5 บทเรียนการสร้างแบรนด์จาก 5 ธุรกิจที่ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin



 
Main Idea 
 
  • กว่าที่ธุรกิจหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องผ่านบทเรียนมามากมาย เช่นเดียวกับ 5 ธุรกิจ SME  ที่ได้รับรางวัล สุดยอดเอสเอ็มอี Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 15 ซึ่งได้มอบบทเรียนสำคัญอันเป็นประโยชน์ในการสร้างธุรกิจที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจของ SME ยุคนี้ได้
 
  • ไม่ว่าจะเป็น ให้ใจกับพนักงานก่อนแบบ “ตะขาบ 5 ตัว” มองหาโอกาสให้เจอในยามวิกฤติแบบ “ดีวาน่า” ฟังลูกค้าและมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้ลูกค้าแบบ “Diamond Grains” ทำดีกับลูกค้าเหมือนทำดีกับคนในครอบครัวแบบ “โทฟุซัง” และเติบโตอย่างยั่งยืนแบบ “Oh! Veggies”
 
  
               
     กว่าที่ธุรกิจใดจะประสบความสำเร็จได้คงต้องผ่านบทเรียนมากมาย เช่นเดียวกับ 5 ธุรกิจ SME ที่ได้รับรางวัล สุดยอดเอสเอ็มอี Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 15 ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัลให้กับธุรกิจที่สร้างความเข้มแข็งในมิติที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจและเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ





     ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดีวีเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ให้บริการนวดสปา  ผลิตภัณฑ์สปา  คลินิก  สกินแคร์  คาเฟ่ และ Wellness ภายใต้แบรนด์ดีวาน่า บริษัท โทฟุซัง จำกัด ผู้ผลิตน้ำเต้าหู้ออแกนิค ภายใต้ตราสินค้าโทฟุซัง  บริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ กราโนล่า ภายใต้แบรนด์ “Diamond Grains” บริษัท พลังผัก จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สลัดผัก ผลไม้พร้อมทาน ภายใต้แบรนด์ Oh! Veggies และ Oh! Fruity  และบริษัท ห้าตะขาบ (ซิมเทียนฮ้อ) จำกัด ผู้ผลิตยาอมสมุนไพรแบรนด์ “ตะขาบ 5 ตัว”
               

     ทั้ง 5 แบรนด์ได้มอบบทเรียนสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการสร้างธุรกิจที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจได้ ดังนี้
 



 
  • บทเรียนที่ 1 : ให้ใจกับพนักงานก่อนแบบ “ตะขาบ 5 ตัว”
           
     คนเป็นทรัพยากรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ แบรนด์ “ตะขาบ 5 ตัว” เชื่อว่า ถ้าองค์กรอยากให้พนักงานทำงานด้วยใจ อย่างแรกองค์กรต้องให้ใจกับพนักงานก่อน ต้องให้ความเป็นอยู่ที่ดี ที่แบรนด์ห้าตะขาบไม่เคยมีความคิดจะไล่พนักงานออกเลย มีแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยากอยู่กับองค์กร ถ้าพนักงานรักองค์กรแล้ว เขาจะอยากทำงานที่ดีออกมา นอกจากมอบความมั่นคงให้พนักงานแล้ว ต้องทำให้เขามีความสุขในที่ทำงานที่เป็นเหมือนอีกครอบครัวหนึ่งของเขา เมื่อนั้นพนักงานจะมีความจงรักภักดีกับองค์กร
 



 
  • บทเรียนที่ 2 : มองหาโอกาสให้เจอในยามวิกฤติแบบ “ดีวาน่า”
               
     จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจสปาแห่งนี้มาจากการถูกเลย์ออฟในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ในยามวิกฤตินั้น ผู้ก่อตั้งแบรนด์กลับมองเห็นแสงสว่างว่านี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตที่จะได้ทำตามความฝัน และเมื่อกลับมาทบทวนจุดแข็งของตัวเองก็พบว่า ประสบการณ์ในธุรกิจบริการที่ได้จากการทำงานสายการบินระดับโลกมาเป็นต้นทุนที่มีค่ามหาศาลในการมาต่อยอดทำธุรกิจบริการได้ต่อ ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสจากเทรนด์สุขภาพที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก และช่องว่างทางการตลาดที่ใหญ่มากระหว่างนวดแผนไทยที่ถูกทำให้เป็นบริการราคาถูกกับสปาที่เป็นบริการหรูหราราคาแพง ซึ่งเมื่อนำทั้งจุดแข็งและโอกาสมาผสานกันจนสร้างความแตกต่างได้ก็ทำให้แบรนด์ดีวาน่ามีที่ยืนอย่างสง่างาม
 



 
  • บทเรียนที่ 3 : ฟังลูกค้าและมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้ลูกค้าแบบ “Diamond Grains”
               
     กว่าที่ธุรกิจกราโนล่าของ “Diamond Grains” จะเติบโตมาได้ต้องผ่านการถูกปฏิเสธมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธ ทีมจะกลับมาทบทวนตัวเองว่าจะพัฒนาต่อได้อย่างไร เช่นเดียวกับการฟังลูกค้าให้มากว่าแท้จริงแล้วเขาต้องการอะไร Diamond Grains เองเคยอยู่ในวังวนของการพัฒนาสูตรอยู่กว่า 3 ปีก็ยังไม่พบทางออก แต่เมื่อตัดสินใจฟังเสียงลูกค้าจนรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ปรากฏว่าสามารถค้นพบสูตรที่ลงตัวได้จบภายใน 2 เดือน
                 

     เพราะเคยถูกปฏิเสธมาหลายครั้ง Diamond Grains จึงเข้าใจอย่างดีว่ากว่าที่ลูกค้าจะซื้อผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องยากมาก เพราะฉะนั้น เมื่อลูกค้าซื้อมอบใจมาให้แล้ว เราต้องมอบคุณค่าที่ดีที่สุดกลับคืนให้เขาในทุกๆ มุม เพื่อให้ได้โอกาสครั้งที่สองกลับมา เพราะกว่าจะได้โอกาสมาครั้งแรกมันยากมาก ถ้าเราทำดียิ่งขึ้นให้ในทุกโอกาส ลูกค้าก็จะให้โอกาสเราต่อไป
 



 
  • บทเรียนที่ 4 : ทำดีกับลูกค้าเหมือนทำดีกับคนในครอบครัวแบบ “โทฟุซัง”
           
     ปรัชญาในการสร้างธุรกิจของ “โทฟุซัง” คือ ทำน้ำเต้าหู้ที่มีคุณภาพดีที่สุดแบบเดียวกับที่อยากให้คนในครอบครัวได้ทาน ถ้าคิดว่าลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว เราจะอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา ทำให้โทฟุซังพิถีพิถันใส่ใจเรื่องคุณภาพทุกกระบวนการ คอยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานำเสนออยู่เสมอ เพราะมีภาพของลูกค้าที่รักเหมือนคนในครอบครัวอยู่ในใจตลอดการทำธุรกิจ
 



 
  • บทเรียนที่ 5 : เติบโตอย่างยั่งยืนแบบ “Oh! Veggies”

     ในยุคที่หลายคนอยากจะใช้เวลาสั้นที่สุดเพื่อขยายธุรกิจ สิ่งที่แบรนด์ “Oh! Veggies” ทำคือการค่อยๆ ใช้เวลาในการสร้างธุรกิจให้มั่นคง เติบโตไปทีละก้าว แต่เป็นก้าวที่ถูกต้อง เดินไปยังทิศทางที่ดีงาม ดีกว่ารีบขยายธุรกิจไปทั้งที่รากฐานยังไม่มั่นคง เวลาล้มจะล้มแรงกว่า เวลาทำธุรกิจจึงเริ่มจากสเกลเล็กที่ดูแลได้ทั่วถึงก่อน ไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหญ่โตตั้งแต่ต้น แต่ให้ทดลองก่อน ลองผิดลองถูกก่อน จนมั่นใจว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แล้วค่อยขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงไปในตัว โตอย่างยั่งยืนยาวนานน่าจะมั่นคงมากกว่าโตเร็วแต่ยังไม่พร้อม
 

     SME ที่อยากประสบความสำเร็จ ก็สามารถเรียนรู้จากบทเรียนของทั้ง 5 แบรนด์ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในยุคที่ท้าทายในวันนี้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ