“The ReMaker” อกหัก คบซ้อน ก่อนจะเจอ ‘คู่แท้’ ในตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : The ReMaker





Main Idea
 
  • “The ReMaker”  (เดอะ รีเมคเกอร์) คือแบรนด์ผู้สร้างตำนานปลุกชีพขยะโกอินเตอร์ ที่อยู่ในตลาดมานาน 16 ปี และสยายปีกอย่างดงามในตลาดโลก
 
  • กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่มีอะไรง่าย พวกเขาต้องผ่านการอกหัก รักคุด คบซ้อน ก่อนจะเจอ “คู่แท้” ทางธุรกิจ ช่วยนำพาแบรนด์ไทยเล็กๆ ให้โบยบินสู่ตลาดอินเตอร์สมดังที่ตั้งใจไว้



     กว่าจะเจอพาร์ทเนอร์ที่ใช่ นำพาแบรนด์ไทยไปเฉิดฉายในตลาดต่างประเทศ คุณคิดว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน?


      บางคนต้องผ่านความผิดหวัง ไม่ต่างจากการเลือกคนรัก ที่ต้องอกหัก รักคุด ผ่านความช้ำมาหลายครั้งหลายครา เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไปก็หลายหน จนได้เจอคู่แท้ที่ใช่ ถึงขนาดยอมจดทะเบียนสมรส ทำการค้าด้วยกันอย่างสมรักได้






     สำหรับ “ยุทธนา อโนทัยสินทวี” ผู้ก่อตั้ง The ReMaker  (เดอะ รีเมคเกอร์) แบรนด์ผู้สร้างตำนานปลุกชีพขยะโกอินเตอร์ เขารู้ซึ้งดีในเรื่องนี้ เพราะเคยผ่านทั้งการอกหัก คบซ้อน ก่อนจะเจอ ‘คู่แท้’ ในตลาดโลก


     ในงานสัมมนา "สร้างแต้มต่อธุรกิจ พิชิตตลาดต่างประเทศ" ที่จัดโดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ผ่านมา มีคำตอบในเรื่องนี้


      โดย The ReMaker  เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อน พวกเขาเป็นแบรนด์แฟชั่นที่นำวัสดุเหลือทิ้ง อย่าง เสื้อเก่า แผ่นป้ายโฆษณา ยางในรถยนต์ ฯลฯ  มาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋า รองเท้า และเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เป็น 16 ปีแห่งความหลัง ที่ให้รสชาติชีวิตมาอย่างครบรส


     The ReMaker ออกงานแสดงสินค้าครั้งแรกเมื่อปี 2547 เป็นงานที่แบรนด์อื่นขายดิบขายดี แต่แบรนด์ของพวกเขากลับขายแทบไม่ได้ เพราะในวันนั้นคนยังไม่อินและฟินกับคำว่ารักษ์โลกเท่าไร หลายคนชอบดีไซน์แต่พอรู้ว่าเป็นการเอาของเหลือทิ้งมาทำ ก็ถอดใจไม่ให้ราคาและไม่ยอมซื้อ จนตัดสินใจว่าต้อง โกอินเตอร์ เพราะตลาดโลกน่าจะมีความเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าประเทศไทยในวันนั้น


     กว่าจะยอมรับว่าเมืองไทยไม่ใช่ตลาด ก็ต้องกลืนเลือดตัวเองมานานถึง 2 ปี จนได้ไปเจอดีไซเนอร์ญี่ปุ่นที่กำลังมองหาสินค้าแปลกๆ จากเมืองไทยไปขายในญี่ปุ่น เริ่มจากทดลองตลาดแค่ 50 ชิ้น ปรากฏขายหมดในเวลาไม่ถึงเดือนก็สั่งเพิ่มอีก 200 ชิ้น จากนั้นก็ได้เซ็นสัญญากัน ตามมาด้วยยอดออเดอร์ครั้งละหลักพันพอให้ได้ลืมตาอ้าปาก และเห็นเส้นทางที่จะเติบโตไปด้วยกัน






     คนรักคนแรกช่วยเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นได้เกือบ 100 สาขา แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งความฝันก็ดับสลายลง เมื่อลูกค้ารายเดียวที่มีอยู่ “เจ๊ง” ลูกค้าที่ร่วมสร้างธุรกิจด้วยกันมา ช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ ที่มีลูกน้องแค่คนเดียว ขยายเป็น 30 คน กลับโบกมือลาจากไปโดยไม่มีสัญญานอะไรแจ้งเตือนล่วงหน้า วันนี้ยังทำโอทีเพื่อรีบส่งสินค้าให้ทันเวลา ก่อนจะตื่นเช้ามาเพื่อเจอว่า ลูกค้าเจ๊งเพราะถูกตีจากตลาดจีน และจากนี้ไปจะไม่มีออเดอร์อีกต่อไปแล้ว


     อกหักครั้งแรกชีวิตเป็นอย่างไร ยุทธนาเล่าว่า มืดแปดด้าน เหมือนถูกปิดสวิชท์ไฟ ทุกอย่างมืดสนิทโดยไม่ทันจะเตรียมใจ ได้แต่มองลูกน้องทยอยออกไปทีละคนๆ จนเหลืออยู่แค่ 5 คน จนต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองว่า จะกลับไปทำงานบริษัท หรือลุยธุรกิจต่อดี แน่นอนว่า…เขาเลือกอย่างหลัง  


     ยุทธนาตัดสินใจเอาเงินเก็บที่เหลืออยู่มาสู้ต่ออีกสักตั้ง จากทำงานแบบรับจ้างผลิตให้แบรนด์ญี่ปุ่น เขากลับมาปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อหวังว่าวันที่อกหักจะได้ไม่เคว้ง และเจ็บหนักเหมือนครั้งนี้





     แล้วโชคชะตาก็นำพาให้มาเจอกับลูกค้าฝรั่งเศส ยุทธนาบอกว่า ที่ผ่านมาก็เหมือนกับการคบแฟน ที่มีรักๆ เลิกๆ ดูใจกันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นได้แค่แฟน แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นแต่งงานกัน จนกระทั่งได้เจอกับฝรั่งเศส ก็ได้จดทะเบียนร่วมกัน และ อยู่กันนานกว่า 2 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกรา เมื่อลูกค้ามาสารภาพว่า ธุรกิจไปต่อไม่ได้


     อกหักซ้ำสองเจ็บหนักกว่าเดิม แต่เคว้งได้ไม่นาน เมื่อได้มาแต่งงานอีกครั้งกับลูกค้าชาวสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งนี้คนรักใหม่วาดฝันให้พวกเขาเสียสวยหรู จนทำให้เผลอหลงระเริงไปโดยไม่ถนอมตัว เรียกว่าให้ใจไปเต็มที่ เมื่อเจอคำหวานว่าจะสร้าง  The ReMaker ให้สู้กับ Freitag (ฟรายถาก) ของสวิตฯ ที่เกิดมาก่อน 2-3 ปี จึงตกลงปลงใจเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่อขยายตลาด The ReMaker ให้เติบใหญ่ในดินแดนสวิตฯ แต่เส้นทางนี้ก็ไม่ได้เรียบง่ายและงดงามขนาดนั้น


      ยุทธนาบอกว่า อดีตเขาเลือกคบทีละคน ไม่ใช่เพราะไม่อยากคบซ้อน แต่ด้วยโชคชะตาทำให้เจอคู่ชีวิตทีละคน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนบทเรียนใหม่ให้รู้ว่า ทำธุรกิจต้องรู้จักเผื่อใจและกระจายความเสี่ยงให้เป็น วันนี้ The ReMaker เลยเริ่มคบซ้อน คือมีคู่ค้าหลายๆ คน ไม่ได้คบแบบลึกซึ้ง แต่ขอแค่ให้มีกินไปเรื่อยๆ


      วันนี้ The ReMaker  เป็นหนุ่มหลายใจ ที่มีแฟนอยู่ทั้งใน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฟินแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าละเล็กละน้อย โดยไม่เซ็นสัญญา ไม่จดทะเบียนกับใครทั้งนั้น เขาบอกว่า เพราะมีประวัติเจ็บมาเยอะ ฉะนั้นการจะแต่งกับใครต้องใช้เวลาดูใจกันอีกนาน ขณะที่แฟนของสินค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มเล็ก ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่ถ้ารวมกันแล้วก็ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขายืดหยัดในธุรกิจนี้ต่อไปได้


      เขาย้ำว่า คบแบบนี้ดีกว่าได้รายใหญ่รายเดียว ให้ใจเขาไปเต็มที่ แล้ววันหนึ่งที่เขาหนีจากไป ก็คงต้องเคว้งและเจ็บช้ำ เหมือนกับบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้นเอง


     และนี่คือเรื่องราวความสัมพันธ์ในเส้นทางธุรกิจ ของแบรนด์รักษ์โลกที่โกอินเตอร์ได้สำเร็จนามว่า “The ReMaker”

 




       How to แปลงขยะให้เป็นสินค้ามี Value


      The ReMaker คือผลิตภัณฑ์ที่นำขยะและของเหลือทิ้งมาดีไซน์เป็นสินค้าแฟชั่นคูลๆ หลายคนอาจมองว่าขยะดูราคาถูก แต่สินค้าทุกชิ้นของ The ReMaker มีมูลค่าและราคาไม่ต่างจากแบรนด์ดังทั่วๆ ไป ทำอย่างไรให้สินค้าจากขยะดูแพง ดูลักชัวรี่ และลูกค้าพร้อมที่จะควักเงินจ่ายได้


       “ยุทธนา อโนทัยสินทวี” ผู้ก่อตั้ง The ReMaker  บอกว่า พวกเขาเริ่มจากดีไซน์โลโก้ใหม่ จากเดิมทำออกมาเป็นรูปทรงตึก ทำให้รู้สึกถึกๆ ตามคอนเซ็ปต์ที่เอายางเก่ามาใช้ เอาของเหลือทิ้งมาทำ มันเลยยิ่งตอกย้ำความ “ลุ้คชีป”  (Look Cheap) ดูถึก และดูถูก เขาเลยตัดสินใจรีแบรนด์ตัวเองใหม่ ให้ดูลักชัวรี่ และแพงขึ้น ด้วยการปรับโลโก้ใหม่ให้มันดูบางลง ดูมินิมอล และมีอะไรมากขึ้น จากนั้นก็เลือกหนังจากพวกเสื้อหนังมือสองมาทำ เพราะหนังยังมีคุณภาพดีอยู่ และคนให้ค่าความแพงจากความเป็นหนัง และเลือกดีไซน์ออกมาให้ดูดี จนคนให้ราคาและอยากครอบครองเป็นเจ้าของ


       นอกจากนี้ในส่วนของตัวสินค้าต้องมีซิกเนเจอร์บางอย่างที่สะท้อนถึงแบรนด์ เพราะถ้าทำสินค้าทั่วๆ ไปเหมือนที่คนอื่นทำได้ ลูกค้าก็จะไปมองคนอื่น สุดท้ายเมื่อสินค้าเหมือนกันก็หนีไม่พ้นต้องเปรียบเทียบเรื่องราคา ฉะนั้นต้องเอาสิ่งที่เรามี ที่คนอื่นทำแบบเราไมได้ และดีไซน์เป็นของแบรนด์เราเท่านั้น เขาถึงจะให้คุณค่าและมูลค่า จนมองข้ามคำว่า สินค้าจากขยะไปได้อย่างสิ้นเชิง




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง