“เกศินี จิรวณิชชากร” ‘ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง’ คือพลังแจ้งเกิดธุรกิจผ้าอนามัยซักได้

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea
 
  • ในบางครั้งความท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง หรือแม้แต่สภาวะซึมเศร้า ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้เราค้นพบโอกาสธุรกิจ และความหวังใหม่ๆ ในชีวิตได้
 
  • ช่วงเวลาที่รู้สึกดาวน์ที่สุด อาจมีสารอะไรบางอย่างที่กำลังสื่อถึงเราอยู่ก็ได้ ว่าเราอาจกำลังลืมสิ่งสำคัญอะไรบางอย่างในชีวิตไป และจุดต่ำสุดนี้เองที่อาจมีแสงสว่างเล็กๆ นำทางเราไปสู่โอกาสใหม่ๆ แม้แต่ไอเดียธุรกิจที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปจากเดิม



     รู้ไหมว่า..ช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพบโอกาสธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้


      เช่นเดียวกับ “เกศินี จิรวณิชชากร” เจ้าของแบรนด์ SUNNY COTTON ที่ได้ไอเดียธุรกิจใหม่ “ผ้าอนามัยซักได้” ในช่วงเวลาย่ำแย่สุดของชีวิต   






     เกศินี เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบทำอะไรหลายๆ อย่าง เธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และชนบท สนใจในงานออกแบบ เคยเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  อยู่หนึ่งปี ก่อนย้ายมาเรียนด้านรัฐศาสตร์ เอกสังคมวิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเคยทำงานด้านซีเอสอาร์ที่บริษัทญี่ปุ่น จากนั้นไปทำนิตยสารสารคดี ตำแหน่งนักเขียน มีช่วงหนึ่งอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ ก็ไปทำงานวาดภาพประกอบ และเคยเขียน Comics Essay เรื่องผ้าอนามัยซักได้กับเขาด้วย
               





     ในช่วงที่สอบชิงทุนไปศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เธอบอกว่าตอนทำวิทยานิพนธ์เธอเลือกวิจัยเรื่องบทบาทผู้หญิงในหมู่บ้านทางอีสาน โดยเลือกพื้นที่นครพนมเป็นกรณีศึกษา ในช่วงนั้นเองเธอเริ่มรู้สึกดาวน์ เหมือนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า เริ่มเขียนธีสิสไม่ออก ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ญี่ปุ่นก็มีแต่คนป่วยภาวะเดียวกันอยู่หลายคนเพราะความกดดันตามประสาสังคมญี่ปุ่น
               





      พอกลับมาไทยก็ยิ่งรู้สึกเบื่อ ท้อแท้กับสถานการณ์บ้านเมือง จนเกิดความคิดว่า สิ่งที่เรียนมาจะตอบโจทย์หรือมีประโยชน์อะไรกับโลกนี้บ้าง งานวิจัยที่ทำจะมีสักกี่คนที่ได้อ่านหรือนำไปใช้ ความรู้สึกที่อัดแน่นมีแต่คำว่า ท้อแท้  หดหู่ สิ้นหวัง เหมือนอยู่ในโลกมืดที่หาทางออกไม่ได้ เมื่อไปพบแพทย์ถึงรู้ตัวว่า เธอเป็น...ซึมเศร้า


     เกศินี เลือกอยู่นิ่งๆ ในความมืด  เธอเริ่มทำความเข้าใจกับตัวเอง และเริ่มค้นหาว่ายังมีอะไรที่สนุกอีกบ้างในโลกนี้ หนึ่งในความชอบของเธอคือการเย็บผ้า ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่นเลยลองเย็บผ้าอนามัยใช้เอง ซึ่งผ้าอนามัยที่ทำจากผ้าเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นใช้กันอยู่แล้ว เธอเริ่มสนุกกับการเลือกลายผ้า และชื่นชมกับผลงานที่สำเร็จ เริ่มยิ้มได้เมื่อพบว่าชีวิตยังมีเรื่องสนุกให้ทำอยู่






      การเย็บผ้าอนามัยไม่ได้เยียวยาแค่อารมณ์ซึมเศร้าเท่านั้น  แต่ยังได้สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ขึ้นด้วย เมื่อเธอต่อยอดมาเป็น แบรนด์ SUNNY COTTON ผ้าอนามัยซักได้ในเวลาต่อมา เกศินี บอกเราว่า สิ่งนี้ตอบโจทย์ผู้หญิงได้มากกว่างานวิจัยที่เธอทำด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนปรารถนา ตอบความสบายของผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ผ้าอนามัย และยังตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย 


      จากที่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรียนจบมาแล้วจะทำอะไรให้บ้านเมือง ให้ประเทศ และให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้บ้าง วันนี้เธอได้คำตอบแล้ว เมื่อได้รับคำขอบคุณจากลูกค้าหลายๆ คน และธุรกิจเล็กๆ ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น พร้อมกับการสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับโลกใบนี้






      สำหรับเธอ ความท้อแท้ ซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือช่วงเวลาตกต่ำที่สุดในชีวิต อาจมีสารอะไรบางอย่างที่กำลังสื่อถึงเราอยู่ก็เป็นได้  ว่าเราอาจหลงลืมสิ่งสำคัญบางอย่างในชีวิตไป ลองค้นหาดู อาจเจอแสงสว่างเล็กๆ ลองเดินตามแสงนั้นไป คุณอาจพบแสงสว่างที่ใหญ่กว่า ที่จะเปลี่ยนชีวิตเราไปจากเดิม เหมือนที่เธอค้นพบมันแล้วในวันนี้
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย