ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ! PAD.Banana Leaf Product เสกใบตองแห้งไร้ค่าให้เป็นสินค้ารักษ์โลก

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา
 
 
 
 
 
Main Idea
 
 
  • ใบตองแห้ง ดูเหมือนจะเป็นส่วนที่ด้อยค่าที่สุดในต้นกล้วยเมื่อเทียบกับกาบกล้วย ใบตองสด หัวปลี ไปจนถึงผลกล้วย
 
  • แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีนักออกแบบสาวชาวอุตรดิตถ์ได้หยิบเอาวัสดุไร้ค่าอย่างใบตองแห้งมาแปลงโฉมเสียใหม่ ในที่สุดก็กลายเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว
 

 
 
      ‘PAD.Banana Leaf Product’ คือแบรนด์ที่อยากจะชูเสน่ห์ของใบตองให้ชาวโลกได้รับรู้ ก่อตั้งโดย พัชรียา แฟงอ๊อด และ ชนากานต์  มูลเมือง เธอได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นต้นกล้วยในสวน ซึ่งส่วนต่างๆ ของต้นกล้วยถูกนำไปใช้งานได้หมด ยกเว้นแต่ “ใบตองแห้ง”








      “เราหยิบใบตองแห้งมาทำให้มีชีวิตอีกครั้ง โดยจะเพิ่มความคงทน แข็งแรงและพัฒนาออกมาให้กลายเป็นสินค้าใหม่ เป็นของใช้ ของตกแต่งบ้าน เริ่มจากใบตองที่บ้านที่ห้อยลงมา ส่วนที่แห้งจากการตากแดด ถูกแดดเผาจนแห้ง พอเราจับแล้วมันกรอบ แตกหักไป เราก็พยายามที่จะทำให้ใบตองกลายเป็นแมททีเรียลชิ้นหนึ่งที่แข็งแรง เลยทำการทดลอง คิดตัวผสานระหว่างผิวใบตองกับวัสดุที่เป็นผ้าเพื่อให้สามารถตัดเย็บได้ จากนั้นก็ทำเป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์ตอนปี 3 ทีนี้เราอยากรู้ว่าแมททีเรียลของเรามีความแข็งแรงมากแค่ไหน เลยส่งไปประกวดงาน Thailand Green Design Award 2016” พัชรียา เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น PAD.Banana Leaf Product





     ด้วยความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้งานของเธอคว้ารางวัลที่ 2 ในงาน Thailand Green Design Award 2016 มาครอบครองได้สำเร็จ และเมื่อเวลาผ่านไปจนพัชรียาเรียนจบ จึงได้เริ่มต้นแบรนด์อย่างจริงจังร่วมกับชนากานต์


     สำหรับสินค้าของ PAD.Banana Leaf Product ที่สร้างสรรค์จากใบตองแห้ง มีทั้ง สมุด กระเป๋าหลายไซส์ ซองใส่การ์ด ที่ใส่โทรศัพท์ไปจนถึงของแต่งบ้านอย่างหมอนอิง โคมไฟ แจกัน เป็นต้น ซึ่งเสน่ห์ของใบตองแห้งนั้นมีความแตกต่างจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ทั้งเรื่องของกลิ่น ผิวสัมผัสไปจนถึงลวดลายที่ยากจะเลียนแบบ





     “เสน่ห์ของใบตอง มีทั้งเรื่องของสีสันและเทกเจอร์ เพราะกลิ่นของใบตองพอเรานำไปรีดจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว จะมีน้ำมันระเหย กลิ่นจะหอมแบบธรรมชาติเหมือนเราทำขนม ส่วนเฉดสีและลวดลายของใบตองที่เราได้แต่ละใบจะไม่เหมือนกัน นี่คือเสน่ห์ที่ไม่สามารถเอาสารเคมีมาเจือปนได้หรือเราจะตั้งใจให้เหมือนกันไม่ได้เลย” เธอเล่า








     มากกว่าเรื่องของวัสดุจากธรรมชาติที่ทางแบรนด์พยายามผลักดันแล้ว อีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านจนกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน


     “ชุมชนมีส่วนร่วมเรื่องของวัสดุ ซึ่งทางเราจะรับซื้อจากคนในชุมชน แต่ละบ้าน ใครมีใบตองที่แตกต่างกันเราก็จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดปกติ โดยเราจะรับซื้อทั้งใบตองแห้งและใบตองสด เพราะอย่างใบตองสดบางใบที่แตก เขาก็ขายไม่ได้แต่เรารับซื้อ เพราะเราเห็นว่าทุกใบสามารถนำมาทำงานตรงนี้ได้หมด ไม่ต้องคัดใบสวยๆ ใบตองในสวนสามารถขายได้ทุกใบ เป็นการช่วยสร้างรายได้ในชุมชน ทำให้เขาขายได้มีมูลค่ามากขึ้น” เธอพูดถึงการเข้าไปมีบทบาทกับชุมชน








     ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ได้ขยับขึ้นจากเดิมที่ทำสินค้าขายในกลุ่มของใช้ ของฝากสำหรับคนทั่วไป แต่ตอนนี้มีกลุ่มลูกค้าโรงแรม รวมถึงห้างสรรพสินค้าที่เลือก PAD.Banana Leaf Product เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา


     “ตอนนี้เรามีวางจำหน่ายหน้าร้านมากขึ้น เช่น แกลเลอรี่ของโรงแรมบันยันทรี 3 สาขา มีที่ไอคอนสยาม ทำสินค้าให้เป็นของใช้ในโรงแรมรายาเฮอริเทจ เรารู้สึกว่าตอนนี้ทำการตลาดหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นลูกค้าซื้อใช้เองหรือซื้อเป็นของขวัญ เรามองว่าเราประสบความสำเร็จในการใช้วัสดุพอสมควรในแง่ที่ว่าแม้แต่โรงแรมใหญ่ๆ ยังเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ทำให้เราสามารถต่อยอดได้อีกเยอะ”


     ด้วยกระแสรักษ์โลกในปัจจุบันเป็นโอกาสสำคัญสำหรับแบรนด์ที่เลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่าง PAD.Banana Leaf Product เพราะผู้บริโภคยุคนี้พยายามมองหาแบรนด์จากธรรมชาติมากกว่าพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ


     “ตอนที่เราเริ่มคิดจะทำเรื่องวัสดุธรรมชาติ โดยเราได้ศึกษาเทรนด์การเลือกใช้ของแต่งบ้านจากเวทีโลก ในแต่ละปีจะมีการประกาศเทรนด์ เหมือนแฟชั่นเลย ทำให้ได้ลองดูทิศทางก่อนที่จะทำ เรามองเห็นทิศทาง 5 ปีย้อนหลัง จะเริ่มมีการใช้ของเลียนแบบธรรมชาติแต่ยังเป็นพลาสติกอยู่ ถัดมาก็เริ่มเป็นวัสดุธรรมชาติจริงๆ มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันไม่ต้องเลียนแบบธรรมชาติอีกแล้ว แต่มีการใช้ธรรมชาติเข้ามาในการทำสินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการมองว่าตอนนี้ธุรกิจมีการพัฒนามากขึ้น หนีจากปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น การที่คนให้ความสนใจและโฟกัสเรื่องวัสดุธรรมชาติ ทั้งคนคิดค้นและคนที่เปิดใจใช้งาน มองว่าปัญหาต่างๆ จะถูกแก้ไขและพัฒนาขึ้นได้” เธอเล่าในมิติของสิ่งแวดล้อม





     พัชรียาปิดท้ายว่า ในอนาคตอยากที่จะพัฒนาใบตองให้กลายเป็นสินค้าในรูปแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ การทำให้ใบตองกลายเป็นแมททีเรียลแผ่นใหญ่รองรับการใช้งานที่มีความหลากหลายเพื่อขยายขีดจำกัดของวัสดุ เนื่องจากปัจจุบันทางแบรนด์ยังมีการนำใบตองมาใช้งานได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนใบตองที่มีมาก จึงเกิดความไม่สมดุล ทว่า ความเป็นงานคราฟท์ของการผลิตยังคงถูกดำเนินต่อไปเพื่อรักษาหัวใจสำคัญของแบรนด์เอาไว้ 
 

     เพียงใช้พลังความคิดและหัวใจที่รักและห่วงใยโลก จากใบตองแห้งหลังบ้านก็กลายเป็นสินค้าดีไซน์เก๋ที่เพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่าตัว ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 


สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งเมลมาแบ่งปันกับพวกเราได้ที่ sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย