1+1 ไม่เท่ากับ 2 สร้างทางลัด ปั้นธุรกิจว้าว! ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งแชร์ยิ่งเติบโต



Main Idea

 
  • เพราะโลกการทำธุรกิจทุกวันนี้ เราไม่สามารถอยู่ลำพังเพียงคนเดียวได้ การแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ คือ สิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปได้พร้อมกัน
 
  • เหมือนเช่นการแบ่งปันกันระหว่าง ‘รุ่นพี่’ และ ‘รุ่นน้อง’ ที่เกิดขึ้นในโครงการ K SME CARE เพื่อแชร์บทเรียน เรื่องราวการทำธุรกิจซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นสังคมผู้ประกอบการที่เข้มแข็งช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พี่แชร์น้อง น้องแชร์พี่ ยิ่งให้ไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับมามากเท่านั้น
 
 

     ในยุคหนึ่งของการทำธุรกิจที่ทุกอย่างถูกขีดเส้นใต้เอาไว้ด้วยคำว่า “แข่งขัน” ใครเร็วกว่า ดีกว่า ทำได้ถูกกว่า มักเป็นผู้ชนะอยู่เหนือยอดพีระมิดที่จะได้ใจลูกค้าไปครอง แต่ในยุคปัจจุบันด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นไปได้รวดเร็วและง่ายดาย จึงเกิดเป็นสังคมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Sharing” หรือการแบ่งปัน เป็นยุคที่การแข่งขันสามารถทำได้อย่างเสรีเท่าเทียมกันไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ การจะดำเนินธุรกิจให้ก้าวต่อไปได้ จึงต้องอาศัยเพื่อนร่วมทางเดินไปด้วยกัน เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและแข็งแรงกว่า
 

หมดยุค SME โตเดี่ยว
 

     “K SME CARE” โครงการอบรมระยะสั้นที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างให้เกิดสังคมการแบ่งปันระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง เพื่อแชร์ประสบการณ์ เรื่องราวการทำธุรกิจ เกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ‘รุ่นพี่’ และ ‘รุ่นน้อง’คนทำธุรกิจ เพื่อช่วยลดขั้นตอนการลองผิดลองถูก สร้างทางลัดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง นอกจากพัฒนาศักยภาพของตนเอง ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นด้วย





     พีรเชษฐ์ คริษฐ์เจษฏา โล่ห์สกุล เจ้าของร้านไทร์มอนสเตอร์ (Tire Monsters) ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร คือ หนึ่งในผลผลิตของโครงการดังกล่าว เขาเป็นรุ่นน้องที่สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ด้วยคำแนะนำดีๆ จากรุ่นพี่หลังจากที่ได้เข้ามาเรียนใน K SME CARE รุ่นที่ 24


     โดยก่อนหน้าที่จะเข้าไปเรียน พีรเชษฐ์เล่าให้ฟังว่าเขาดำเนินธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรมาได้ 2 ปีกว่า ในซอยวิภาวดี 64 ด้วยความที่หน้าร้านไม่ได้อยู่ติดริมถนนใหญ่เหมือนเช่นศูนย์บริการอื่นๆ เขาจึงคิดชดเชยโอกาสทางธุรกิจที่เสียไปด้วยการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ขึ้นมา เพื่อเพิ่มยอดขายและทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น แรกทีเดียวยอดขายออนไลน์ของเขาไม่กระเตื้องขึ้นสักเท่าไหร่ จนเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปร่วมกับสังคมคนทำธุรกิจตัวจริงเสียงจริง ก็ได้เรียนรู้และซึมซับวิธีการทำธุรกิจในแบบที่เขาเองไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน เกิดเป็นโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนการทำธุรกิจของเขาไปอย่างสิ้นเชิง


     “เดิมทีผมก็เริ่มต้นเหมือนกับหลายๆ คน ที่พอวันหนึ่งรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานประจำแล้ว ก็อยากหาอะไรทำของตัวเอง บังเอิญผมเคยทำงานกับบริษัทยางรถยนต์มาก่อน เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นลองมาเปิดอู่ซ่อมรถดีกว่า โดยเลือกโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าผู้หญิงเลย เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไว้ก่อน โดยเรารู้ว่าทำเลตรงนี้อยู่ในซอย แต่ที่เลือกที่นี่เพราะ 1.ใกล้บ้าน 2.อยู่ติดกับตลาดที่ผู้คนผ่านไปมาและมีลานจอดรถกว้าง และ 3.ค่าเช่าถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่จากจุดด้อยที่มีเราจึงเพิ่มช่องทางขายสินค้าในออนไลน์ขึ้นมา ทั้งในเฟซบุ๊กและมาร์เก็ตเพลสต่างๆ โดยเราเป็นศูนย์บริการรถยนต์ร้านแรกในไทยด้วยที่นำสินค้าเข้าไปวางขายใน Shopee และ Lazada”





     เมื่อหันมาช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง พีรเชษฐ์เล่าว่าภาพการทำธุรกิจออนไลน์ของเขาได้แตกต่างไปจากเดิม จากในยุคแรกที่คิดทำเพื่อเพิ่มยอดขายหน้าร้าน แต่เมื่อได้เข้าไปลงเล่นแบบเต็มตัว เขากลับพบว่าความจริงแล้วการขายออนไลน์มีการแข่งขันที่สูงมากและไม่ได้กำไรดีเท่ากับหน้าร้าน แต่สิ่งที่ออนไลน์สามารถทำได้ คือ การขายในปริมาณที่ไม่จำกัด


     “แต่ก่อนการขายออนไลน์แรกๆ ของเราก็ทำเหมือนกับคนอื่นๆ ไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือระบบอะไรเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ในเดือนแรกยอดขายออนไลน์เราอยู่ที่หมื่นกว่าบาท บังเอิญช่วงนั้นได้เริ่มเข้าไปอบรมกับ K SME CARE ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจมาก่อนมาปรับใช้บวกกับการปรับกลยุทธ์ของเราเอง เน้นขายราคาไม่แพง เพื่อให้ได้ปริมาณเยอะๆ ต้นทุนจะได้ถูกลง บางทีก็สร้างโปรโมชั่นขึ้นมา เช่น ซื้อน้ำมันเครื่อง มาเปลี่ยนฟรีที่ร้านได้ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดือนแรกที่ขายได้ประมาณ 16,000 บาท พอเดือนที่ 2 ขายได้ 67,000 บาท เดือนที่ 3 ขึ้นมาเป็น 160,000 บาท โตแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่คิดไว้ว่าเพื่อเป็นช่องทางเพิ่มยอดขาย กลับกลายเป็นช่องทางหลัก


     “จากเมื่อก่อนเวลามีออร์เดอร์เข้ามาสมมติ 150 ออร์เดอร์ ผมใช้แอดมิน 2 คนในการคีย์ข้อมูล แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบเชื่อมต่ออัตโนมัติ การทำงานของเรารวดเร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด สมมติเราลงขายสินค้าไว้ ไม่ว่าลูกค้าจะเข้ามาจากมาร์เก็ตเพลสไหนก็ตาม เมื่อมียอดขายออกไประบบจะตัดยอดจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่โดยอัตโนมัติ ที่อยู่จัดส่งก็สามารถสั่งพิมพ์ได้ทันที ไปจนถึงระบบบัญชีก็ลิงก์เชื่อมต่อกันได้ ช่วยให้ลดเวลาทำงานได้มาก เราเหลือใช้แอดมินแค่คนเดียว เมื่อก่อนหน้าร้าน คือ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ที่เหลือคือออนไลน์ทั้งหมด ยอดขายเฉลี่ยทุกวันนี้ หน้าร้านอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ออนไลน์ 3 ล้านบาทต่อเดือน”





     นอกจากช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจและสร้างรากฐานที่เติบโตแข็งแรงแล้ว พีรเชษฐ์แชร์ว่าการที่เขาได้เข้ามาอยู่ในสังคมของการแบ่งปันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องนักธุรกิจ ทำให้เขาได้มุมมองการทำธุรกิจและใช้ชีวิตดีๆ อีกมากมาย


     “สิ่งต่างๆ ที่ผมได้จากการได้เรียน K SME CARE คือการได้รับความรู้แบบที่ไม่เคยได้รับจากการอบรมที่ไหนมาก่อน ที่นี่เราไม่ได้เจอแค่วิทยากร แต่เราได้มาเจอกับนักธุรกิจที่เป็นตัวจริง คำแนะนำที่ได้แตกต่างจากที่เคยได้รับจากที่อื่นๆ อย่างบางทีเราถามไปง่ายๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมากลับช่วยย่นเวลาลองผิดลองถูกหรือปลดล็อกให้เราไปได้อีกนานทีเดียว เช่น ถามไปว่าจะทำยังไงให้ยอดขายในเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการเดิมๆ ก็คือ เลือกกลุ่มเป้าหมายและลงโฆษณาเหมือนเดิม แต่คำตอบที่เราได้รับ คือ ถ้าขายใน Shopee อยู่แล้ว ก็ลองเอาเบอร์ลูกค้ามาลงโฆษณาในเฟซบุ๊กเลย เวลายิงแอด ก็ให้ยิงไปที่คนนั้นเลย สั้นๆ แค่นี้แต่เป็นการเปลี่ยนโลกออนไลน์เราไปเลย คนเก่งในนี้มีเยอะ แล้วเขาก็พร้อมให้คำแนะนำเราแบบไม่มีกั๊กเพียงแค่บอกว่าเรียน K รุ่นไหนมา ก็สลายกำแพงเหมือนมีพาสสปอร์ตเป็นใบเบิกทาง ซึ่งในชีวิตประจำวันของเราการจะเจอคนแบบนี้ เจ้าของธุรกิจตัวจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย”
 

แบ่งปัน เพื่อได้กลับคืน
 
               
     ในอีกมุมหนึ่งของการทำธุรกิจยุคนี้ที่บอกว่าคงสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน โดยคนสำคัญที่ทำให้เกิดผลสำเร็จนี้ได้ ก็คือ รุ่นพี่ที่เคยผ่านบทเรียนและประสบการณ์การทำธุรกิจมามากมาย และอยากแชร์ให้กับน้องๆ ได้ฟัง


     ‘พัสชนันท์ คงวณิชกิจเจริญ’ ทายาทรุ่นที่ 2 ของศรีนครชัย อินเตอร์เทรดดิ้ง คือ หนึ่งในรุ่นพี่จากโครงการ K SME CARE ของธนาคารกสิกรไทยที่มาแชร์ประสบการณ์ผ่านการเสวนา K SME CARE TALK ได้บอกเล่าให้ฟังถึงการ Transform ธุรกิจของตน จากร้านขายส่งเครื่องมือช่างของที่บ้าน ยกระดับสู่แพลตฟอร์มแบบ B2B ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการทั่วประเทศเข้าด้วยกันกับ ‘S-Connect’ ท่ามกลางความงุนงงของคนรอบข้าง แต่หลายปีต่อมาเธอก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เธอทำนั้นไม่เพี้ยน
               




     “ก่อนหน้าที่เราทำ คนไม่เข้าใจเยอะมาก ตอนนั้นเราเหมือนตัวประหลาดเพี้ยนๆ ว่าจะทำถึงขนาดนั้นทำไม แต่พอหลายปีผ่านมา คนเริ่มเห็นชัดแล้วว่าถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่รอด ตอนนี้ร้านค้าดั้งเดิมมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ลูกค้าเก่าๆ ของเราที่ไม่ปรับตัวเห็นเลยว่ามีอัตราการปิดกิจการเยอะมาก แต่ก่อนปีหนึ่งมีแค่ร้านสองร้าน เดี๋ยวนี้มีแจ้งปิดทุกเดือน”
               

     สิ่งที่พัสชนันท์ได้นำมาแชร์ให้นักธุรกิจรุ่นน้องได้ฟัง คือ ประสบการณ์ที่เธอขยายโมเดลธุรกิจครอบครัวจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ว่าช่วยทำให้ธุรกิจของเธอเปลี่ยนไปในแง่บวก ทั้งด้านพนักงาน Supplier และลูกค้า ซึ่งเป็นสามส่วนหลักของธุรกิจ
               

     “อย่างแรก คือ พนักงาน ถ้าเราไม่เปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากทำงานกับเรา แต่พอเราพัฒนา สร้างแพลตฟอร์มที่ทันสมัยก็ดึงดูดพนักงานที่ดีให้มาทำงานกับเราเพิ่มขึ้น ด้าน Supplier เมื่อเราพัฒนาตัวเอง เขาก็เห็นว่าเรายังมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับลูกค้า เขาก็จะไม่กล้าทิ้งเรา แต่ก่อนอาจจะเป็น Partner กันธรรมดาแต่เดี๋ยวนี้กลายเป็น Strategic Partner วางแผนการทำงานร่วมกัน เติบโตมากขึ้นและมี Trust Level ที่สูงขึ้นกับ Supplier ด้วย สุดท้ายคือลูกค้า ลูกค้าที่เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาสู่ช่องทางออนไลน์เราก็มีช่องทางใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนการทำงานของเขาช่วยให้เขาเติบโตและทำงานง่ายขึ้น เพราะแพลตฟอร์มของเรามีข้อมูลทุกอย่าง ทำให้ลูกค้าติดใจในการใช้งานแพลตฟอร์ม สามารถเสิร์ชข้อมูลได้ เช็กสต็อกสินค้า สั่งของได้ เราสามารถเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้กับลูกค้าที่เค้าเริ่มพัฒนาแล้ว”
               

     อีกหนึ่งเรื่องที่จะช่วยเสริมแกร่งให้คนทำธุรกิจยุคนี้ได้ดีคือการ ‘แบ่งปัน’ แบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ แบ่งปันข้อมูล เพราะยุคนี้คุณจะทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวไม่ได้อีกต่อไป โลกในยุคใหม่ คือ โลกแห่งการ Sharing ที่เปลี่ยนจากโลกในยุคก่อนที่คนทำธุรกิจต้องแข่งกันเอง ปิดบังข้อมูล แต่ยุคนี้ไม่ใช่การทำธุรกิจในทิศทางนั้นอีกต่อไป ผู้ประกอบการต้องจับมือกันเพื่อ Transform ตัวเองและก้าวข้ามยุคไปด้วยกัน
               

     “หลายคนตอนนี้เหมือนปริ่มน้ำ ตะเกียกตะกาย เพราะถ้าคุณแค่ลงทุนเพื่อเอาตัวรอดในช่วงนี้มันไม่รอดแน่ๆ มันคือ ช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นยุคทองของคนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว อย่างเวลาที่เราแบ่งปันข้อมูลให้ผู้ประกอบการก็จะพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ตัวเราเองมีประสบการณ์เป็นโค้ชมา 4-5 ปี เท่าที่ได้สัมผัสต้องบอกเลยว่านักธุรกิจไทยเก่งมาก แต่ปัญหา คือ เราพึ่งพาตัวเองมากเกินไป ทำอะไรเองทั้งหมดทุกอย่าง ซึ่งพอทำเองทุกอย่าง การสร้างระบบก็ไม่เกิด พอมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แต่เราขาดการวางระบบที่ดี มันก็เติบโตได้ยาก เรามองว่าการแบ่งปันข้อมูลมัน คือ โอกาส ถ้าเราได้แชร์ไอเดียของเราออกไปได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเราไม่มีทางเก่งทุกอย่าง ยุคนี้เป็นยุค Specialist ยุคที่คุณต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่ง เป็นยุคแห่งการ Sharing และ Networking เราต้องมองหาคนที่ถนัดและเก่งกาจที่แตกต่างมาส่งเสริมกัน การที่พี่แชร์น้อง น้องแชร์พี่ มันช่วยได้มากๆ เพราะจะได้รู้ว่าใครเก่งด้านไหน หรือเรามีด้านไหนที่พอช่วยคนอื่นได้บ้าง มันไม่ใช่ยุคที่เราทำคนเดียว แต่ต้องจับมือกันไป”


     ซึ่งพัสชนันท์เองก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จในฐานะ ‘รุ่นพี่’ แห่งวงการธุรกิจ เธอเองก็เคยเป็น ‘รุ่นน้อง’ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อน พี่ น้อง ในโครงการ K SME CARE มาก่อน ถ้าหากไม่มีวันนั้นพัสชนันท์เล่าว่าธุรกิจของเธออาจจะเจ๊งไปแล้วก็เป็นได้
               

     “เรามองว่า K SME CARE เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ตอนที่เราทำธุรกิจคนเดียว คิดไม่ออกเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เราเดินเข้ามาในโครงการแล้วทำให้เราเจอพาร์ต์เนอร์ที่ยังดีต่อกันจนถึงในทุกวันนี้ หรือพี่ที่เป็นคนทำแพลตฟอร์มให้เราก็มาจากโครงการ นี่คือ โครงการที่จะทำให้คุณได้เจอเพื่อนพี่น้องที่มีวิสัยทัศน์และจับมือสร้างธุรกิจดีๆ ร่วมกัน อย่างเราเองถ้าไม่ได้มาเข้าโครงการ ก็อาจจะเจ๊งไปแล้ว”





     จากความช่วยเหลือที่ได้รับในวันนั้น ทำให้วันนี้เธอมีโอกาสได้มาแบ่งปันความรู้ดีๆ และช่วยเหลือ SME ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ K SME CARE ให้เติบโตต่อไปได้


     จากโค้ชรุ่นพี่รุ่นแรก ภาคภูมิ หอมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอินโนฟู้ด ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ผลิตและทำตลาดแหนมสุทธิลักษณ์ และแหนมดอนเมือง คือ รุ่นพี่อีกหนึ่งคนที่ได้เข้ามาช่วยแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจให้ฟัง ซึ่งในเนื้อหาที่ภาคภูมิได้เคยนำมาแชร์ให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้ฟังนั้น คือ การบริหารทรัพยากรบุคลากรในองค์กร โดยเขาได้แชร์ให้ฟังว่าแต่เดิมองค์กรของเขาก็เหมือนกับบริษัท SME ทั่วไปที่บริหารงานแบบผู้นำ จนเมื่อเขาได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้กับที่บ้าน ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกที่เกิดมากมายซึ่งอาจส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคต จึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากร โดยเปลี่ยนมุมมองการบริหารใหม่หมดจากที่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงคนเดียว เปลี่ยนจากผู้นำ คือ ผู้สั่งการ มาเป็นทุกคนช่วยกัน จากพนักงานเป็นผู้รับคำสั่งอย่างเดียว มาเป็นต้องหัดคิดมองเห็นถึงปัญหา และวิธีการแก้ไขได้ และมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ไปจนถึงการวางรากฐานของคนในองค์กรให้มีทัศนคติ ความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน


     “โลกทุกวันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้นมาก หน้าที่เรา คือ จะทรานฟอร์มองค์กรยังไงเพื่อรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ผมจึงมองว่าการปูพื้นฐาน สร้างคน ปรับทัศนคติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอนาคตมีอะไรเข้ามา เราจะได้มีความคิดเห็นและปฎิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ผมจึงเปลี่ยนตัวเองก่อน ทำให้เขาเห็น จากแต่ก่อนอารมณ์ร้อน โมโหง่าย ตอนนี้ก็หันมาฟังมากขึ้น และเราก็ใช้วิธีตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้หัวหน้างานเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นช่วยกันหาเหตุผล และถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นควรจะแก้ไขยังไง เมื่อเราทำให้หัวหน้าเห็น ในที่สุดเขาก็จะนำวิธีการเดียวกันนี้ไปถ่ายทอดและใช้กับลูกน้อง เมื่อนั้นองค์กรเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี บุคลากรมีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาไม่นานก็เข้าใจตรงกัน ไม่ต่อต้าน เพราะเรามีการปรับ Mindset เดียวกันแล้ว”
               

     สำหรับการแชร์ประสบการณ์ให้ฟังในครั้งนี้ ภาคภูมิได้แสดงมุมมองความคิดเห็นว่า
               

     “ผมว่าการได้ก้าวมาสู่ครอบครัว K SME CARE และการได้รับเกียรติให้เป็นโค้ช ถือเป็นเวทีที่ดี การที่เราได้แชร์เรื่องต่างๆ เหล่านี้ออกไปว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง แล้วมีผลลัพธ์ออกมาดียังไง สุดท้ายสิ่งที่แชร์เหล่านั้นมันจะถูกแชร์กลับมาอีกรอบด้วย เราเองก็เหมือนได้โจทย์ใหม่ๆ ว่าความจริงแล้วไม่ได้มีเราคนเดียวที่มีปัญหาแบบนี้ หรือนอกจากปัญหาแบบนี้แล้ว จริงๆ ยังมีปัญหาแบบอื่นอยู่ด้วย ได้รู้วิธีการคิดการแก้ไขปัญหาแบบอื่นๆ ซึ่งทุกวันนี้มีธุรกิจที่เกี่ยวกับการ Sharing เกิดขึ้นมากมาย แต่ผมมองว่าการแชร์องค์ความรู้มันมีมูลค่ามากกว่า การที่ทุกคนมาแชร์กัน ก็เหมือนเป็นเวทีได้มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งยิ่งให้ยิ่งได้ การที่เราแชร์องค์ความรู้ตรงนี้ออกไปให้กับคนหนึ่ง เขาอาจนำไปต่อยอดหรือบอกต่อให้คนอื่นๆ อีกหลายคนที่รู้จักได้ฟังต่ออีกทีก็ได้ ความรู้ก็ถูกกระจายออกไป เป็นการให้ไม่มีที่สิ้นสุด ทุกวันนี้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปมาก 1+1 ไม่เท่ากับ 2 แล้ว แต่อาจกลายเป็น 5 เป็น 10 เป็นพันก็ได้ และจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะโลกทุกวันนี้ คือ การแบ่งปันแค่อยากรู้อะไรก็หาได้ในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการทำธุรกิจที่ว่าทำแบบนี้ออกมาแล้วเขาจะลอกเราไหม เขาจะทำเหมือนเราหรือเปล่า หมดยุคไปแล้ว ทุกวันนี้แม้แต่อุตสาหกรรมเดียวกันก็ยังแชร์กันได้ เช่น แชร์วัตถุดิบร่วมกัน เพื่อให้ได้ราคาถูกลง สำหรับการได้เข้ามาเรียนมาแชร์ประสบการณ์ใน K SME CARE นอกจากจะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันแล้ว ยังทำให้เราได้พบเจอคนที่ทำธุรกิจมากมาย วันนี้เราอาจไม่ได้คิดใช้บริการเขา แต่วันหนึ่งข้างหน้าถ้าเราต้องการความช่วยเหลือ หรืออยากได้บริการแบบนี้ ก็รู้ว่ายังมีตรงนี้อยู่ ช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้”
               

     และนี่คือ เรื่องราวของสังคมแห่งการแบ่งปันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องจากโครงการ K SME CARE ที่ทุกอย่างทุกปัญหาถูกเปิดทางได้ด้วยมิตรภาพ เพื่อสร้างรากฐานการเติบโตแข็งแกร่งของการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในโครงการเท่านั้น แต่การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ หรือแม้แต่บทเรียนทางธุรกิจก็ยังถูกส่งต่อไปยังผู้ประกอบการ SME คนอื่นๆ ที่อยู่นอกโครงการ K SME CARE ให้ได้เรียนรู้และใช้เป็นทางลัดไปสู่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการทำธุรกิจในปัจจุบัน การเดินคนเดียว คิดคนเดียวอาจไม่ใช่หนทางที่สวยงามอีกต่อไป การยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งแชร์ต่างหาก ที่จะกลายเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจ SME เติบโตได้อย่างมั่นคง


     ติดตามกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ดีๆจากพวกเขาเหล่านี้ ได้ที่ FB : K SME
 


ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
www.smethailandclub.com

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน