
  • ‘VARNI CRAFT’ คือ แบรนด์สินค้ากระจูดไลฟ์สไตล์ที่ได้หนุ่มยุคใหม่เข้ามาพัฒนาต่อยอด เล่าเรื่องของชุมชนจนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างแถมยังเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัว
 
  • กระทั่งแบรนด์ใหญ่อย่าง Starbucks หรือสยามพารากอน ยังหยิบเอากระจูดจาก VARNI CRAFT ไปเป็นส่วนหนึ่งของการมอบความสุขในช่วงปีใหม่



     เชื่อว่าในแต่ละชุมชนมักจะมีเรื่องเล่าจากผู้คนที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน และสิ่งนี่เองที่ผูกผู้คนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกทั้งพวกเขายังคงรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิปัญญา’ กันไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่สิ่งที่พวกเขาไม่ถนัด นั่นคือ การเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้คนภายนอกได้เข้าใจ


     ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง มนัทพงศ์ เซ่งฮวด ผู้ที่เติบโตมาในชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เข้ามาเป็นกระบอกเสียงในการเล่าเรื่อง ‘กระจูด’ ให้ทุกคนได้รู้จักมากขึ้น จนตอนนี้เรื่องราวของกระจูดจากทะเลน้อยที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า VARNI CRAFT นั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย กระทั่งแบรนด์ใหญ่อย่าง Starbuck หรือสยามพารากอน ยังหยิบเอากระจูดจาก VARNI CRAFT ไปเป็นส่วนหนึ่งของการมอบความสุขในช่วงปีใหม่
               



     
     กระเช้าของขวัญปีใหม่สีสันสดใสถูกสานจากกระจูดโดยฝีมือของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่สั่งสมฝีไม้ลายมือมายาวนานหลายปี จากนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังองค์กรใหญ่ๆ มากมายและ Starbuck คือ หนึ่งในนั้น หากคุณเดินเข้าไปในร้าน Starbuck ช่วงเวลานี้ คงได้เห็นกระเช้าสีสวยของ VARNI CRAFT ตั้งอยู่บนชั้นวางที่เชิญชวนให้คนผ่านไปผ่านมาซื้อไปเป็นของฝากในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ที่จะถึงนี้
               




    โดยจุดเริ่มต้นของ VARNI CRAFT มาจากชายหนุ่มที่ชื่อ มนัทพงศ์ ผู้เรียนจบด้านการออกแบบ สิ่งที่เขาถนัด คือเรื่องของการดีไซน์ เมื่อมนัทพงศ์นำสิ่งที่ตนมีมาจับกับสิ่งที่ชุมชนมีก็กลายเป็น กระจูดที่ทันสมัย ใส่ความเป็นคนรุ่นใหม่เข้าไป แถมยังอัดแน่นด้วยเรื่องเล่าจากชุมชน จนได้เป็น ‘VARNI CRAFT’ แบรนด์สินค้าจากกระจูดที่มีทั้งกระเป๋า ของตกแต่งบ้าน แถมมนัทพงศ์ยังต่อยอดให้ชุมชนกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวด้วยการสร้างโฮมสเตย์สุดคูล กระจูดวรรณีโฮมสเตย์ ที่ใช้สินค้าจากกระจูดมาตกแต่งทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นว่ากระจูดของพวกเขาทำอะไรได้บ้าง
               




     “กระจูดของเราเริ่มต้นมานานแล้วตั้งแต่รุ่นทวดของทวด เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในชุมชน สมัยก่อนคนในชุมชนก็ทำกันเอง ไม่ได้มีรูปแบบการขายอะไร ทำเป็นเสื่ออย่างเดียว ราคาขายก็ค่อนข้างน้อย วางขายกันที่ทะเลน้อย รอนักท่องเที่ยวผ่านไปผ่านมา บางวันได้แค่ 100 บาท หักต้นทุน หักค่ากระจูด ได้ไม่ถึง 50 บาทด้วยซ้ำไป เพราะสมัยก่อนเรายังไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายและคนก็มองกระจูด งานหัตถกรรมเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ เราจึงเข้ามาพัฒนา ใส่ดีไซน์เป็นรูปแบบสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ก็เริ่มมีคนสนใจ พร้อมกับที่เราใส่เรื่องเล่าลงไป มีการทำตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำ ทำให้กระจูดของเรากลับมามีคุณค่า สามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนได้ด้วย”
              


 

     สิ่งที่เขาทำ คือ การจัดตั้งกลุ่มอย่างจริงจังเพื่อให้ชาวบ้านมารวมตัวกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบให้ชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้ ทางด้านมนัทพงศ์จะเป็นผู้หาลูกค้า ทำการตลาดและรับออเดอร์กลับมาให้คนในกลุ่มผลิตสินค้าและนี่คือ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี
               




     “เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2553 เรารวบรวมชาวบ้านเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพราะเมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ไม่เป็นองค์กร ต่างคนต่างขายก็ไม่เกิดการสร้างมูลค่า แต่พอเรารวมกลุ่มขึ้น เริ่มทำแบรนด์สินค้าก็เริ่มมีการพัฒนา ตัวเราเองนำความรู้สมัยใหม่ไปรวมกับภูมิปัญญาชาวบ้านให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ นอกจากนี้ประโยชน์ของการรวมกลุ่มคือชาวบ้านจะได้เรื่องของสวัสดิการ เงินปันผล ได้แชร์ความคิดกัน มีการช่วยเหลือกันมากขึ้น”
               




     กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แบรนด์ VARNI CRAFT กลายเป็นกระจูดที่ไม่ธรรมดา นั่นคือ การใส่เรื่องเล่าพร้อมกับโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ อย่างสม่ำเสมอก็ส่งผลให้มีลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามา อาทิ ชาวญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส ตลอดจนองค์กรใหญ่อย่าง Starbucks
               




     “ตอนนี้มีคนพูดถึงกระจูดมากขึ้น มีการพูดกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น ก็จะมีคนติดต่อมาเพื่อนำสินค้าไปวางขาย โดยสินค้าของเราเข้ากับตลาดโลกในปัจจุบันที่เน้นสินค้าจากธรรมชาติ ดีต่อสิ่งแวดล้อมแถมสินค้าเรายังเป็นงาน Craft ที่ช่วยเหลือชุมชนได้ด้วย อย่าง Starbucks เราทำให้เขามา 3 ปีแล้ว เขาจะมาสั่งให้เราทำกระเช้าใส่ของช่วงปีใหม่ เดือนธันวาคม ตอนแรกเขาเห็นเราจากที่ทำโปรโมตผ่านออนไลน์และเจอตามที่ต่างๆ ก็เลยติดต่อเข้ามา อีกอย่าง คือ การที่เราใช้กลยุทธ์สร้างเรื่องเล่าผ่านตัวสินค้า เพราะถ้าวางไว้เฉยๆ ไม่บอกเรื่องราวอะไร คนก็คงไม่สนใจ แต่เราเล่าว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มีคุณค่ายังไง ก็ทำให้คนสนใจเรามากขึ้น”
               

     หลังจากที่มนัทพงศ์เข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชน ก็ส่งผลให้กระจูดจากบ้านทะเลน้อยกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการนำไปวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งในเมืองไทย ที่สำคัญ คือ รอยยิ้มของคนในชุมชนที่ได้เห็นว่าสินค้าของพวกเขาไปไกลได้มากกว่าที่คิด แถมยังทำให้ยอดขายกระจูดเพิ่มขึ้นได้เป็นสิบเท่าตัว
               

     “เราต้องกล้าเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะยอมรับสิ่งใหม่ อย่างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาเราต้องยอมรับและทำให้มันสอดคล้องกัน ตัวสินค้าของเราต้องปรับให้เข้ากับคนยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรายังอยู่ที่เดิม ทำอะไรแบบเดิม เราก็อาจจะขายสินค้าไม่ได้ ตอนนี้เราสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้ามีมูลค่ามากขึ้น มีการกระจายรายได้สู่ชาวบ้าน ทุกคนก็มีความสุขเพราะรายได้ของทุกคนมาจากการที่ทุกคนร่วมมือกัน”
 
               
     เพราะพลังของเรื่องเล่านั้นสร้างคุณค่าให้สินค้าได้มากกว่าที่คุณคิด แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ความกล้าที่จะออกจากกรอบ กล้าทำสิ่งใหม่ กล้าริเริ่มตลอดจนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สุดท้ายแล้วธุรกิจที่ยั่งยืน คือ ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่เสียความเป็นตัวเองอย่างกระจูดเมืองใต้แบรนด์ VARNI CRAFT แบรนด์นี้...
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​