เปิดกลยุทธ์สุดแซ่บ ผู้พลิกธุรกิจบ้านๆ ให้ทะยานสู่ร้อยล้านในสิบปี

Text : พิมพ์ใจ พิมพิลา





Main Idea
 
  • ใครจะคิดว่าคนที่ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แค่เริ่มจากความชอบและหลงใหลในอาหารอีสาน และเห็นว่าในอนาคตจะโกอินเตอร์กับเขาได้ เลยลองมาเปิดร้านส้มตำที่มีรสชาติและหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองดู วันหนึ่งจะกลายมาเป็นธุรกิจร้อยล้านขึ้นมาได้
 
  • เรากำลังพูดถึง “บ้านส้มตำ” ธุรกิจร้านอาหารอีสานที่อยู่ในสนามมานาน 14 ปี พกพาความเป็นอีสานต้นตำรับมาเสิร์ฟลูกค้าทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ด้วยความอร่อยที่มาพร้อมบรรยากาศเหมือนนั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน จนอยากกลับมาเยือนอีกบ่อยครั้ง
 
  • กว่าจะมาเป็นบ้านส้มตำที่มียอดขายถึง 300 ล้านบาทในวันนี้ ต้องผ่านการคิดค้น พัฒนา และสร้างสรรค์มาอย่างหนักเพื่อส่งมอบความสุขที่มาพร้อมความอร่อยให้กับลูกค้า และในปี 2563 ที่หลายคนยังหวาดหวั่นกับเศรษฐกิจ แต่บ้านส้มตำกลับตั้งเป้าที่จะขยายสู่ 10 สาขา พร้อมทำรายได้ทะยานสู่ 500 ล้านบาท



      อาหารอีสานเป็นอาหารที่มาพร้อมกับความสนุก ความแซ่บ ความนัว กินได้ทุกมื้อ ทุกงานสังสรรค์ เป็นธุรกิจที่เปิดได้ทุกภาคทุกจังหวัด และหลายร้านก็ประสบความสำเร็จ มีลูกค้าติดอกติดใจให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ถามว่าจะมีสักกี่ร้าน ที่ทำรายได้แตะระดับร้อยล้านบาท!


     ท่ามกลางร้านอาหารอีสานที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้า ร้านแบบสแตนด์อโลน หรือแม้แต่รถเข็นริมทาง มีร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ บ้านส้มตำ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อน ปัจจุบันพวกเขาสามารถขยายมามี 8 สาขา ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และประสบความสำเร็จด้วยยอดขายแตะ 300 ล้านบาท!





     เบื้องหลังความไม่ธรรมดาคือผู้หญิงเก่งที่ชื่อ “สุภาพร ชูดวง”  ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บ้านส้มตำ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน “บ้านส้มตำ” ที่คออาหารอีสานคุ้นเคยดี เธอบอกจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจให้ฟังว่า ไม่เคยเปิดร้านอาหารมาก่อน อาศัยแค่ความชอบและหลงใหลในเสน่ห์ของอาหารอีสาน ทั้งยังมองว่ามีโอกาสที่จะไปสู่ตลาดอินเตอร์ได้ในอนาคต จึงเริ่มมาทำธุรกิจนี้ โดยใช้ชื่อว่า “บ้านส้มตำ”






     “คำว่าบ้านส้มตำ มาจาก 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ หนึ่งความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ด้านส้มตำ โดยเราจะรวมส้มตำที่หลากหลายมาไว้ที่นี่ ซึ่งตอนนี้เรามีเมนูส้มตำมากถึงกว่า 20 เมนู สองการเป็นโฮมเมด (Homemade) เหมือนการทำอาหารกินที่บ้านเรา ซึ่งเราจะเลือกแต่สิ่งที่ดีให้กับคนที่เรารัก เพราะฉะนั้นวัตถุดิบต่างๆ ที่เข้ามาสู่บ้านส้มตำก็จะเป็นสิ่งที่เราคัดสรรมาแล้วว่าดี สุดท้ายคือคำว่า บ้าน ก็คือการเหมือนได้กลับมาพักพิงกับคนที่เรารัก เพื่อน ครอบครัว เพราะฉะนั้นการออกแบบร้านบ้านส้มตำ เราจึงเน้นการเป็นบ้าน เน้นพื้นที่สีเขียวที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เหมือนบ้านของเราที่จะได้กลับมาสนุกกับเพื่อนๆ หรือว่าคนที่รัก” สุภาพรเล่าความหมายที่ซ่อนอยู่ในชื่อร้าน


     ด้วยความที่เมนูส้มตำเป็นอาหารที่เรียบง่าย มีขายในทุกที่ เรียกว่าถ้าไม่มาที่นี่ก็ไปซื้อที่อื่นได้ ฉะนั้นพวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการรังสรรเมนูอาหารแต่ละจาน ให้คงรสชาติและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ ใส่ใจในการทำกระทั่งการคัดสรรวัตถุดิบที่เน้นวัตถุดิบที่ดีที่สุดและมาจากแหล่งกำเนิด เช่น น้ำตาลปิ๊บที่เป็นส่วนผสมหลักของส้มตำที่ใช้ของ จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นน้ำตาลปี๊บแท้เท่านั้น โดยบ้านส้มตำได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนผู้เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลปี๊บอันขึ้นชื่อของอัมพวา ทำการศึกษาและทำโรงงานผลิตน้ำตาลปี๊บที่มาจากธรรมชาติโดยร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และส่งเสริมให้ธุรกิจบ้านส้มตำก้าวหน้าไปได้ในอนาคตอย่างมั่นคง
นอกจากนี้วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอาหารแต่ละจาน ยังผ่านการชั่งตวงทั้งหมด มีครัวกลางคอยจัดส่งวัตถุดิบสู่สาขาต่างๆ เพื่อรักษามาตรฐานของอาหารให้คงไว้




     “การทำธุรกิจบ้านส้มตำมีอยู่ 3 ปัจจัย อย่างแรกเป็นเรื่องของรสชาติที่ต้องตรงตามมาตรฐานในทุกสาขา แม้กระทั่งเสียงและจังหวะในการตำก็จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันด้วย ซึ่งส่งผลให้รสชาติดีจนติดปากและสามารถทานได้ในสาขาใกล้ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ส่วนการรักษามาตรฐานอาหารของบ้านส้มตำ คือการที่เรามีครัวกลางเป็นพื้นที่ในการคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์ในทุกเมนูเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของอาหารในทุกสาขา รวมไปถึงการคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อส่งไปในสาขาต่างๆ ตลอดจนมาตรฐานการบริการที่มีการฝึกฝน อบรม พนักงานให้มีมาตรฐานการดูแลลูกค้าที่ดีในรูปแบบเดียวกัน นอกจากนั้นเรายังมีการสนับสนุนการทำงานเป็นทีมและให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน อย่างการดูแลคุณภาพชีวิต สวัสดิการหรือการเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านส้มตำได้มอบให้กับพนักงานทุกคนอีกด้วย” เธอบอกเบื้องหลังมาตรฐานในแบบบ้านส้มตำที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน






     ทุกเมนูของทางร้านคิดค้นขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “ส่งมอบอาหารที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า” ที่มาของหลายเมนูเด็ดซึ่งอยู่ในความนิยมชมชอบ โดยเฉพาะเมนู “ตำหลวงพระบาง”  ที่เปิดขายเป็นเจ้าแรกๆ ในประเทศไทย ซึ่งนับถึงวันนี้พวกเขาสามารถขายไปได้แล้วถึง 2 ล้านจาน ในระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา


     ในส่วนของการดีไซน์ร้านในแต่ละสาขาของร้านบ้านส้มตำ จะเน้นพื้นที่สีเขียว โดยบางสาขามีพื้นที่สีเขียวถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ร้านอาหารเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อต้องการให้บ้านส้มตำเป็นพื้นที่อิสระสามารถผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้านที่ทุกคนสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้





     วันนี้บ้านส้มตำมีทั้งหมด 8 สาขา ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีแผนจะขยายสาขาในปีหน้าเป็น 10 สาขา ซึ่งนับเป็นการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่เธอกลับบอกว่า การลงทุนของบ้านส้มตำนั้น จะยึดหลักความพอเพียง และทำในกำลังของตัวเองเท่านั้น จะไม่ทำอะไรที่เกินตัว


     “ในการลงทุนทุกๆ ด้าน เราจะทำเท่าที่กำลังของเราจะสามารถดูแลได้ โดยเราจะยืนบนขาของเราเอง ซึ่งการเติบโตแบบนี้มันมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า ถามว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การขยายสาขาของเราจะเป็นการลงทุนสวนกระแสกับคนอื่นหรือเปล่า อยากบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเกินตัว แต่บ้านส้มตำทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำได้ ซึ่งทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และการลงทุนของเราไม่ได้ยืนอยู่บนความเสี่ยง” เธอย้ำ





     เพราะการทำธุรกิจอย่างมีแผน และเติบโตขึ้นมาด้วยกำลังขาของตัวเอง ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในเรื่องของรสชาติและการบริการ ที่คำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่จะมอบให้แก่ลูกค้า ทั้งยังคิดถึงสังคมส่วนร่วม ทำให้ธุรกิจบ้านส้มตำ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าที่จะไปสู่ยอดขาย 500 ล้านบาทในปีหน้า





     แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ SME ในทุกธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเหมือนธุรกิจที่ชื่อ…บ้านส้มตำ


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน