“เชียงคาน” ยังสบายดีไหม? ฟังเสียงสะท้อนจาก 3 ผู้ประกอบการ 3 ธุรกิจ ในวันที่โควิด-19 มาเยือน

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 


 
 
 
Main Idea
 
  • เมื่อโควิด-19 มาเยือน ไม่ว่าที่ใดก็ย่อมได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเป็นหลัก
 
  • “เชียงคาน” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของภาคอีสาน ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ในวันนี้เชียงคานเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการเขาปรับตัวกันแบบไหน เรามีมุมมองจาก 3 ผู้ประกอบการ 3 ธุรกิจชื่อดังของที่นี่มาฝากกัน

___________________________________________________________________________________________
 
 

     บนถนนคนเดินยอดฮิตที่เคยมีนักท่องเที่ยวขวักไขว่เดินผ่านไปมา พ่อค้าลูกชิ้นทอดกำลังเข็นรถเดินเร่ขายจากหัวถนนไปยันท้ายถนน ในบรรยากาศที่ดูเหมือนจะมีเขาเพียงคนเดียวบนถนนสายนี้…



 
“ลองเข็นดูครับ เผื่อจะมีคนเรียกซื้อ ดีกว่าจอดอยู่กับที่”


     นี่คือ ภาพและสิ่งที่เราสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของเชียงคานในช่วงนี้ หลังจากที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมา วันนี้เราจึงมีมุมมองจาก 3 ผู้ประกอบการ 3 ธุรกิจขึ้นชื่อของเชียงคานมาฝากกัน เชียงคานวันนี้เป็นอย่างไร ผู้ประกอบการที่นี่เขาปรับตัวกันอย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน


 
  • สองผัวเมียเกสท์เฮ้าส์ – เป็น อยู่ อย่างเข้าใจ

     เริ่มต้นที่ธุรกิจที่พัก ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด โดยวันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ โชดก พงษ์รพีภูวนาถ เจ้าของ “สองผัวเมีย เกสท์เฮ้าส์” หนึ่งในที่พักไซส์เล็กยอดนิยมของเชียงคานที่ได้รับรางวัลการันตีจาก Thailand Boutique Awards หลายปีซ้อน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่พักยอดเยี่ยมระดับ 4.5 จาก 5 ของเว็บไซต์ Tripadvisor






     “บรรยากาศเชียงคานในตอนนี้เหมือนกับเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ต่างกันที่ตอนนั้นถึงจะไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ยังมีชาวบ้านออกมาเดิน ออกมาปั่นจักรยาน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครออกมากัน” โชดก เล่าบรรยากาศของเชียงคานในวันนี้ให้ฟัง ก่อนจะบอกถึงผลกระทบที่ได้รับต่อว่า 
 

     “จริงๆ มันเริ่มเงียบมาตั้งแต่หลังปีใหม่แล้วนะ ปกติเชียงคานจะมีนักท่องเที่ยวไปจนถึงประมาณสิ้นกุมภาพันธ์ บางปีถึงมีนาคมด้วยซ้ำ ถ้าอากาศยังเย็นอยู่ แต่มาปีนี้พอหลังวันที่ 2 มกราคม คือ นักท่องเที่ยวหายหมดเลย กลางสัปดาห์ห้องพักจะว่าง เต็มเฉพาะศุกร์-เสาร์ ยิ่งหลังจากประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นมานักท่องเที่ยวหายหมดเลย อย่างเมษายนที่จองมาล่วงหน้า ตอนนี้ลูกค้าขอยกเลิกและเลื่อนการเข้าพักออกไปก่อน ถึงยังสามารถเปิดให้บริการได้อยู่ แต่ก็ไม่ต่างจากปิดอยู่ดี เพราะไม่มีคนมา”  เขาเล่า 


     หลังจากได้รับผลกระทบสิ่งที่โชดกเลือกปรับตัว คือการตั้งสติ โดยเริ่มปรับตัวจากการใช้ชีวิตประจำวัน รูปแบบการทำธุรกิจ ไปจนถึงการติดตามข่าวสาร มาตรการความช่วยเหลือต่างๆ


     “ตอนนี้คือเริ่มต้นจากตัวเองก่อน อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด จากแต่ก่อนกินข้าวนอกบ้านมื้อละร้อย แต่ตอนนี้อาจเหลือแค่วันละร้อยกว่าบาท เพราะตอนนี้เราว่างแล้ว เมื่อก่อนอาจจะยุ่งไม่มีเวลาเลยต้องสั่งมากิน ตอนนี้มีหนี้สิ้นอะไร ก็พยายามคุยกับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนชำระทั้งหมด ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง มีมาตรการความช่วยเหลืออะไรออกมา เราก็ไปสมัคร  แม่บ้านตอนนี้ก็ให้พักไปก่อน พอดีเขาไปช่วยสามีทำงานด้วย คิดว่าตอนนี้ทุกคนคงเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นหันหน้ามาคุยกันดีกว่า"




     "ในส่วนของธุรกิจที่พัก เราอาจปรับตัวอะไรมากไม่ได้ แต่โชคดีที่ด้านล่างเราเปิดเป็นร้านกาแฟด้วย ตอนนี้ถึงไม่มีนักท่องเที่ยว ก็พอได้ขายให้คนเชียงคานบ้าง ผู้ประกอบการด้วยกันเอง ลูกค้าหน่วยงานราชการบ้าง แต่อาจมีปรับตัวบ้าง จากเมื่อก่อนให้มาซื้อหน้าร้านเท่านั้น เพราะเราต้องดูแลทั้งลูกค้าที่พักและหน้าร้านไม่มีเวลาไปส่งให้ แต่ตอนนี้ถ้าโทรมาก็ไปส่งให้ได้ ถามว่าพอได้ไหม เป็นบางวันมากกว่า บางวันฟลุกได้ 600-700 ก็มี แต่บางวันขายได้แค่แก้วเดียว 40 บาท หรือไม่ได้เลยก็มี แต่คิดว่ายังไงก็ต้องเปิดร้านไว้ เพราะเราก็อยู่ที่นี่ ไม่เปิดก็ไม่รู้จะทำอะไร อย่างน้อยๆ เปิดบ้านให้แสงแดดเข้าก็ยังดี ให้มีรายได้เข้ามาถึง 40 บาทก็ถือว่าเป็นรายได้” โชดก กล่าวทิ้งท้าย



 
 
  • ระเบียงโขง – ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

     จากธุรกิจที่พักแล้ว มาต่อกันที่ธุรกิจร้านอาหารบ้าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน โดยวันนี้เราได้คุยกับ ภัทวรรณ ทั้งน้อย ทายาทสาวจาก “ร้านระเบียงโขง” ร้านอาหารดั้งเดิมที่เปิดดำเนินการมากว่า 25 ปี จะเรียกว่าเป็นร้านรับแขกของที่นี่เลยก็ว่าได้  




     ภัทวรรณเล่าที่มาของร้านให้ฟังก่อนว่า กิจการสร้างขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของคุณพ่อและคุณแม่ของเธอเอง ซึ่งเป็นคนเชียงคานดั้งเดิม โดยเริ่มต้นมาจากร้านขายอาหารตามสั่งเล็กๆ มาก่อน จนเมื่อเวลาผ่านไปลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น มีรายได้เข้ามามากขึ้น จึงซื้อที่ดินและขยายเปิดเป็นร้านอาหารตามมา ใครมีโอกาสได้แวะผ่านมาเชียงคาน ก็จะแวะมากิน โดยปัจจุบันนอกจากทำร้านอาหารแล้ว ยังลงทุนขยายทำเป็นที่พักริมโขงเพิ่มขึ้นมาด้วย


     ในส่วนของรายได้ในช่วงไฮซีซันที่ผ่านมา ภัทรวรรณเล่าว่า จริงๆ เริ่มมองเห็นผลกระทบมาตั้งแต่เริ่มฤดูไฮซีซันของเชียงคานแล้ว โดยมีลูกค้าน้อยลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา กระทั่งมีการระบาดของโควิด-19 และประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นไปอีก


     “ปกติในหน้าไฮซีซัน สัก 3 ทุ่มครึ่งก็ยังพอมีลูกค้าอยู่ แต่นี่ 2 ทุ่มก็น้อยแล้วหรือแทบจะไม่มีเลย เป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ตุลาคมแล้ว อย่างช่วงปีใหม่ของทุกปี ปกติที่ร้านจะได้พักจริงๆ ลูกค้าหมดก็ช่วงวันที่ 5-6 มกราคม แต่ปีนี้ คือ วันที่ 2 มกราคม ก็ไม่มีลูกแล้ว ยิ่งพอเริ่มเข้าต้นเดือนมีนาคมก็ยิ่งน้อยลง ทั้งลูกค้าร้านอาหารและที่พัก จนมีประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมา คือทุกอย่างหยุดหมด ขนาดทำโปรโมชั่นในเฟซบุ๊ก เอาป้ายมาตั้งหน้าร้านใครสั่งกลับบ้านลด 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ทุกวันนี้คิดกันง่ายๆ ถึงไม่มีคน อย่างน้อยๆ ก็เหมือนเปิดร้านเปิดครัวทำกับข้าวกินกันเองที่บ้าน เพราะจะไปซื้อเขากินก็คงไม่ถูกปาก”




     โดยในส่วนของแผนการตั้งรับนั้น ภัทรวรรณ บอกว่า พยายามทำทุกอย่างที่คิดว่าน่าจะพอทำได้ เช่น การทำโปรโมชั่นพิเศษ การบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้น้อยลง ที่สำคัญ คือ การดูแลลูกน้องพนักงานให้เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้


     “สำหรับเราโชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นร้านของเราเอง ไม่ได้เช่าใคร พ่อครัวก็ไม่ได้จ้าง เพราะพ่อกับแม่ทำกันเองมาตลอด รายจ่ายหลักๆ ของร้าน ก็คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ลูกน้องที่จ้างประจำตอนนี้ก็มีแค่ 3 คน มีลดเงินเดือนบ้าง เพราะรายได้แทบไม่มีเลย แต่เขาก็กินอยู่กับเราได้เลย คิดว่ายังไงถ้ายังไหวก็คงต้องช่วยเขาไว้ก่อน เพราะเราเข้าใจว่าทุกคนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยกันทั้งนั้น


     “ดังนั้นหากจะคิดในแง่ดี ผลกระทบของเราตอนนี้ คือ แค่ขาดรายได้ แต่เราไม่ต้องมีหนี้สินเร่งด่วนเหมือนคนอื่น ถ้ายังพอไหวก็จะตึงแบบนี้ไปก่อน อะไรช่วยกันได้ก็ช่วยกันไปก่อน วัตถุดิบก็สต็อกให้น้อยลงเท่านั้น เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไม่ดี ที่ยังพอมีคนออกมาจับจ่ายบ้าง แต่มันคือ โรคระบาด ใครๆ ก็ได้รับกระทบเหมือนกันหมด ถามว่ากลัวไหม ก็มีบ้าง แต่เราก็รู้ว่าไม่ใช่เป็นแล้วจะต้องเสียชีวิตเลย ยังมีโอกาสรักษาได้ ตอนนี้ คือ พยายามดูแลตัวเองให้ดี เสพข่าวให้น้อย จะได้ไม่เครียดเพิ่มขึ้น” ภัทรวรรณกล่าวฝากไว้


 
  • คิดถึง ณ เชียงคาน – อยู่แบบพอเพียง กลับสู่วิถีดั่งเดิม

     มาถึงธุรกิจสุดท้ายในเชียงคานที่ดูเหมือนว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย คือ ร้านนวดแผนโบราณ ซึ่งหนึ่งในร้านดังขึ้นชื่อที่มาเชียงคานแล้วต้องมาลองนวดให้ได้ คือ “คิดถึง ณ เชียงคาน” หรือที่หลายคนรู้จักกันดี คือ  ยองเส้นไทยเลยของป้าคำก้อย - อุไรรัตน์ ทิพย์รส ซึ่งมีเทคนิคเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การยองเส้นให้แหลว หรือการนวดแบบเหยียบเพื่อให้เส้นคลายตัว หายตึง ว่ากันว่าช่วยออกแรงได้ดีกว่าแค่ใช้มืออย่างเดียว




     โดยป้าก้อยเล่าที่มาของธุรกิจให้ฟังว่าตัวเองเป็นคนเชียงคานโดยกำเนิด เปิดให้บริการร้านนวดมาประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว จากสถานการณ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยตนได้ปิดให้บริการมาตั้งแต่ 20 มีนาคมแล้ว หลังจากรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินออก่มา เพราะอาชีพนวดแผนโบราณถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด เพราะต้องสัมผัสตัวใกล้ชิดกับลูกค้า


     “อาชีพหมอนวด เป็นอาชีพที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคและแพร่เชื้อได้มากกว่าคนอื่น เพราะต้องสัมผัสตัวใกล้ชิดกับลูกค้า ดังนั้นหลังจากรัฐบาลมีคำสั่งประกาศออกมาให้ปิด เราก็ปิดเลย ก่อนหน้านั้นถึงไม่ปิด แต่ก็พยายามดูแลตัวเอง คือ ไม่รับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเลย


     “ถ้าถามถึงผลกระทบ ส่วนตัวมองว่าเป็นอาชีพและธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุนเยอะ จึงอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอื่น เพราะต้นทุนของเรา คือใช้แรงนวดเป็นหลัก และก็มีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแฟ้บซักผ้า ค่ายาหม่องเอาไว้นวดบ้าง เพราะตรงโรงนวดก็ทำในพื้นที่บ้านเราเอง ไม่ได้เช่า หมอนวดที่นี่เราไม่ได้จ้างมา แต่จะใช้การแบ่งเปอร์เซ็นต์ สมมติเขานวดได้ชั่วโมงละ 200 บาท ก็หักไว้เป็นค่าสถานที่ 30 บาทเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปิดกิจการชั่วคราว เราจึงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เพียงแต่ขาดรายได้บ้างเท่านั้น ปกติถ้าเป็นไฮซีซัน (ต.ค. – ก.พ.) วันหนึ่งจะมีคนมานวดประมาณ 30 กว่าคนได้ หมอนวดก็ประมาณ 9 คน พอโลว์ซีชันก็จะเริ่มเงียบลง แต่ยังพอมีคนให้นวดบ้างวันละ 2-3 คน แต่ตอนนี้ คือ เงียบเลย ไม่มีเลย


     “ส่วนหมอนวดถามว่าแล้วเขาไปทำอะไร มีรายได้จากอะไร เราอยู่บ้านนอกไม่อดง่ายๆ หรอก ไปนาหาปูหาปลามากินได้ พืชผักสวนครัวก็มีปลูกไว้ เป็ดไก่เขาก็เลี้ยง ฉะนั้นไม่ลำบากเหมือนอยู่กรุงเทพฯ ที่ต้องซื้อทุกอย่าง จ่ายค่าเช่าบ้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่าโอกาสหาเงินหารายได้ก็น้อยกว่า ปกติถ้าไม่มีโควิดฯ เชียงคานก็เงียบเหมือนกัน”




     โดยในตอนท้ายป้าก้อยได้ฝากข้อคิดให้ทุกคนไว้ว่า


     “ตอนนี้อยากให้ทุกคนมีสติในการดำเนินชีวิต อย่าไปเครียด มีปัญหาอะไรค่อยๆ แก้ไป ในอนาคตถ้าเป็นไปได้อยากให้เตรียมเงินสำรองเอาไว้บ้าง และดูแลตัวเองให้ดี อย่านำตัวเองไปเสี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดเช่นนี้ ถ้าเราปลอดภัย คนอื่นก็ปลอดภัยด้วย ลูกหลานเรา ไปจนถึงสังคม ตอนนี้อาจต้องยอมเจ็บตัว ขาดรายได้กันไปบ้าง แต่ถ้าสังคมเดินหน้าต่อไปได้ ชีวิตเราก็ไปต่อได้”  
 

     และนี่คือ สถานการณ์และเสียงสะท้อนจากเมืองเล็กๆ อย่างเชียงคานในวันที่โควิด-19 มาเยือน ซึ่งจะว่าไปทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ก็คือ การไม่ยอมแพ้ ต้องพยายามเอาตัวเองให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ทั้งจากความเป็นอยู่และโรคระบาดที่เกิดขึ้นนั่นเอง
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น