เตรียมรับมือเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เราจะรอดไปด้วยกัน



Main Idea
 
 
  • KKP Research ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจาก -2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นลงลึกถึง –6.8 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้
 
  • สถานการณ์นี้จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานเป็นวงกว้าง โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ภาคการค้า และการขนส่ง โดยจะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว ธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ก่อสร้าง และบริการอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงเช่นเดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือ

___________________________________________________________________________________________
 
 
 
     ดูท่าจะพ่นพิษหนักขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีความรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม บวกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ สถานการณ์เช่นนี้จะกระทบเศรษฐกิจไทยในปีนี้หนักหน่วงแค่ไหน และธุรกิจใดจะได้รับผลกระทบบ้าง ในมิติใด ไปติดตามกัน


 
 
  • ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ติดลบ 6.8 เปอร์เซ็นต์

     เป็นการคาดการณ์ที่สาหัสสากรรจ์ไม่น้อย เมื่อล่าสุด KKP Research ได้ออกมาปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจลงอีกครั้งจาก -2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นลงลึกถึง –6.8 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงขึ้น และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ 


     โดยพัฒนาการสำคัญที่ส่งผลให้ต้องมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ลงในครั้งนี้ มาจากการที่... 


     1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ทำให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America ล่าสุดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลงอย่างหนัก โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะติดลบถึง 6 เปอร์เซ็นต์ สหภาพยุโรปติดลบที่ 7.6 เปอร์เซ็นต์ และเศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้เพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7 เปอร์เซ็นต์ จากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 0.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2009 




     2. มาตรการปิดเมืองและระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ที่เข้มข้นขึ้น โดยรัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ มีการประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง รวมถึงล่าสุดมีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากกว่าที่เคยประเมินไว้


     3. การประกาศปิดการเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกาศปิดเมืองในหลายจังหวัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดข้ามจังหวัด จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีกจากที่เคยคาดไว้ในการประเมินครั้งก่อน


 
  • โรงแรม-ร้านอาหาร-การค้า-ขนส่ง อ่วมหนัก! เสี่ยงว่างงานเป็นวงกว้าง

     KKP Research  รายงานต่อว่า เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 นี้ จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ภาคการค้า และภาคการขนส่ง มีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว 


     นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงด้วยเช่นกัน  โดย KKP Research คาดว่าอาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 13 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี


 
  • มาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยธุรกิจไทยฟื้นวิกฤต

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการด้านโยบายการคลังและการเงินออกมาเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ KKP Research มองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในสามด้านใหญ่ คือ


     1.ทบทวนและจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วนให้กับงานด้านสาธารณสุขเพื่อสร้างความสามารถในการตรวจสอบความเชื่อมโยง คัดแยก และรักษาผู้ติดเชื้อ และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


     2.มีมาตรการทางการคลังระยะสั้นเพื่อเยียวยา และลดภาระของผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับแรงงานในระยะต่อไป


     3.จัดเตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เช่น เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผลักดันสภาพคล่องในระบบการเงินช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้


     สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์ COVID-19 นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะพิสูจน์ความเข้มแข็งของตัวเอง ขอให้ประคับประคองธุรกิจ และรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าภายหลังพายุสงบ SME ไทยจะกลับมาเป็นหน่วยธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม ในการรับมือกับปัญหาที่ใหญ่กว่าในอนาคต เราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน